“เวียนนา” ทำอย่างไร? ให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก 10 ปีซ้อน

“เวียนนา” ทำอย่างไร? ให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก 10 ปีซ้อน

7 ต.ค. 2020
“เวียนนา” ทำอย่างไร? ให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก 10 ปีซ้อน / โดย ลงทุนแมน
จากการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ของบริษัทที่ปรึกษา Mercer จากทั้งหมด 231 เมืองทั่วโลก
กรุงเวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ครองตำแหน่งเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก
ในปี 2019 และครองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2010
เท่ากับว่า เมืองที่มีประชากร 2 ล้านคนแห่งนี้ เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกมาเป็นเวลา 10 ปีซ้อน..
นอกจากบริษัทที่ปรึกษาด้านบริหารทรัพยากรบุคคลอย่าง Mercer แล้ว
สถาบันอย่าง The Economist ก็ได้มอบตำแหน่งเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกให้กับเวียนนาในปี 2019 ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ทำให้เวียนนาเป็นเมือง “น่าอยู่” คืออะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
พบกับ หนังสือ ลงทุนแมน 13.0 ที่อัดแน่นไปด้วยกรณีศึกษาและมุมมองธุรกิจที่น่าสนใจ
พร้อมให้คุณเป็นเจ้าของแล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
ก่อนอื่นมารู้จักประวัติของเวียนนากันสักนิด
กรุงเวียนนา หรือชื่อภาษาเยอรมันว่า “Wien” ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศออสเตรีย
มีแม่น้ำดานูบไหลผ่านกลางเมือง
กรุงเวียนนาเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์ฮับส์บวร์กมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16
ในศตวรรษที่ 18 ก็ขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางการปกครองที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของยุโรป
มีพระราชวังเชินบรุนน์ที่งามสง่า มีถนนหนทางโอ่อ่า อาคารประดับประดาสวยงาม
เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมโดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก ได้รับฉายาว่า “นครหลวงแห่งการดนตรี”
คีตกวีชื่อดังระดับโลกทั้ง โยฮันน์ ชเตราสส์, โมซาร์ท, เบทโฮเฟิน
ล้วนมีช่วงชีวิตรุ่งโรจน์อยู่ในเมืองแห่งนี้
เวียนนายังคงเป็นศูนย์กลางต่อเนื่องถึงจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เวลานั้นตรงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป
เวียนนาก็ไม่ต่างกับเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งของยุโรป มีการสร้างโรงงานมากมาย ดึงดูดแรงงานจากชนบทให้เข้ามาอยู่ในเมือง ประชากรของเวียนนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมากกว่า 1 ล้านคน
ในช่วงทศวรรษ 1880s
ท้ายที่สุดก็นำมาสู่ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย..
นอกถนนวงแหวนที่ล้อมเขตเมืองเก่าที่สวยงาม เต็มไปด้วยอาคารที่อยู่อาศัยที่เสื่อมโทรม
ผู้คนแออัดยัดเยียด หลายแห่งไม่มีห้องน้ำ ยังไม่นับรวมผู้คนอีกมากมายที่อาศัยอยู่ในบ้านทั้งหมดส่งผลให้สุขอนามัยของชาวเวียนนาอยู่ในขั้นวิกฤติ เกิดการระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะ “วัณโรค”
ปัญหาดูจะย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1918 พร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ผู้อพยพจากดินแดนอื่นๆ ของจักรวรรดิต่างหลั่งไหลมาอยู่กรุงเวียนนา และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือ Great Depression ที่ทำให้ผู้คนว่างงาน
แต่ช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด ก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทำให้วิถีชีวิตผู้คนดีขึ้น
หลังจักรวรรดิล่มสลาย ออสเตรียกลายเป็นสาธารณรัฐ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
โดยเริ่มให้สิทธิเลือกตั้งกับทุกคนรวมถึงผู้หญิง ไม่จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงผู้ชายอีกต่อไป
พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ขึ้นมาเป็นเทศมนตรีแห่งกรุงเวียนนาในช่วงปี ค.ศ. 1918 - ค.ศ. 1934 และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองก็เริ่มได้รับการพัฒนาขึ้นทีละน้อย
อย่างแรกก็คือ การแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย..
