Thailand Dilemma ทางเลือกที่กระอักกระอ่วน ของประเทศไทย

Thailand Dilemma ทางเลือกที่กระอักกระอ่วน ของประเทศไทย

11 ต.ค. 2020
Thailand Dilemma ทางเลือกที่กระอักกระอ่วน ของประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
ประเทศไทย ควรจะเปิดประเทศได้หรือยัง?
เราควรจะเลือกทางไหน ระหว่างเปิดประเทศเพื่อฟื้นการท่องเที่ยว
หรือปิดต่อไป เพื่อไม่ให้ทั้งประเทศต้องโดนล็อกดาวน์อีกครั้ง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศยังไปต่อได้ ถึงแม้ว่าจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังมีกิจกรรมภายในประเทศอยู่
แต่ถ้ามีเฉพาะในประเทศ แล้วแรงงานทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร?
คำถามนี้ ทำให้เกิดภาวะ “Dilemma”
หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า กระอักกระอ่วน
คือไม่ว่าเราจะเลือกตอบแบบไหน ก็ลำบากใจไม่แพ้กัน
แล้วเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
การระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี
ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องปิดประตูให้กับชาวต่างชาติ
เพื่อป้องกันการนำเข้าโรคระบาดจากต่างประเทศ
รวมถึงประเทศไทย ที่ปิดไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามา ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม
พอเป็นแบบนี้ก็หมายความว่า
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เคยเดินทางเข้ามาในไทย ก็หายไปจนเกือบหมด
ซึ่งการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลกระทบกับรายได้ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เน้นให้บริการชาวต่างชาติ
ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมและที่พัก, ร้านอาหาร, สายการบิน, โรงพยาบาลที่เน้นให้บริการชาวต่างชาติ
ซึ่งจากสถิติรายได้ภาคการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2019 ประเทศไทย มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท
เมื่อเทียบกับ GDP ประเทศไทยที่ประมาณ 15.9 ล้านล้านบาท
รายได้ส่วนนี้ จะคิดเป็นประมาณ 12% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์
สถานการณ์ต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยมา
จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศค่อยๆ ลดลง จนแทบไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่แบบ Local Transmission หรือติดต่อกันเองภายในประเทศ
ทำให้จากเดิมที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์
ก็ค่อยๆ ผ่อนคลายจนทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบจะเหมือนปกติ
ผู้ประกอบการบางอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวกลับมา เช่น กลุ่มค้าปลีก
คนเริ่มมีความมั่นใจที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่สามารถขับรถ
ไปได้ เช่น พัทยา และ หัวหิน
แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ
ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา ก็ยังมีบางกลุ่มที่แย่ลง หรือยังฟื้นตัวกลับมาได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น
ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก และธุรกิจรถให้เช่า ในจังหวัดที่เคยมีนักท่องเที่ยงต่างชาติเดินทางไปจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น จังหวัดภูเก็ต
สายการบิน ที่ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ธุรกิจโรงพยาบาลที่เน้นให้บริการชาวต่างชาติ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่มีรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติมากถึง 66%
และมีอีกหลายกลุ่มที่กำลังได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ ที่ยังไม่ได้พูดถึง
แล้วถ้าเลือกอีกทาง คือ เปิดประเทศให้ชาวต่างชาติกลับเข้ามา มันจะเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่า ถ้าชาวต่างชาติกลับมาได้เหมือนเดิม
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่กำลังได้รับผลกระทบตามที่ว่ามา ก็จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้
แต่เรื่องนี้ ก็จะตามมาด้วยความเสี่ยงในการเกิดการระบาดของ COVID-19 รอบสอง ในไทย
และถ้าการระบาดกลับมารุนแรงมากๆ
ก็อาจต้องปิดเมือง ปิดประเทศ ทำการล็อกดาวน์เหมือนก่อนหน้านี้กันอีกครั้ง
ซึ่งก็ต้องประเมินกันให้ดี ว่าถ้าการระบาดรอบสองเกิดขึ้น
เราพร้อม หรือเราอยากจะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนตอนช่วงล็อกดาวน์อีกครั้งหรือไม่?
ซึ่งตรงนี้ มีอีกประเด็นที่น่าสนใจ
นั่นคือ “มุมมอง” ต่อความอันตรายของโรคนี้
คือถ้าเราไปดูตัวอย่างของบางประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ที่การระบาดยังคงรุนแรง
จะเห็นว่า คนจำนวนมาก รวมถึงผู้นำประเทศ อย่าง ดอนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้กลัวการระบาดของโรคนี้สักเท่าไร และยังมองว่า COVID-19 เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาประเภทหนึ่ง
นอกจากนั้น คนอเมริกันบางส่วนยังมีมุมมองว่า การปิดเมือง ล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้คนขาดรายได้จากการทำงาน เป็นเรื่องที่น่ากลัวยิ่งกว่าออกไปเจอ COVID-19
แต่สำหรับ “มุมมองของคนไทย” ต่างจากประเทศทางตะวันตกอย่างชัดเจน
มันก็คงเปรียบเหมือนเวลาเราใส่รองเท้าสีขาว
คนที่รองเท้าเลอะไปแล้ว ก็ไม่ได้กังวลมากว่ารองเท้าจะเลอะเพิ่มหรือไม่ เขากล้าใส่รองเท้าไปลุยตามที่ต่างๆ
แต่สำหรับคนที่เคยรองเท้าเลอะนิดหน่อยและเช็ดออกแล้ว แบบประเทศไทย ก็คงไม่อยากที่จะใส่รองเท้าไปลุยข้างนอกเหมือนกับคนกลุ่มแรก
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมองว่า รองเท้าไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใส่อยู่บ้าน
มีหลายธุรกิจที่กระทบหนัก จนอยากกลับมาใส่รองเท้าอีกครั้ง
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเลือกเปิดประเทศ หรือปิดประเทศ
ไม่ว่าเลือกแบบไหน ก็มีต้นทุนที่ต้องเสียทั้งนั้น
ถ้าเลือกเปิดประเทศ ก็ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา แต่เสี่ยงเกิดการระบาดรอบสอง
แต่ถ้าเลือกปิดต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศยังไปต่อได้ ก็ต้องยอมรับว่า หลายกิจการ อาจต้องปิดตัวไปเพราะทนรอชาวต่างชาติต่อไปไม่ไหว
สุดท้ายแล้วคำถามนี้ ก็คงตอบได้ลำบาก
ว่าเลือกแบบไหนดีกว่ากัน และแบบไหนถูก แบบไหนผิด
เพราะนอกจากเรื่องผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจแล้ว
การจะเลือกตอบคำถามนี้อย่างไร
ยังขึ้นอยู่กับว่า ใครมี “มุมมอง” แบบไหน? ต่อโรคระบาดในครั้งนี้ด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ ก็คือ ความกระอักกระอ่วน
ที่เป็น “Dilemma” ของไทยในตอนนี้ นั่นเอง..
----------------------
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-สถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ปี 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.