กรณีศึกษา เอสโตเนีย ทำอย่างไร ให้ประเทศพัฒนา

กรณีศึกษา เอสโตเนีย ทำอย่างไร ให้ประเทศพัฒนา

7 ส.ค. 2020
กรณีศึกษา เอสโตเนีย ทำอย่างไร ให้ประเทศพัฒนา /โดย ลงทุนแมน
ปี 1993
เอสโตเนียมีรายได้ต่อหัวประชากร 84,080 บาท
ไทยมีรายได้ต่อหัวประชากร 69,252 บาท
ปี 2019
เอสโตเนียมีรายได้ต่อหัวประชากร 741,741 บาท
ไทยมีรายได้ต่อหัวประชากร 244,781 บาท
20 กว่าปีผ่านไป จากที่รายได้ต่อหัวประชากรใกล้เคียงกับไทย
ตอนนี้คนเอสโตเนียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่าคนไทยถึง 3 เท่า
อะไรคือเคล็ดลับของเอสโตเนีย
ที่ทำให้คนในประเทศมั่งคั่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
ทำให้ สหภาพโซเวียต ผู้นำแห่งระบอบคอมมิวนิสต์ของโลกล่มสลายลง และแตกออกเป็น 15 ประเทศ
หนึ่งในประเทศที่แยกออกมา คือ “เอสโตเนีย”
หลายคนคงกำลังสงสัยว่า เอสโตเนีย อยู่ตรงไหนของแผนที่โลก
เอสโตเนีย อยู่ในทวีปยุโรปทางตอนเหนือ
ทิศตะวันออกติดกับประเทศรัสเซีย
ทิศใต้ติดกับประเทศลัตเวีย
ทิศตะวันตกติดทะเลบอลติก
ทิศเหนือติดอ่าวฟินแลนด์
เอสโตเนีย แยกตัวออกมาเป็นอิสระ ในปี 1991
หลังจากเป็นดินแดนภายใต้สหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1940
และเปลี่ยนจากการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์
มาเป็นระบอบประชาธิปไตยระบบสภา
หลังจากมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลเป็นของตัวเองแล้ว
ในปี 1992 รัฐบาลเอสโตเนียก็เดินหน้าปฏิรูปประเทศโดยไม่รอช้า
เริ่มจากการเปิดเสรีทางการค้า และแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน
เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ก่อให้เกิดการพัฒนาขององค์กรและเทคโนโลยี
แต่ก็มีบางส่วนยังคงอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐ
เช่น ธุรกิจพลังงาน และท่าเรือ
เอสโตเนียใช้การเก็บภาษีแบบ Flat-rate หรือ อัตราภาษีแบบคงที่
โดยปัจจุบัน คนในเอสโตเนียจะถูกเก็บภาษีเงินได้ในอัตรา 20% เหมือนกันทุกคน
ซึ่งภาษีที่ได้บางส่วนถูกนำมาเป็นสวัสดิการให้คนในประเทศ
อย่างเช่น เดินทางฟรีด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของประเทศนี้คือ
เอสโตเนีย เข้าสู่ยุคดิจิทัล ตั้งแต่ก่อนปี 2000 เสียอีก..
