ใครคือเจ้าของ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า

ใครคือเจ้าของ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า

30 ต.ค. 2020
ใครคือเจ้าของ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า / โดย ลงทุนแมน
“ศูนย์กลางอุปกรณ์ไอทีและคอมพิวเตอร์แห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย”
คือ คำจำกัดความของห้างที่มีชื่อว่า พันธุ์ทิพย์พลาซ่า
รู้ไหมว่า ห้างพันธุ์ทิพย์ ไม่ได้ชื่อว่า พันธุ์ทิพย์ มาตั้งแต่แรก
แล้วความเป็นมาของ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า เป็นมาอย่างไร
และใครคือเจ้าของศูนย์การค้าแห่งนี้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
พันธุ์ทิพย์พลาซ่า เปิดให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527
แต่เดิมห้างนี้มีชื่อว่า “ห้างสรรพสินค้าเอ็กซ์เซล”
ซึ่งสาขาแรกตั้งอยู่บนถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี
หรือก็คือ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” ในปัจจุบัน
ภายหลังห้างสรรพสินค้าเอ็กซ์เซล เปลี่ยนชื่อเป็น พันธุ์ทิพย์พลาซ่า
และเป็นห้างที่ได้รับการพูดถึงมากในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นห้างแรกๆ ที่มีการนำลิฟต์แก้วมาใช้ รวมทั้งยังมีการนำระบบการอ่านและตรวจสอบราคาสินค้าด้วย Bar Code มาใช้เป็นที่แรกๆ ในประเทศไทย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจห้างสรรพสินค้าในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จำนวนห้างสรรพสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้จำนวนลูกค้าที่มาเดินในพันธุ์ทิพย์พลาซ่าเริ่มลดน้อยลงกว่าในช่วงแรก
พันธุ์ทิพย์พลาซ่า จึงแก้เกมด้วยการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนภายในห้าง ให้เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่น ศูนย์เช่าพระเครื่อง และร้านจำหน่ายสินค้ามือสอง
และต่อมาเมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเริ่มเฟื่องฟู พื้นที่บางส่วนในพันธุ์ทิพย์พลาซ่าก็ถูกแบ่งให้แก่สำนักงานโครงการคอนโดมิเนียมต่างๆ เข้ามาเช่าจำนวนมาก
ในช่วงปี พ.ศ. 2541 เป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไอที เติบโตอย่างรวดเร็วในไทย
ในสมัยนั้นราคาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำเร็จรูปจะค่อนข้างแพง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาหาเครื่องคอมพิวเตอร์แบบประกอบที่มีราคาถูกลงมา
พันธุ์ทิพย์พลาซ่าเห็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในตอนนั้น จึงปรับรูปแบบให้เป็นศูนย์รวมร้านค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นแหล่งแรกๆ ที่เป็นศูนย์รวมสินค้าไอทีที่ใหญ่มากในประเทศ
จึงทำให้ในช่วงหลังจากนั้น พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ถูกจดจำในฐานะแหล่งรวมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไอทีตลอดมา
และนอกจากสินค้าไอทีและคอมพิวเตอร์ ห้างแห่งนี้ยังถือเป็นแหล่งขาย “ซีดีเพลงละเมิดลิขสิทธิ์” ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถือว่าเติบโตมากในช่วงนั้นเช่นกัน
ความโด่งดังของพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ถึงขนาดทำให้ คุณเสก โลโซ นักร้องนำวงโลโซ แต่งเพลงและร้องเพลงที่ชื่อว่า พันธ์ทิพย์ ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2544 เลยทีเดียว
ปัจจุบัน พันธุ์ทิพย์พลาซ่ามีสาขาทั้งหมด 4 แห่ง คือในกรุงเทพฯ 2 แห่ง (ประตูน้ำและบางกะปิ) นนทบุรี 1 แห่ง และเชียงใหม่อีก 1 แห่ง
แล้วใครคือเจ้าของ ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า แห่งนี้?
คำตอบคือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจบริการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
โดยแอสเสท เวิรด์ รีเทล เป็นบริษัทลูกของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นบริษัทในเครือ ที.ซี.ซี. ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี
ผลประกอบการของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 2,763 ล้านบาท กำไร 150 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 2,412 ล้านบาท กำไร 333 ล้านบาท
แอสเสท เวิรด์ รีเทล ไม่ได้บริหารแต่เพียงพันธุ์ทิพย์พลาซ่าเท่านั้น
แต่ยังมีแบรนด์ศูนย์การค้าชื่อดังที่อยู่ภายใต้การบริหารอีก เช่น ตะวันนา บางกะปิ, ศูนย์การค้าเกตเวย์, เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, โอ.พี. เพลส เจริญกรุง, ลาซาล อเวนิว, เซ็นเตอร์พอยท์ สยามสแควร์
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของพันธุ์ทิพย์พลาซ่าในวันนี้มีมากกว่าในอดีตพอสมควร ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าทุกวันนี้ลูกค้ามีทางเลือกและช่องทางในการสั่งซื้อสินค้าไอทีและคอมพิวเตอร์มากขึ้น
โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของธุรกิจ E-Commerce ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงร้านค้า
ความท้าทายนี้ ทำให้พันธุ์ทิพย์พลาซ่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง
นั่นก็คือ เปลี่ยนมาเป็นศูนย์ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “AEC Trade Center” ซึ่งวางตัวเองเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าหลากหลาย เช่น เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้าแฟชั่น, สินค้าตกแต่งบ้าน และของเล่น
ท่ามกลางยุคที่อีคอมเมิร์ซโตระเบิดในทุกวันนี้
ปฏิเสธได้ยากว่า ธุรกิจศูนย์การค้า ซึ่งรวมถึงพันธุ์ทิพย์พลาซ่ากำลังเจอความท้าทายครั้งใหญ่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจศูนย์การค้าบนโลกจริงก็ยังพอมีจุดแข็งอยู่บ้าง
นั่นก็คือการมีสถานที่ให้ได้มาพบปะกัน มีบรรยากาศที่แตกต่างจากการอยู่ที่บ้าน
และมีสินค้าให้ผู้ซื้อได้มาเห็นของจริง ได้จับ ได้ลอง ในแบบที่การซื้อของออนไลน์ทำไม่ได้
ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์สำคัญ ที่ต้องรอดูกันต่อไปว่า พันธุ์ทิพย์พลาซ่า จะพัฒนาศูนย์การค้าได้ตอบโจทย์คนยุคปัจจุบันหรือไม่..
╔═══════════╗
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2562, บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)
-https://thesmartlocal.com/thailand/bangkok-new-wholesale-mall/
-https://www.hotels.com/go/thailand/pantip-plaza-bangkok
-https://th.wikipedia.org/wiki/พันธุ์ทิพย์พลาซ่า
-https://th.wikipedia.org/wiki/แอสเสท_เวิรด์_คอร์ป
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.