Amazon กับ Microsoft กำลังแข่งขันกันที่ “นอกโลก”

Amazon กับ Microsoft กำลังแข่งขันกันที่ “นอกโลก”

11 พ.ย. 2020
Amazon กับ Microsoft กำลังแข่งขันกันที่ “นอกโลก” /โดย ลงทุนแมน
Amazon และ Microsoft สองบริษัทเทคโนโลยีนี้ มีมูลค่ารวมกันถึง “100 ล้านล้านบาท”
แม้จะไม่ได้เป็นคู่แข่งกันตรงๆ แต่ทั้งสองบริษัท มีธุรกิจหนึ่งที่ทั้งคู่ทำเหมือนกัน
นั่นก็คือ ธุรกิจคลาวด์
รู้ไหมว่าในตอนนี้ บริการคลาวด์ ของทั้งคู่
ไม่ได้แข่งกันแค่บนโลกของเราเท่านั้น
แต่ยังออกไปแข่งกันไกลถึง “นอกโลก”
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Amazon เป็นเจ้าของแบรนด์ Amazon Web Services หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า AWS
Microsoft เป็นเจ้าของแบรนด์ Microsoft Azure
รู้ไหมว่า ปัจจุบัน 2 เจ้านี้ ครองส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจคลาวด์ทั่วโลกเกิน 50%
AWS ครองตลาดประมาณ 33% ส่วน Azure ครองตลาดประมาณ 18%
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า คลาวด์ คืออะไร?
คลาวด์ คือ การประมวลผล และการจัดเก็บข้อมูลที่ทำงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยลูกค้าที่ใช้บริการไม่จำเป็นต้องซื้อทรัพย์สินอะไร เพียงแค่จ่ายเงินกับผู้ให้บริการ ก็สามารถใช้การประมวลผล และการจัดเก็บข้อมูลนั้นได้
ซึ่งการที่ไม่ต้องซื้อทรัพย์สิน ก็เปรียบเสมือนใช้บริการที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ และเป็นเหตุผลที่เรียกว่า คลาวด์ ที่แปลว่าก้อนเมฆนั่นเอง..
แล้ว บริการคลาวด์ ดีอย่างไร?
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ สมัยก่อนองค์กรต่างๆ อาจต้องมีการลงทุนซื้อหรือพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทำงาน พื้นที่ และระบบจัดเก็บข้อมูลด้วยตนเอง
เช่น ถ้าบริษัท A มีข้อมูลจำนวนมากที่ต้องเก็บ ก็จะต้องลงทุนสร้างห้องเก็บข้อมูลหรือที่เรียกว่า Data Center ด้วยตัวเอง ซึ่งต้องใช้เงินทุนสูง
แต่ในทุกวันนี้ บริษัท A ไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้าง Data Center เพื่อเก็บข้อมูลเองอีกแล้ว
เพราะสามารถนำเงินไปเช่าพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล จากผู้ให้บริการอย่างเช่น AWS หรือ Azure แล้วส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อไปเก็บในพื้นที่นั้น ซึ่งนี้ก็คือตัวอย่างบริการคลาวด์รูปแบบหนึ่งนั่นเอง
ด้วยเทรนด์ของการทำธุรกิจในปัจจุบัน กำลังเคลื่อนเข้าสู่โลกออนไลน์กันมากขึ้นทุกที ก็เลยทำให้ความต้องการใช้บริการคลาวด์ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของการให้บริการคลาวด์ทั้งโลก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 18% และมีมูลค่าตลาดทั้งหมดในปี 2019 ถึง 3.5 ล้านล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ การระบาดของ COVID-19
ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ความต้องการใช้บริการคลาวด์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
ถ้าลองมาดูอัตราการเติบโตของรายได้จากบริการ Cloud ของทั้งสองบริษัท ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
Amazon Web Services รายได้เติบโต 30.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
Microsoft Azure รายได้เติบโต 31.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของความต้องการใช้บริการคลาวด์ ยิ่งทำให้ทั้ง Amazon และ Microsoft แข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้มาครองให้ได้มากที่สุด
จนการแข่งขัน “บนโลกใบนี้”
ดูเหมือนจะไม่เพียงพอแล้วสำหรับสองบริษัทนี้..
ปี 2018 Amazon ร่วมมือกับ Lockheed Martin บริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตอาวุธและเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและดาวเทียม ก่อตั้ง “AWS Ground Station”
โดย AWS Ground Station คือสถานีภาคพื้น ที่มาช่วยซัปพอร์ตการทำงานระบบคลาวด์ของ AWS ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยการอาศัย “ดาวเทียม” เป็นตัว รับ-ส่งสัญญาณ กับสถานี
ซึ่งเทคโนโลยีนี้ ช่วยให้บริการคลาวด์ของ AWS ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกมากขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ส่วนทาง Microsoft ก็ไม่น้อยหน้า
เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Microsoft ได้ประกาศความร่วมมือกับ “SpaceX” บริษัทสำรวจและขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์ ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ เพื่อก่อตั้ง “Azure Space”
โดย Azure Space เป็นโครงการที่จะช่วยยกระดับการให้บริการระบบคลาวด์ ของ Microsoft Azure ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีบนห้วงอวกาศมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ
ซึ่งหนึ่งโพรเจกต์สำคัญของโครงการนี้ คือการนำ “อินเทอร์เน็ตจากอวกาศ” จากดาวเทียม Starlink ที่ SpaceX กำลังจะเริ่มทดสอบการให้บริการในปลายปีนี้ มาเชื่อมต่อเข้ากับบริการคลาวด์ Azure
หมายความว่า บริการคลาวด์ของ Microsoft กำลังจะเริ่มให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตจากอวกาศในไม่ช้านี้แล้ว..
และทางฝั่ง Amazon เองก็มีโครงการอินเทอร์เน็ตจากอวกาศเช่นกัน
เพราะในปี 2019 Amazon ก็ได้ประกาศก่อตั้งโครงการที่ชื่อว่า “Project Kuiper”
ซึ่งเป็นโครงการที่จะส่งดาวเทียมขึ้นไปบนอวกาศ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต คล้ายๆ กันกับดาวเทียม Starlink ของ SpaceX
โดยบริษัทที่จะส่งดาวเทียมของ Project Kuiper ขึ้นไปก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
แต่เป็น “Blue Origin” บริษัทสำรวจและขนส่งอวกาศของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Amazon นั่นเอง..
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงได้รู้แล้วว่า
ในขณะที่หลายบริษัท หลายอุตสาหกรรม
กำลังแข่งขันกันอยู่บนโลกของเรา ณ เวลานี้
สองบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี
กำลังไปไกล ถึงขนาดที่หลายคนอาจจินตนาการไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ
และถึงแม้เรื่องนี้ อาจจะยังดูไกลตัวเราคนไทย ในตอนนี้
แต่ใครจะไปรู้ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
คนทั่วโลก อาจได้ใช้บริการเทคโนโลยีเหล่านี้
ที่ส่งตรงมาจาก “นอกโลก” อย่างไม่รู้ตัว ก็เป็นได้..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.