รถไฟ ชิงกันเซ็ง กำลังเจ็บตัว ในช่วง COVID-19 ระบาด

รถไฟ ชิงกันเซ็ง กำลังเจ็บตัว ในช่วง COVID-19 ระบาด

22 ต.ค. 2020
รถไฟ ชิงกันเซ็ง กำลังเจ็บตัว ในช่วง COVID-19 ระบาด /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงการเดินทางในประเทศญี่ปุ่น
สิ่งแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้นรถไฟความเร็วสูง ที่ชื่อว่า “รถไฟชิงกันเซ็ง”
หลายปีที่ผ่านมา รถไฟความเร็วสูงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมต่อเมืองต่างๆ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ให้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก
แต่ทว่าปัจจุบัน การระบาดของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจขนส่งมวลชนต้องประสบปัญหา เพราะผู้คนพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดร่วมกับผู้อื่น
ซึ่งแน่นอนว่า รถไฟชิงกันเซ็ง ก็คือหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
แล้วสถานการณ์ของ รถไฟชิงกันเซ็ง เป็นอย่างไรบ้างในช่วงที่เกิดโรคระบาด?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ญี่ปุ่นทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศขึ้นมาใหม่
จนกระทั่งปี 1964 กรุงโตเกียวได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ซึ่งญี่ปุ่นจึงใช้โอกาสนี้ แสดงให้โลกเห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของตนเอง
หนึ่งในนวัตกรรมที่ญี่ปุ่นได้แสดงให้ทั้งโลกได้เห็นในตอนนั้น คือ รถไฟความเร็วสูงชิงกันเซ็ง (Shinkansen)
จุดเด่นของรถไฟชิงกันเซ็ง คือความเร็วของรถไฟ ที่ถูกพัฒนาให้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ตลอดเวลา โดยปัจจุบัน มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนั้น ชิงกันเซ็ง ยังมีชื่อเสียงในเรื่องมาตรฐานของการบริการที่มีความสะดวกสบายและปลอดภัย อีกทั้งสามารถเดินขบวนรถไฟได้ตรงต่อเวลา
เดิมทีแล้ว ชิงกันเซ็ง อยู่ภายใต้การบริหารของการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น
แต่ในปี 1987 การรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น เกิดปัญหาภาระหนี้สินจำนวนมาก จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องมีคำสั่งแยกทรัพย์สินธุรกิจรถไฟออกเป็นบริษัทย่อยหลายๆ แห่ง และผลักดันให้แปรรูปเป็นกิจการเอกชน
ซึ่งผู้ที่ได้สิทธิ์บริหารรถไฟชิงกันเซ็งหลังจากตอนนั้นมา ประกอบไปด้วย 5 บริษัท ซึ่งแบ่งตามภูมิภาค ได้แก่
Central Japan Railway Co. (JR Central)
East Japan Railway Co. (JR East)
West Japan Railway Co. (JR West)
Kyushu Railway Co. (JR Kyushu)
Hokkaido Railway Co. (JR Hokkaido)
กลุ่มบริษัท JR ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างมั่นคง เพราะนอกจากธุรกิจรถไฟแล้ว บริษัทยังได้ประโยชน์จากการให้ผู้ประกอบการอื่นเช่าพื้นที่รอบสถานี ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า หรือโรงแรม
อีกทั้งการลงทุนโครงสร้างทางรถไฟ ก็ได้รับเงินทุนสนับสนุนบางส่วนจากหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นด้วย
ลองมาดูผลประกอบการในปี 2019 ของ 4 บริษัท ที่เป็นผู้บริหารรถไฟชิงกันเซ็ง ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (บริษัทมีรอบบัญชีระหว่าง เมษายน 2019 - มีนาคม 2020)
JR Central รายได้ 530,000 ล้านบาท กำไร 115,000 ล้านบาท
JR East รายได้ 850,000 ล้านบาท กำไร 58,000 ล้านบาท
JR West รายได้ 437,000 ล้านบาท กำไร 26,000 ล้านบาท
JR Kyushu รายได้ 125,000 ล้านบาท กำไร 9,100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเดินทางของรถไฟชิงกันเซ็งในปีนี้ กลับต้องเจอความท้าทายครั้งสำคัญ
นั่นคือ เหตุการณ์ระบาดของ COVID-19
เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2020 ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อสะสมราว 90,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,600 ราย
ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลายนัก ทำให้ประชาชนในประเทศหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีคนแออัด
