ดีทรอยต์ จากเมืองแห่งยานยนต์ สู่เมืองแห่งล้มละลาย

ดีทรอยต์ จากเมืองแห่งยานยนต์ สู่เมืองแห่งล้มละลาย

19 ต.ค. 2020
ดีทรอยต์ จากเมืองแห่งยานยนต์ สู่เมืองแห่งล้มละลาย /โดย ลงทุนแมน
Ford Motor, General Motors และ Chrysler
3 บริษัทนี้ ในอดีตเคยถูกขนานนามว่า Big 3 แห่งวงการรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา
และรู้ไหมว่า ทั้ง 3 ชื่อนี้ มีจุดเริ่มต้นในเมืองเดียวกัน ที่ชื่อว่า “ดีทรอยต์”
ดีทรอยต์ เคยเจริญรุ่งเรือง เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของรถยนต์แบรนด์ดังมากมาย จนได้ฉายาว่า เมืองแห่งยานยนต์ (The Motor City)
แต่ ดีทรอยต์ ในวันนี้ กลับถูกเรียกว่า เมืองแห่งการล้มละลาย
เกิดอะไรขึ้นกับเมืองแห่งนี้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
ดีทรอยต์ เป็นเมืองที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกา
ในปี 2019 ดีทรอยต์ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 670,031 คน หรือประมาณ 7% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในรัฐมิชิแกน
ถ้าพูดถึงเมืองดีทรอยต์ สิ่งแรกที่คนอเมริกันและคนทั่วโลกจะนึกถึง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์
หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายบริษัท ก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันที่นี่
ในปี 1903 Henry Ford ก่อตั้งบริษัท Ford Motor หลังจากที่เขาสามารถพัฒนารถยนต์สี่ล้อคันแรกได้สำเร็จ
และ Ford Motor ยังเป็นบริษัทแรกที่ผลิตรถยนต์ได้แบบ Mass Production ซึ่งทำให้สามารถขายรถยนต์ได้ในราคาถูก จนทำให้คนในสหรัฐฯ และทั่วโลกเริ่มหันมาใช้รถยนต์เดินทางบนท้องถนนแทนการนั่งรถม้า
ในปี 1908 William Durant อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทขนส่งด้วยรถม้าก็ได้ก่อตั้งบริษัท General Motors หรือ GM เจ้าของรถยนต์แบรนด์ดัง เช่น Chevrolet
ในปี 1925 Walter Chrysler อดีตพนักงานด้านรางรถไฟ ก็ได้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ Chrysler ซึ่งปัจจุบัน Chrysler เป็นบริษัทลูกของ Fiat Chrysler Automobiles บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอิตาลี-อเมริกัน ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก
ช่วงต้นทศวรรษที่ 20 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว ชนชั้นกลางเริ่มมีรายได้มากขึ้น ขณะที่รถยนต์ของบริษัทอเมริกันทั้ง 3 ที่ผลิตออกมาเริ่มมีราคาถูกลงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงก่อนปี 1950
ในขณะที่ Ford, GM และ Chrysler ก็มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถูกขนานนามว่า Big 3 แห่งวงการรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา
พอเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจของเมืองดีทรอยต์ ที่เป็นที่ตั้งของทั้ง 3 บริษัท ก็ขยายตัวตามไปด้วย และเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดประชากรให้หลั่งไหลเข้ามาที่เมืองแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง
ปี 1900 ประชากรในเมืองดีทรอยต์เท่ากับ 285,704 คน
ปี 1950 ประชากรในเมืองดีทรอยต์เท่ากับ 1,849,568 คน
แต่ใครจะไปคิดว่า ดีทรอยต์ ที่กำลังรุ่งเรืองในตอนนั้น กำลังจะเจอกับพายุที่โหมเข้าใส่อย่างไม่หยุดยั้ง..
