หนี้เสียจากการทุจริต หนี้เสียที่สำคัญสุด ในระบบเศรษฐกิจไทย

หนี้เสียจากการทุจริต หนี้เสียที่สำคัญสุด ในระบบเศรษฐกิจไทย

11 ก.ย. 2020
หนี้เสียจากการทุจริต หนี้เสียที่สำคัญสุด ในระบบเศรษฐกิจไทย /โดย ลงทุนแมน
หลายคนสงสัยว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง
ไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่ชัด แต่ถ้าเราเปรียบเทียบช่วงนี้กับช่วงเดือนเมษายน
ก็จะบอกว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
ตามการผ่อนคลายการล็อกดาวน์
เมื่อไปดูการคาดการณ์ตัวเลข ภาคการผลิต การส่งออก และการบริโภคเอกชน
หลายสำนักบอกว่า ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะเริ่มติดลบน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการระบาดรอบใหม่
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าต่อจากนี้
สิ่งที่หลายคนกังวลก็คือ “หนี้เสีย” ที่จะเกิดขึ้นในสถาบันการเงินต่างๆ
แต่นอกจากหนี้เสียที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสถาบันการเงินแล้ว
ยังมีหนี้เสียจากการทุจริต ที่น่ากลัวกว่านั้น..
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงินต่างๆ
จนถึงกลุ่ม นอนแบงก์ ด้วยการออกมาตรการดูแลลูกหนี้
ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 7.20 ล้านล้านบาท
โดยมี 12.52 ล้านบัญชีที่อยู่ในมาตรการนี้ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ค.63)
ต้องบอกว่าเป็นตัวเลขมหาศาล
จนทำให้เกิดความกังวลในเรื่อง Bank Run ที่ผู้คนจะถอนเงินฝากออกจากธนาคาร
เพราะกลัวว่าธนาคารจะล้มเพราะมีหนี้เสียเกินจะแบกรับ
แต่เมื่อดูจากตัวเลขข้อเท็จจริง กลับเป็นตรงกันข้าม
เพราะธนาคารต่างๆ กลับมีเงินฝากเพิ่มขึ้น
และสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่รองรับสถานการณ์นี้ได้
โดยมีการประเมินว่าในปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 7 แห่ง จะมีกำไรรวมกันประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
แน่นอนว่าตัวเลขนี้จะลดลงจากปีที่แล้ว
แต่มันไม่ได้ถึงขั้นขาดทุนเละเทะแบบที่หลายคนคิดไว้ตอนแรก
อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่ท้าทายต่อไปของธนาคารก็คือ
ธนาคารต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้ จะดำเนินการกับลูกหนี้ที่เป็นปัญหาอย่างไร
เพราะถ้าดำเนินการได้ถูกวิธี ธนาคารก็จะนำเงินที่ได้รับคืน มาปล่อยสินเชื่อให้คนอื่นได้ต่อ
ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนต่อไปได้
วิธีการที่จะเกิดขึ้นก็คือ
การปรับโครงสร้างหนี้ การฟื้นฟูกิจการ
ซึ่งเมื่อทำสำเร็จ ผลลัพธ์ทางอ้อม ก็จะเกิดการจ้างงาน จ่ายภาษีให้รัฐ และรัฐก็มีเงินมาทำโครงการภาครัฐต่างๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม มันจะมีบางหนี้เสียที่บริษัทอาจไม่มีทางฟื้นฟู หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้เลย
เพราะหนี้เสียนั้นเกิดมาจากการทุจริต
การทุจริตเหล่านี้มักเกิดจาก การปล่อยสินเชื่อในโครงการขนาดใหญ่
ซึ่งที่ผ่านมา มักจะทำให้เกิดหนี้เสียมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งในแง่การกันสำรองหนี้เสียของหลายธนาคาร และทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียเงินไปกับโครงการที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆ ให้กับประชาชน
โดยส่วนใหญ่แล้ว หนี้เสียนี้เกิดจากการทุจริตของผู้บริหารระดับสูงของบริษัท
ซึ่งมาจากการปกปิดข้อมูลธุรกรรม และการดำเนินงาน ปลอมแปลงเอกสารเพื่อนำไปขอสินเชื่อ
จนถึงการผ่องถ่ายโยกย้ายทรัพย์สิน สร้างหนี้เทียมเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ
ที่น่าสนใจคือ หลายคดีทุจริตที่สิ้นสุดไปแล้ว แต่การชดเชยความเสียหายก็ไม่ได้เพียงพอต่อผู้ได้รับความเสียหาย
ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า
สิ่งที่ภาครัฐต้องกังวล และเฝ้าระวัง
อาจไม่ใช่แค่ “หนี้เสียทั่วไป” จากลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากโควิด-19
แต่ควรเพิ่มกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้นในธุรกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ
ไม่ให้เกิดช่องโหว่จนเป็นฐานทัพขนาดใหญ่
สร้าง “หนี้เสียจากการทุจริต” ให้เกิดขึ้นมามากมาย
เพราะ เชื้อไวรัสโคโรนา ที่ว่าร้ายกาจ
แม้มันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรง
แต่บางทีมันอาจยังไม่เท่าความเสียหายจาก เชื้อทุจริต
ซึ่งมันอาจแพร่เชื้อ ส่งผลกระทบลากยาวไปถึงคนรุ่นหลัง
แบบไม่มีวัคซีนตัวไหน มาป้องกันได้..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.