สรุป การประเมินมูลค่าบริษัท “สตาร์ตอัป”

สรุป การประเมินมูลค่าบริษัท “สตาร์ตอัป”

15 พ.ย. 2020
สรุป การประเมินมูลค่าบริษัท “สตาร์ตอัป” /โดย ลงทุนแมน
การประเมินมูลค่าบริษัท เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ประกอบกัน
ดังนั้น จึงมีวิธีการประเมินหลายแบบ หลายวิธี
และแต่ละคน ก็อาจนำไปประยุกต์ใช้แตกต่างกันตามความเหมาะสม
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
โดยทั่วไป วิธีการที่นักลงทุน นิยมใช้ประเมินมูลค่าบริษัททั่วไปที่ไม่ใช่สตาร์ตอัปคือจะใช้ Price-To-Earnings Ratio (P/E) หรือ อัตราส่วนมูลค่าบริษัท ต่อ กำไร
เช่น เชนร้านอาหารแห่งหนึ่ง สร้างกำไรได้ 100 ล้านบาท ในปีล่าสุด
ซึ่งสมมติว่า ธุรกิจร้านอาหารในตลาดจะมี P/E ประมาณ 15 เท่าของกำไร
ดังนั้น เชนร้านอาหารนี้ จะมีมูลค่าบริษัทที่ 1,500 ล้านบาท
แต่สำหรับบริษัทสตาร์ตอัป หรือบริษัทเทคโนโลยี
ที่ส่วนใหญ่ช่วงแรกของธุรกิจจะไม่มีกำไร เพราะต้องเร่งขยายฐานลูกค้า ฐานผู้ใช้งาน และครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด
ดังนั้น โมเดลธุรกิจของสตาร์ตอัป อาจเน้นที่สร้างการเติบโตเป็นหลักก่อน ยังไม่ยึดติดกับการทำกำไร
เหมือนกับ Grab, Foodpanda, Shopee, Lazada ที่ยอมขาดทุนมหาศาล
เพื่อหวังการเติบโตของธุรกิจ และกำไรในอนาคต
เหมือนอย่าง Facebook และ Amazon ที่แรกๆ ธุรกิจขาดทุน
แต่สุดท้ายบริษัทก็กลายเป็นเจ้าตลาด และทำกำไรได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี
ซึ่งการประเมินมูลค่าบริษัทสตาร์ตอัปที่ยังไม่ทำกำไร
จะนิยมใช้ Price-To-Sales Ratio (P/S) หรือ มูลค่าบริษัท ต่อ รายได้
หรืออีกวิธีคือ Enterprise Value-To-Sales Ratio (EV/S)
โดย Enterprise Value = มูลค่าบริษัท + หนี้สิน - เงินสด
ตัวอย่างเช่น สตาร์ตอัปด้านโซเชียลมีเดียแห่งหนึ่ง สร้างรายได้อยู่ที่ 100 ล้านบาท ในปีล่าสุด
ซึ่งสมมติว่า นักลงทุนประเมินให้ธุรกิจโซเชียลมีเดียหน้าใหม่ มีค่า P/S อยู่ที่ 10 เท่าของรายได้
ดังนั้น สตาร์ตอัปนี้ จะมีมูลค่าบริษัทราว 1,000 ล้านบาท
จะสังเกตได้ว่า ทั้งวิธี P/S และ EV/S จะให้ความสำคัญกับ “รายได้” ในการประเมินมูลค่าบริษัท
ซึ่งต่างจากวิธี P/E ที่ให้ความสำคัญกับตัว “กำไร”
วิธี P/S และ EV/S จึงเหมาะสำหรับใช้ประเมินมูลค่าบริษัทสตาร์ตอัปมากกว่าวิธี P/E
เนื่องจาก บริษัทสตาร์ตอัปส่วนใหญ่ อาจยังไม่ทำกำไรนั่นเอง
แต่ทุกวิธีข้างต้น จะมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ยิ่งบริษัทมีศักยภาพทางธุรกิจสูง
เช่น มีอัตราการเติบโตของรายได้และผู้ใช้งานสูง, มีเทคโนโลยีล้ำหน้า, ผูกขาดตลาด, มี Network Effect นักลงทุนก็จะให้ค่า P/E, P/S และ EV/S ที่ยิ่งสูง และทำให้มูลค่าบริษัทสูงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถใช้ประเมินมูลค่าบริษัทสตาร์ตอัปได้ เช่น
วิธี Discounted Cash Flow (DCF)
ถึงบริษัทจะไม่มีกำไร แต่หากกระแสเงินสดของธุรกิจยังเป็นบวก
ก็นำวิธีประเมินมูลค่าบริษัทแบบ DCF มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน
โดยวิธีคือ การคาดการณ์กระแสเงินสดสุทธิ ที่บริษัทจะทำได้ในอนาคต แล้วคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน
ทั้งนี้ สำหรับบริษัทสตาร์ตอัป มักมีความเสี่ยงที่สูงกว่าบริษัทใหญ่ๆ
ดังนั้น นักลงทุน ต้องใช้อัตราคิดลดที่สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ ในการประเมินมูลค่าบริษัทสตาร์ตอัป
อีกวิธีหนึ่งคือ วิธีเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ที่มีธุรกิจใกล้เคียงกัน
เช่น ใช้เกณฑ์จำนวนผู้ใช้งานมาเปรียบเทียบมูลค่า
ยกตัวอย่างคือ
Instagram มีจำนวนผู้ใช้งานต่อวัน (Daily Active Users) 500 ล้านคน
ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Snapchat มีจำนวนผู้ใช้งานต่อวันอยู่ 249 ล้านคน และมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท
ดังนั้น Instagram มีผู้ใช้งานรายวันมากกว่า Snapchat 2 เท่า ทำให้ประเมินได้ว่าควรมีมูลค่าบริษัทประมาณ 4 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ วิธีการเปรียบเทียบแบบนี้ ต้องคำนึงเสมอว่า
แต่ละบริษัทที่นำมาเทียบกัน อาจมีโมเดลและปัจจัยอื่นทางธุรกิจแตกต่างกัน
จึงไม่อาจสามารถนำมาเปรียบกันได้ตรงๆ 100% แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม
สำหรับวิธีสุดท้ายก็คือ วิธีเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาด
เช่น ตลาดโฆษณาโดยรวมมีมูลค่าอยู่ 100,000 ล้านบาท
โดยสตาร์ตอัปแห่งหนึ่ง คาดว่าจะครองส่วนแบ่งตลาดโฆษณาได้ 30% และจะมีอัตรากำไรที่ 20%
ดังนั้น บริษัทจะมีกำไรอยู่ที่ 100,000 x 30% x 20% เท่ากับ 6,000 ล้านบาท
ถ้าเอากำไรไปคูณกับค่า P/E เช่น 30 เท่าของกำไร
สตาร์ตอัปแห่งนี้ จะถูกประเมินมูลค่าบริษัทที่ราว 180,000 ล้านบาท
สรุปแล้ว การประเมินมูลค่าบริษัทสตาร์ตอัป
จะมีหลายสูตร หลายวิธีการ
ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกวิธีไหน มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับโมเดลและประเภทธุรกิจ
ซึ่งผลลัพธ์ของการประเมินที่ได้ ก็จะออกมาแตกต่างกันไป ตามความเหมาะสมของสภาพธุรกิจ อุตสาหกรรม และตามมุมมองของนักลงทุนแต่ละคน..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.