รู้จัก TACC ผู้ผลิตเครื่องดื่มให้กับ All Café ในเซเว่น

รู้จัก TACC ผู้ผลิตเครื่องดื่มให้กับ All Café ในเซเว่น

15 ต.ค. 2020
รู้จัก TACC ผู้ผลิตเครื่องดื่มให้กับ All Café ในเซเว่น /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า เครื่องดื่มที่ขายใน ร้านกาแฟ All Café ในเครือซีพีออลล์ ที่มีจำนวนสาขาทั้งหมดกว่า 6,600 สาขาทั่วประเทศนั้นมาจากบริษัทที่ชื่อว่า บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือมีชื่อย่อว่า TACC
บริษัทนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีมูลค่าบริษัทมากถึง 4,000 ล้านบาท
โดยมีรายได้หลักมาจากบริษัทเดียวนั่นก็คือ ซีพีออลล์..
เรื่องราวของบริษัทนี้เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
TACC นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยเริ่มมาจากการจำหน่ายเครื่องดื่มในโถกด หรือที่เรียกว่า Drink Dispenser ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
ธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจหลักของบริษัท มาตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา
จนเริ่มต่อยอดมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น
และแน่นอนว่าลูกค้าคนสำคัญของ TACC ก็คือ ซีพีออลล์ นั่นเอง
ถึงแม้ว่าจะมีคู่ค้าเป็นซีพีออลล์เป็นหลัก
แต่ TACC ก็ยังมีลูกค้าประเภทอื่นด้วย
โดยลูกค้าของ TACC นั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทร่วมพัฒนากับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งซีพีออลล์จะอยู่ในกลุ่มนี้
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ขายให้กับลูกค้ารายย่อยอื่นๆ
แล้ว TACC ขายอะไรให้ซีพีออลล์บ้าง?
เรามาดูผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแรกกัน
ตัวผลิตภัณฑ์หลักที่ทาง TACC ผลิตให้กับซีพีออลล์ ก็คือ ผงสำเร็จรูปพร้อมชง ที่ทำให้กับทั้งทาง All Café และเซเว่นอีเลฟเว่น
ถ้าเราเคยซื้อเครื่องดื่มใน All Café เช่น ชานม ชาเขียวนมมัทฉะ ชามะนาว โยเกิร์ตผลไม้ปั่น ทั้งหมดนี้จะชงจากผงสำเร็จรูปของ TACC
สำหรับเครื่องดื่มโซนตู้กด จะถือเป็นรายได้หลักของบริษัท โดยใช้ผงสำเร็จรูปของ TACC เช่นกัน และขายในปริมาณที่มากกว่า โดยมีหลายรสชาติคือ กาแฟเอสเพรสโซ่ กาแฟลาเต้ ชาเย็น ช็อกโกแลตเฮอร์ชี่
นอกจากนี้ก็จะมีเครื่องชงร้อนอัตโนมัติที่จำหน่ายในเซเว่นอีกด้วย
พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้ ทิศทางการเติบโตของ TACC นั้น จะเป็นไปในทางเดียวกันกับการเติบโตของเซเว่นอีเลฟเว่น

ปัจจุบัน เซเว่นอีเลฟเว่น มีสาขาทั้งหมด 12,089 หมด สาขา
แต่ทุกสาขาของเซเว่น ไม่ได้มี All Café
โดย All Café มีทั้งหมด 6,600 สาขา
ซึ่งสาขาของ All Café เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2559 ที่มีเพียง 3,500 สาขา
แล้วรายได้ของ TACC เป็นอย่างไร?

