เก็บเงินอย่างไรให้ได้ 10 ล้านแรกในชีวิต เพื่อเกษียณได้สำราญ

เก็บเงินอย่างไรให้ได้ 10 ล้านแรกในชีวิต เพื่อเกษียณได้สำราญ

19 พ.ย. 2020
เก็บเงินอย่างไรให้ได้ 10 ล้านแรกในชีวิต เพื่อเกษียณได้สำราญ / โดย ลงทุนแมน
วันนี้ หากใครขับรถผ่านบริเวณถนนพระราม 4
อาจมีโอกาสให้เห็นป้ายแคมเปญโฆษณาของ Blockdit
ที่ว่า “เรื่องเงินเรื่องใหญ่ เกษียณยังไงให้สำราญ”
เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นที่หลายคนกำลังวางแผน และหาไอเดียเพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่จะถึงจุดนั้น
หากเราเป็นหนึ่งในนั้น แล้วตอนนี้เราพร้อมขนาดไหน?
ในการทำแบบทดสอบเงินที่ต้องมีไว้ก่อนเกษียณ
รู้หรือไม่ว่า ถ้าแต่ละคนอยากใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการ
พวกเขาจะต้องมีเงินก่อนเกษียณ เป็นหลักสิบล้านบาท
บทความนี้ลงทุนแมน จะขอเล่าถึงว่า เราจะเก็บเงินอย่างไร
ให้ได้ 10 ล้านแรกในชีวิต เพื่อให้เราจะเกษียณได้อย่างสำราญ
ลองมาดูตัวอย่างทางเลือกแบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้

ทางเลือกแรก คือทำงานและเก็บเงินในธนาคาร
โดยเก็บเงิน 10,000 บาทต่อเดือนไปเรื่อยๆ ในชีวิตนี้เราจะได้เงิน 10 ล้านบาทหรือไม่?

คำตอบที่ได้อาจจะทำให้หลายคนแปลกใจคือ “ได้” แต่เราอาจจะต้องเริ่มเก็บเงินตั้งแต่เกิด..

ถ้าให้เราได้ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี เก็บเงินเดือนละ 10,000 บาท จะใช้เวลาประมาณ 70 ปี เงินเก็บในธนาคารของเราจะเริ่มก้าวเข้าสู่ 10 ล้านแรกในชีวิต..

แล้วมีวิธีไหนที่จะทำให้ถึง 10 ล้านแรกในชีวิตได้เร็วขึ้น?

ไม่ว่าจะทำอย่างไร คำตอบที่ได้มีอยู่แค่ 2 ทางเท่านั้นก็คือ..
1. เพิ่มเงินเก็บของเราต่อเดือนให้มากขึ้น
2. เพิ่มผลตอบแทนของเงินเก็บเราให้มากขึ้น

ในเรื่องแรกการเพิ่มเงินเก็บต่อเดือน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนที่จะสร้างรายได้ คนที่มีความสามารถ คนขยัน ก็อาจจะมีโอกาสหารายได้ที่มากกว่าคนทั่วไป

ยกตัวอย่างถ้าเราเพิ่มการฝากเงินในธนาคาร เป็นเดือนละ 30,000 บาท เราจะลดเวลาจาก 70 ปี เป็น 27 ปี ในการแตะ 10 ล้านแรก

ถ้าเราเก็บเดือนละ 50,000 บาท เราจะใช้เวลา 17 ปี
ถ้าเราเก็บเดือนละ 100,000 บาท เราจะใช้เวลาเพียง 9 ปี

แต่หลายคนยังไม่รู้ว่ามีอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเร่งสปีดให้เงินเก็บเราแตะ 10 ล้านได้เร็วขึ้น นั่นก็คือการเพิ่มผลตอบแทนของเงินเก็บเรานั่นเอง

วิธีการเพิ่มผลตอบแทนก็คือ
แทนที่เราจะนำเงินไปฝากธนาคาร ก็เปลี่ยนมาเป็นการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หรือ หุ้นของบริษัทต่างๆ

จากสถิติย้อนหลัง
ผลตอบแทนจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7% ต่อปี แต่มันก็จะมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ

ซึ่งถ้าเรากลัวเรื่องความผันผวนของหุ้น เราอาจจะกระจายความเสี่ยงไปหลายสินทรัพย์ และจะทำให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของหลายสินทรัพย์น้อยลง ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี

ยกตัวอย่างถ้าเราทำผลตอบแทนจากเงินเก็บได้ 5% ต่อปี โดยที่เราเก็บเงินเดือนละ 10,000 บาท เราจะลดเวลาจาก 70 ปี เป็น 33 ปี ในการแตะเงิน 10 ล้าน

และถ้าเราเก็บต่อเดือนมากขึ้น โดยที่เราทำผลตอบแทนมากขึ้นด้วย ก็จะเพิ่มความเร็วเป็น 2 เด้ง

ถ้าเราทำผลตอบแทนจากเงินเก็บได้ปีละ 5%
เก็บเดือนละ 30,000 บาท จะใช้เวลา 18 ปี ในการแตะเงิน 10 ล้าน
เก็บเดือนละ 50,000 บาท จะใช้เวลา 13 ปี ในการแตะเงิน 10 ล้าน
เก็บเดือนละ 100,000 บาท จะใช้เวลา 7 ปี ในการแตะเงิน 10 ล้าน

ตอนแรกที่เห็นหัวข้อของบทความนี้แล้วดูเหมือนยาก กว่าชีวิตนี้จะไปถึง 10 ล้าน

แต่พออ่านจนถึงตอนนี้ ก็น่าจะพอเห็นภาพว่าเรื่องนี้ไม่ได้ยากถึงขนาดเป็นไปไม่ได้

และจริงๆ แล้ว ก็มีหลายคนที่ก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาได้
แล้วทำไมคนที่ข้ามจุดนั้นจะเป็นเราบ้างไม่ได้?

แต่สุดท้าย ไม่ว่าในชีวิตเราจะทำเงินได้แตะ 10 ล้านหรือไม่
ประเด็นสำคัญคงไม่ได้อยู่ตรงนั้นอยู่ดี

ทุกคนเฝ้าหาว่าจะมีความสุขเมื่อมีเงินมากๆ จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการในตอนเกษียณ

แต่จริงๆ แล้ว มีหลายอย่างที่วันนี้เราสามารถทำได้เลยแล้วเรามีความสุขทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสักบาทเดียว

ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนสนิท คนที่เรารัก สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องรอวันที่มีเงินมากแล้วถึงเริ่ม
เริ่มทันทีตั้งแต่วันนี้

เพราะเมื่อถึงวันนั้น วันที่เรามี 10 ล้านแรกในชีวิต
คนเหล่านั้นอาจจะไม่อยู่ให้เราใช้ชีวิตด้วยแล้วก็เป็นได้..

ไอเดียดีๆ สามารถหาอ่านได้ในแอป Blockdit
สังคมใหม่ๆ ทำให้เกิดไอเดียดีๆ
Blockdit. Ideas Happen.
Blockdit.com/download
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.