คุณ Karl Seitz นายกเทศมนตรีแห่งกรุงเวียนนาระหว่างปี ค.ศ. 1923 - ค.ศ. 1934
เป็นผู้ผลักดันโครงการที่อยู่อาศัยที่เมืองเป็นผู้สนับสนุนค่าเช่า
โดยเมืองจะทำหน้าที่เป็นผู้สร้าง และเก็บค่าเช่าจากผู้คนในราคาถูก
คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของค่าครองชีพ
แต่เนื่องจากเมืองก็ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย จึงจำเป็นต้องหารายได้ด้วยการปฏิรูปภาษี
โดยเริ่มการปฏิรูปในปี ค.ศ. 1922 ด้วยการปรับขึ้นภาษีต่างๆ โดยเฉพาะภาษีที่ดิน และภาษีที่อยู่อาศัยสำหรับเอกชน
เมื่อเมืองมีรายได้มากขึ้น สวนทางกับภาคเอกชน ที่ไม่มีใครอยากซื้อที่ดินมาทำโครงการบ้าน เพราะทำไปก็ไม่คุ้ม ผลที่ได้ เมืองสามารถซื้อที่ดินว่างเปล่ามาเพื่อสร้างอะพาร์ตเมนต์สำหรับประชาชน ซึ่งถูกเรียกว่า “Gemeindebau”
แต่ Gemeindebau ก็ไม่ใช่อะพาร์ตเมนต์ที่สร้างแบบหยาบๆ มีการออกแบบให้มีพื้นที่สีเขียวควบคู่ไปด้วย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งศูนย์ดูแลเด็ก ห้องสมุด โรงยิม ร้านค้าสหกรณ์ สนามเด็กเล่น ซึ่งกลายเป็นชุมชนให้ผู้คนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ท้ายที่สุด เมืองก็กลายมาเป็นผู้ครอบครองที่ดินมากที่สุดในเวียนนา โดยมีการสร้างอะพาร์ตเมนต์แบบ Gemeindebau กว่า 60,000 แห่งทั่วเมือง โดยอะพาร์ตเมนต์ที่ใหญ่ที่สุด คือ Karl Marx-Hof ซึ่งมีความยาวถึง 1.1 กิโลเมตร
เมื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของเมืองได้รับการแก้ไข ผู้คนมากมายสามารถมีที่อยู่โดยใช้เงินเพียงเล็กน้อย ปัญหาต่างๆ จึงเริ่มบรรเทาลง ทั้งปัญหาสุขอนามัย และอาชญากรรม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ออสเตรียได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหรัฐอเมริกาในแผนการ Marshall ทำให้รัฐบาลมีเงินมาซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เสียหายจากสงคราม และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยสร้างอะพาร์ตเมนต์แบบใหม่ที่สะดวกสบายมากขึ้นอีก และปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อระบบรถราง (Tram) และรถไฟใต้ดินของเวียนนาที่สร้างมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19
เริ่มเก่าและเสื่อมสภาพลง จึงมีการปรับปรุงและขยายเส้นทางให้ครอบคลุมทั่วเมือง ในช่วงทศวรรษ 1970s เกิดเป็น Vienna U-Bahn ระบบรถไฟในเมือง
และ Vienna S-Bahn ระบบรถไฟชานเมือง เชื่อมระหว่างใจกลางเมือง กับเขตเมืองรอบๆ
ในปัจจุบัน เวียนนาและเขตปริมณฑล มีระบบรถไฟทั้ง U-Bahn และ S-Bahn
รวมกันเป็นระยะทางมากกว่า 700 กิโลเมตร และระบบรถรางเป็นระยะทางกว่า 170 กิโลเมตร
โดยค่าตั๋วเดินทางแบบรายปี มีราคาเพียง 365 ยูโร สามารถใช้กับระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองได้ทุกประเภททั้งรถไฟ รถราง และรถเมล์ ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะเป็นค่าใช้จ่ายวันละ 1 ยูโร หรือ 40 บาทต่อวัน
เมื่อเทียบกับ GDP ต่อหัวของชาวเวียนนาในปี 2019 ที่ 44,000 ยูโร
ค่าเดินทางจะมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้ด้วยซ้ำ..
ปัจจุบันเวียนนาจึงมีระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมในราคาที่เอื้อมถึง มีพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และที่สำคัญ ประชาชนมี “บ้าน” ที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และมีค่าเช่าที่ไม่แพง
ปัจจุบันมีชาวเวียนนากว่า 60% อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ Gemeindebau ที่มีการออกแบบทันสมัยมากขึ้น มีการนำนวัตกรรมด้านประหยัดพลังงานมาใช้พัฒนาให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นไปอีก
โดยตัวแปรในการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ของ Mercer ประกอบไปด้วย
ความมั่นคงทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก สุขอนามัย อาชญากรรม การศึกษา
ระบบขนส่งมวลชน พื้นที่สาธารณะ และที่อยู่อาศัย
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ คงได้คำตอบแล้วว่า
อะไรที่ทำให้เวียนนา “น่าอยู่” จนได้รับตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกมาครอบครอง..
สำหรับกรุงเทพมหานคร จากการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ของ Mercer อยู่ในอันดับที่ 133 จากทั้งหมด 231 เมืองทั่วโลก
ทุกคนรู้ว่ากรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเป็นอันดับ 1 ของโลก
เป็นเมือง “น่าเที่ยว” ที่มีสถานที่สวยงามมากมาย มีอาหารอร่อย มีบริการที่ครบครันในราคาไม่แพง
แต่สำหรับความ “น่าอยู่” แล้ว
สิ่งรอบตัวคนกรุงเทพฯ เช่น ระบบขนส่งมวลชน การจราจร พื้นที่สีเขียว และทางเท้า คงจะเป็นตัวอย่างแบบง่ายๆ ว่าทำไม กรุงเทพฯ ถึงเป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 133 ของโลก..
----------------------
พบกับ หนังสือ ลงทุนแมน 13.0 ที่อัดแน่นไปด้วยกรณีศึกษาและมุมมองธุรกิจที่น่าสนใจ
พร้อมให้คุณเป็นเจ้าของแล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.