เรามาดูรายได้ ของ TACC ช่วง 3 ปีที่ผ่านมากัน
ปี 2560 รายได้ 1,289 ล้านบาท กำไร 112 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,296 ล้านบาท กำไร 68 ล้านบาท (กำไรที่ลดลงมาจากมาตรการการเก็บภาษีน้ำตาล)
ปี 2562 รายได้ 1,530 ล้านบาท กำไร 162 ล้านบาท
โดยนับตั้งแต่ปี 2560 รายได้บริษัทนั้นเติบโตขึ้น 19%
แล้ว TACC มีรายได้จากซีพีออลล์ มากขนาดไหน?
ปี 2561 บริษัทมีรายได้จากซีพีออลล์ 1,143 ล้านบาท จากรายได้ทั้งหมด 1,296 ล้านบาท
ปี 2562 บริษัทมีรายได้จากซีพีออลล์ 1,359 ล้านบาท จากรายได้ทั้งหมด 1,530 ล้านบาท
ซึ่งรายได้จากซีพีออลล์คิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละปี
แสดงให้เห็นว่าบริษัทพึ่งพารายได้จากซีพีออลล์เป็นส่วนใหญ่เลยทีเดียว
ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยในการทำธุรกิจ
แต่ทาง TACC ก็พยายามแก้ไขตรงนี้อยู่เช่นกัน
โดยบริษัทได้ออก กลุ่มสินค้ากลุ่มที่สอง (ธุรกิจแบบ B2C) ซึ่งเป็นสินค้าที่บริษัทผลิตภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง
โดยบริษัทมี ชาเขียว ตรา Zenya, เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง ตรา “ณ อรุณ” และ ตรา “สวัสดี”
ตามมาด้วยสินค้าภายใต้ตราของบริษัทที่จำหน่ายให้ร้านอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟมวลชน, Jungle Café, Arabitia Café, CP Fresh Mart และ Black Canyon
และสุดท้ายคือ ธุรกิจคาแรกเตอร์
ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า TACC นั้นยังเป็นตัวแทน ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนชื่อดังจากญี่ปุ่นที่ชื่อว่า
“ริลักกูมะ” อีกด้วย โดยทาง TACC ได้สิทธิ์จากบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่น ให้เป็น Licensee ในทั้งหมด 7 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา พม่า ลาว และ เวียดนาม
โดยมีการ์ตูนในเครืออย่างเช่น Rilakkuma (ริลักกูมะ), Sumikkogurashi, Sentimental Circus, Kamonohashikamo, Mamegoma
นอกจากนี้ TACC ยังเป็นตัวแทน ตัวการ์ตูนไทยอื่นๆ อีกเช่น หมาจ๋า และ ART STORY
ซึ่งถึงแม้ว่าทั้งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนรายได้อยู่ไม่ถึง 10% แต่บริษัทก็มีเป้าหมายที่จะทำให้สัดส่วนรายได้นั้นอยู่ที่ 70:30 ในอนาคตเลยทีเดียว
และมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว TACC นั้นถือเป็นบริษัทลูกในเครือซีพีออลล์หรือไม่
คำตอบคือ ปัจจุบัน TACC นั้นไม่ได้เป็นบริษัทในเครือซีพี โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายชัชชวี วัฒนสุข (ประธานบริษัท) ถือในสัดส่วน 24.77% ตามมาด้วย บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ) 11.07% และ นายทนุธรรม เกียรติไพบูลย์ 10.17%
จากเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า
ถึง TACC จะมีความเสี่ยงที่ทุกคนมองเห็นคือ การมีลูกค้าหลักเพียงรายเดียว
แต่ในเรื่องนี้ก็มีข้อดีที่เกิดขึ้น คือโอกาสในการเติบโตไปพร้อมกับอีกฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายนั้นเป็นถึงเจ้าของเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศไทย
ถ้าวันนั้นเจ้าของ TACC มัวแต่กลัวเรื่องความเสี่ยงนี้ แล้วไม่ดำเนินธุรกิจต่อ
เราก็อาจจะไม่ได้เห็น TACC ที่มีมูลค่าบริษัท 4,000 ล้านบาท ในวันนี้..
----------------------
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-http://www.tacconsumer.com/download_iv63.php?l=th&i=6
-http://www.tacconsumer.com/about_us.php
-Settrade
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2562 บริษัท ซีพีออลล์
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.