ตั้งแต่ปี 1996 รัฐบาลเอสโตเนียสมัยนั้น
ได้บัญญัติให้ทักษะเรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัลอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และผลักดันให้ทุกคนในประเทศเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตตั้งแต่นั้นมา
หลังจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ
ปี 1997 รัฐบาลเอสโตเนียแปรสภาพเป็น e-Government
ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางภาครัฐได้ด้วยอินเทอร์เน็ตถึง 99%
ปี 2000 เริ่มใช้ e-Tax ระบบยื่นภาษีออนไลน์ใช้เวลาเพียง 3-5 นาที
ซึ่งประชาชนใช้บริการผ่านระบบนี้ถึง 95%
ปี 2002 เริ่มใช้ Digital ID ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล
เพื่อให้การเข้าถึงบริการภาครัฐทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
ปี 2005 เริ่มใช้ e-Voting ระบบลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออนไลน์
ปี 2008 เริ่มนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้
เพื่อรักษาความปลอดภัย และเพิ่มความโปร่งใสของข้อมูลบนโลกออนไลน์
ปี 2014 เริ่มใช้ e-Residency คือเปิดให้พลเมืองทั่วโลก
สามารถเข้าถึงบริการของรัฐบาลเอสโตเนียด้วยสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองเอสโตเนีย
ปี 2019 วางแผนเตรียมนำ AI มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งในการทำงานของภาครัฐ และภาคเอกชนในประเทศ
นอกจากการเปลี่ยนเป็นประเทศดิจิทัลแล้ว
ประชาชนในประเทศยังได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง
ข้อมูลจาก World Bank ปี 2018 อัตราการรู้หนังสือ (Literacy Rate) หรือ สัดส่วนของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่อ่านออกเขียนได้เทียบกับประชากรทั้งหมด
เอสโตเนีย 98.9%
ค่าเฉลี่ยของทั้งโลก 86.3%
ไทย 93.8%
เอสโตเนียยังได้รับการจัดอันดับจากงาน World Economic Forum
ให้เป็นประเทศที่เหมาะกับการตั้งต้นธุรกิจ เป็นอันดับ 1 ของยุโรป ในปี 2017
และได้รับการจัดอันดับจาก Freedom House ให้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพในโลกอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 2 ของโลก ในปี 2019 เป็นรองเพียงประเทศไอซ์แลนด์
ทั้งหมดที่ว่ามาทำให้ในช่วงเกือบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา
เศรษฐกิจของเอสโตเนียเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบัน เอสโตเนีย มีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน
มีรายได้ประชาชาติ (GDP) ในปี 2019 ประมาณ 964,000 ล้านบาท
คิดเป็นรายได้ต่อหัวประมาณ 741,741 บาท
เมื่อนำไปเทียบกับประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียต
เอสโตเนีย รายได้ต่อหัวประชากร 741,741 บาท
ลิทัวเนีย รายได้ต่อหัวประชากร 609,914 บาท
ลัตเวีย รายได้ต่อหัวประชากร 559,159 บาท
รัสเซีย รายได้ต่อหัวประชากร 363,190 บาท
ถึงแม้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอสโตเนียมีประชากรไม่มาก
ทำให้ขยับตัวทำอะไรไม่ยุ่งยาก
แต่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น
ถ้าขาดการวางนโยบายด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ
ทั้งด้านสวัสดิการทางสังคม การศึกษา
และสำคัญสุด คือ การใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนประเทศ
เรื่องนี้ก็คงเป็นกรณีศึกษาที่ดีอย่างหนึ่ง
ที่ทำให้เห็นว่า เทคโนโลยี คือส่วนสำคัญที่ทำให้เอสโตเนียพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว
มองย้อนมาที่ประเทศไทยในตอนนี้
เทคโนโลยีรอบตัวเราทุกวันนี้พัฒนาไปไกลกว่าแต่ก่อนมาก
คำถามสำคัญตอนนี้อยู่ที่ว่า
จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้อย่างไร
ให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากที่สุด..
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ..
รู้หรือไม่ว่า Skype โปรแกรมวิดีโอแช็ตชื่อดัง
ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2003 โดยทีมโปรแกรมเมอร์ชาวเอสโตเนีย
ก่อนจะถูกขายให้กับ eBay และปัจจุบันเจ้าของ Skype คือ Microsoft..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://data.worldbank.org
-https://www.britannica.com/place/Estonia/Independence-lost
-https://e-estonia.com/
-https://www.heritage.org/index/
-https://hr.tcdc.or.th/en/Articles/Detail/Estonia-CEA-Forum-2019
-https://www.weforum.org/agenda/2017/03/europes-most-entrepreneurial-country/
-https://freedomhouse.org/sites/default/files/2019-11/11042019_Report_FH_FOTN_2019_final_Public_Download.pdf
-https://www.skype.com/en/about/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.