ขณะที่การยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากภายนอก ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมด
ปี 2019 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาญี่ปุ่น 31.8 ล้านราย
ปี 2020 ในช่วง 8 เดือนแรก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาญี่ปุ่นเพียง 3.9 ล้านราย
โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาญี่ปุ่น เฉลี่ยแค่ 3,900 รายต่อเดือน ซึ่งลดลงถึง 99.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟชิงกันเซ็ง ลดลงตามไปด้วย
ถึงขนาดที่บางบริษัทออกมาประเมินว่าผลการดำเนินงานทั้งปีนี้ของชิงกันเซ็ง จะตกต่ำสุดนับตั้งแต่แปรรูปเป็นเอกชนมา 33 ปี
JR East คาดการณ์รายได้ ลดลง 34% และขาดทุน 121,000 ล้านบาท
JR West คาดการณ์รายได้ ลดลง 39% และขาดทุน 70,000 ล้านบาท
JR Kyushu คาดการณ์รายได้ ลดลง 32% และขาดทุน 8,200 ล้านบาท
ถึงแม้บริษัทต่างๆ ที่บริหารรถไฟชิงกันเซ็งจะลดราคาค่าตั๋วโดยสารลงกว่า 50% เพื่อกระตุ้นการใช้บริการ และพยายามหารายได้จากช่องทางอื่นมาทดแทน เช่น การเปิดให้บริการขนส่งสินค้าระยะทางไกลแทนผู้โดยสาร
แต่รายได้ที่ทำได้ในช่วงนี้ ก็ไม่มากพอจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้
เนื่องจากต้นทุนในการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มสูงขึ้น
จากการบำรุงรักษาอุปกรณ์และทำความสะอาดที่บ่อยขึ้น
รวมถึงการจัดตารางเดินรถไฟให้ถี่ขึ้นเพื่อรองรับมาตรการ Social Distancing ไม่ให้ผู้โดยสารในขบวนแออัดจนเกินไป
ซึ่งมาตรฐานการให้บริการในระดับดังกล่าว
อาจกลายเป็น New Normal หลังโรคระบาดจบลงด้วย
เรื่องที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มบริษัท JR ออกมาอย่างหนัก ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
JR Central มูลค่าบริษัทปัจจุบัน 850,000 ล้านบาทลดลง 32% เทียบกับต้นปี
JR East มูลค่าบริษัทปัจจุบัน 695,000 ล้านบาท ลดลง 36% เทียบกับต้นปี
JR West มูลค่าบริษัทปัจจุบัน 280,000 ล้านบาท ลดลง 47% เทียบกับต้นปี
JR Kyushu มูลค่าบริษัทปัจจุบัน 102,000 ล้านบาท ลดลง 39% เทียบกับต้นปี
พออ่านเรื่องมาถึงตรงนี้คงจะเห็นว่า
รถไฟชิงกันเซ็ง ที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพและความต่อเนื่องของการบริการ
กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบาก
เพราะแม้ว่าผู้โดยสารจะหายไปจากเดิมอย่างมาก
แต่บริษัทก็ยังคงเปิดให้บริการ ด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น
ซึ่งการทำแบบนี้ แม้จะทำให้บริษัทขาดทุนในทุกเที่ยวของการเดินรถ แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาความเชื่อมั่น และชื่อเสียงที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนานเอาไว้
ซึ่งถ้าทุกอย่างกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้วก็เชื่อว่าการยอมเจ็บตัวชั่วคราวในครั้งนี้ จะช่วยให้ธุรกิจรถไฟชิงกันเซ็ง ได้รับความเชื่อใจจากผู้ใช้บริการ จากการที่สามารถรักษาชื่อเสียงในเรื่องของคุณภาพเอาไว้ได้
แต่คำถามสำคัญตอนนี้คือ
วิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อไร
และ ชิงกันเซ็ง ต้องเจ็บตัวแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?
----------------------
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-10-04/japan-struggles-to-fill-bullet-trains-running-with-empty-seats
-https://www.bloomberg.com/news/features/2020-10-07/can-japan-s-bullet-trains-get-back-up-to-speed
-https://en.wikipedia.org/wiki/Japan_Railways_Group
-https://en.wikipedia.org/wiki/COVID-19_pandemic_in_Japan
-https://www.tourism.jp/en/tourism-database/stats/
-https://www.jreast.co.jp/e/investor/pdf/2021_01q_business_presentation.pdf
-https://www.westjr.co.jp/global/en/ir/news/2021/pdf/en_20200916_01.pdf
-https://www.jrkyushu.co.jp/company/ir_eng/news/__icsFiles/afieldfile/2020/09/24/9142.FY2020.supplementary_material_en_2.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.