พายุลูกแรก คือ วิกฤติการณ์น้ำมันในปี 1973
เมื่อกลุ่ม OPEC ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลง
ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 4 เท่า จาก 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลไปสู่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน
เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อย่างมาก
เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูง ทำให้ต้นทุนในการจะขับรถยนต์ออกนอกบ้านแต่ละครั้งเพิ่มสูงขึ้นมาก จนส่งผลต่อยอดขายรถยนต์
และในแง่การผลิตรถยนต์ที่มีน้ำมันเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต
พอราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย
พายุลูกที่สอง คือ การเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นมา หลังจากฟื้นตัวจากการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1945 ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมเด่นของญี่ปุ่น ก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์
ไม่นาน ประสิทธิภาพของรถยนต์ญี่ปุ่นก็พัฒนาขึ้นมาเทียบเท่ารถยนต์แบรนด์อเมริกัน
ที่สำคัญคือ ต้นทุนในการผลิตโดยเฉพาะค่าแรงในญี่ปุ่น ถูกกว่าในสหรัฐอเมริกามาก
เรื่องนี้จึงทำให้รถยนต์จากญี่ปุ่นมีราคาถูกกว่า และสามารถเข้ามาตีตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ
พายุสองลูกที่โหมเข้าใส่ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของดีทรอยต์ ค่อยๆ ตกต่ำนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ผลกระทบของเรื่องนี้ รุนแรงถึงขนาดทำให้บริษัท Chrysler หนึ่งใน 3 ยักษ์ใหญ่บริษัทรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาเกือบล้มละลายในช่วงปลายทศวรรษ 1970
ส่วนบริษัท Ford Motor และบริษัท General Motors ก็มีสถานะการเงินที่สั่นคลอนในช่วงเวลาดังกล่าว
หลายบริษัทยานยนต์ทั้งเล็กและใหญ่เริ่มไล่พนักงานออกและปรับลดค่าแรง
บางรายย้ายฐานการผลิตออกจากดีทรอยต์ไปยังเมืองอื่นหรือประเทศอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เพื่อให้สามารถแข่งขันภายในอุตสาหกรรมได้
แรงงานในเมืองดีทรอยต์จำนวนไม่น้อยต้องตกงาน ไม่มีรายได้ จนต้องย้ายออกไปหางานที่เมืองอื่น
ประชากรในเมืองดีทรอยต์ในปี 2019 เหลือเพียง 670,031 คน หรือหายไปเกือบ 3 เท่าจากจุดสูงสุดในปี 1950
ประชากรที่ลดลง เศรษฐกิจภายในเมืองที่ตกต่ำ และการที่หลายบริษัทย้ายฐานการผลิตออกไป เรื่องทั้งหมดนี้ตามมาด้วยปัญหาคือ รัฐบาลท้องถิ่นของดีทรอยต์เริ่มเก็บภาษีได้น้อยลง
เมื่อเก็บภาษีภายในรัฐได้น้อยลง รัฐบาลท้องถิ่นก็เริ่มขาดงบประมาณที่จะนำไปใช้บริหารงาน จ่ายสวัสดิการ และเงินเกษียณอายุให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ ยังทำให้จำนวนตำรวจในเมืองลดลงเพราะไม่มีงบประมาณจ่ายเงินเดือนให้ตำรวจ
จนเป็นสาเหตุให้อัตราการเกิดอาชญากรรมของเมืองดีทรอยต์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกลายเป็นเมืองที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ
บทสรุปของเรื่องนี้ คือ ในปี 2013 รัฐบาลท้องถิ่นของดีทรอยต์ต้องยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อขอความคุ้มครองการล้มละลาย หลังจากที่รัฐบาลท้องถิ่นของดีทรอยต์มีหนี้สินล้นพ้นตัวกว่า 600,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการล้มละลายของรัฐบาลท้องถิ่น ที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่า ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของบางสิ่ง อาจไม่ได้คงอยู่ตลอดไป
ดังนั้น ถ้าวันนี้เรากำลังอยู่บนความสำเร็จ ก็อย่าได้ชะล่าใจ
เหมือนอย่างกรณีของ ดีทรอยต์
จากเมืองที่เคยรุ่งเรืองเป็นอาณาจักรแห่งรถยนต์
แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเมืองล้มละลาย ไปเสียแล้ว..
----------------------
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.