ผึ้งน้ำหวานในสหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรม

ผึ้งน้ำหวานในสหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรม

3 ธ.ค. 2020
ผึ้งน้ำหวานในสหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรม /โดย ลงทุนแมน
อุตสาหกรรมน้ำผึ้งในสหรัฐอเมริกา ให้ผลผลิต 68,352 ตัน ในปี 2019
มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และสร้างมูลค่าประมาณ 9,300 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง นอกจากน้ำผึ้งที่ใช้เป็นอาหารแล้ว ยังมีนมผึ้ง ที่เป็นอาหารเสริม
และไขผึ้ง หรือ Beeswax ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรผึ้งน้ำหวานในสหรัฐอเมริกากำลังลดลงเรื่อยๆ
โดยมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน การใช้ยาฆ่าแมลง และการขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรม
แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่
เมื่อศัตรูที่สำคัญ และเป็นเพชฌฆาตที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผึ้งน้ำหวาน กำลังย่างกรายเข้ามา..
ศัตรูตัวร้ายของผึ้งน้ำหวานในสหรัฐฯ ตอนนี้ คืออะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
แตนยักษ์เอเชีย (Vespa mandarinia) เป็นแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่
จะมีขนาดเกือบ 5 เซนติเมตร มีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะญี่ปุ่น
แตนประเภทนี้ กินเนื้อเป็นอาหาร โดยสิ่งที่โปรดปรานมากที่สุดก็คือ “ผึ้งน้ำหวาน” (Apis mellifera)
ถึงแม้จะมีสีส้มสลับดำสดใส แต่แตนชนิดนี้มีเหล็กในที่ยาวแหลม และขากรรไกรที่แข็งแรงมาก
ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ บวกกับนิสัยที่ดุร้าย แตนยักษ์เอเชียสามารถรุมต่อยจนทำให้คนถึงแก่ความตายได้
ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากการถูกแตนยักษ์ต่อยมากกว่า 30 คนต่อปี
และในปี 2013 แตนยักษ์มรณะนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 42 คนในมณฑลหนึ่งของประเทศจีน
สำหรับผึ้งน้ำหวาน ซึ่งเป็นอาหารที่โปรดปรานที่สุดของแตนยักษ์
เริ่มแรก จะมีการส่งแตนยักษ์ออกมาสำรวจหาที่ตั้งของรังผึ้งก่อน หากพบรังผึ้งผู้โชคร้าย
แตนยักษ์นักสำรวจก็จะปล่อยฟีโรโมนทิ้งไว้ แล้วรีบกลับไปเรียกพรรคพวกที่รังมาจู่โจมทันที
การจู่โจมของแตนมรณะก็คือ การบุกเข้ากัดส่วนหัวของเหล่าผึ้งน้อยด้วยเขี้ยวขนาดใหญ่
ที่เรียกว่า Mandibles ภายในเวลา 90 นาที แตนยักษ์เอเชีย 30 ตัวก็สามารถจัดการผึ้งน้ำหวานประมาณ 30,000 ตัวได้แบบยกรัง
หลังจากนั้น พวกมันก็จะเข้าครอบครองรังที่เต็มไปด้วยซากศพของผึ้งอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ กัดกินไข่และตัวอ่อนจนหมดเกลี้ยง ก่อนจะหอบอาหารและน้ำหวานกลับไปเลี้ยงตัวอ่อนที่รัง และทิ้งไว้เพียงความว่างเปล่า..
นับเป็นโศกนาฏกรรมที่น่ากลัวสำหรับเหล่าผึ้งน้ำหวานเป็นอย่างมาก จนทุกครั้งที่มีการระบาดของแตนยักษ์เอเชียในต่างแดน จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำผึ้งของประเทศเหล่านั้นได้รับความเสียหายอย่างหนัก
และครั้งนี้ ก็เป็นคิวของสหรัฐอเมริกา..
ในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง ปี 2019 มีการค้นพบรังของแตนยักษ์เอเชียครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา อยู่ในเขตรัฐวอชิงตัน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ใกล้กับชายแดนประเทศแคนาดา
ไม่มีใครรู้ว่าแตนยักษ์เหล่านี้อพยพมาได้อย่างไร นักวิชาการบางส่วนคาดว่าอาจติดมากับ
การขนส่งโดยบังเอิญจากประเทศแถบเอเชียตะวันออก
ผึ้งน้ำหวานในสหรัฐฯ มีถิ่นกำเนิดมาจากยุโรป นอกจากเป็นผึ้งที่เลี้ยงในอุตสาหกรรมน้ำผึ้งแล้ว ยังแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ทำหน้าที่เป็นผู้ผสมเกสรที่สำคัญตามธรรมชาติให้แก่ผลิตผลทางการเกษตร และต้นไม้ใบหญ้าทั่วสหรัฐอเมริกา
ผึ้งเหล่านี้ยังไม่มีวิธีการป้องกันตัวจากการรุกรานของแตนยักษ์เอเชีย มีเพียงเหล็กในซึ่งก็ไม่สามารถใช้ต่อกรผู้บุกรุกอย่างแตนยักษ์มรณะได้เลย
แตกต่างจากผึ้งน้ำหวานในญี่ปุ่น (Apis cerana japonica) ซึ่งมีวิวัฒนาการร่วมกันกับแตนยักษ์เอเชียมาเนิ่นนาน จึงมีวิธีในการป้องกันรังผึ้งจากการรุกราน โดยหากมีแตนยักษ์นักสำรวจบุกเข้ามา ฝูงผึ้งงานจะบินวนรอบๆ แตนยักษ์ตัวนั้น เคลื่อนไหวปีกเป็นจังหวะให้เสียดสีกับอากาศ
จนกลายเป็น “ลูกบอลผึ้ง” ที่สร้างอุณหภูมิรอบตัวแตนยักษ์ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
ผึ้งน้ำหวานญี่ปุ่นสามารถทนอุณหภูมิได้สูงถึง 50 องศาเซลเซียส
แต่แตนยักษ์เอเชียทนอุณหภูมิได้เพียง 46 องศาเซลเซียส
ฝูงผึ้งจะล้อมจนอุณหภูมิรอบตัวแตนยักษ์อยู่ที่ 46.1 องศาเซลเซียส ความร้อนของอากาศและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูง จะทำให้แตนยักษ์นักสำรวจแลกเปลี่ยนก๊าซไม่ได้จนตายไปในที่สุด แล้วความลับที่ตั้งของรังผึ้งก็จะจากไปพร้อมกับมัน
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผึ้งน้ำหวานในสหรัฐฯ ที่เพิ่งพบเจอกับแตนยักษ์เอเชียเป็นครั้งแรก
การต่อสู้ในหนทางเดียวกันกับผึ้งญี่ปุ่นจึงแทบเป็นไปไม่ได้
หนทางเดียวที่จะช่วยผึ้งน้อยเหล่านี้ได้ ก็คือการกำจัดแตนยักษ์ผู้รุกรานให้เร็วที่สุด
ทีมนักวิจัยในสำนักเกษตรรัฐวอชิงตันพยายามค้นหารังแตนเพื่อกำจัด รวมถึงติดตั้งเหยื่อล่อนางพญาแตนยักษ์ เพื่อจับตัวนางพญาที่ผสมพันธุ์แล้ว ก่อนที่จะแยกตัวไปสร้างรังแห่งใหม่
เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ใช่เพียงแต่อุตสาหกรรมน้ำผึ้งของสหรัฐฯ ที่จะประสบปัญหาอย่างหนัก
แต่ยังรวมไปถึงการผสมเกสรของดอกไม้นานาชนิด ทั้งพืชเกษตรกรรม พืชธรรมชาติ
จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศครั้งสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หันกลับมามองที่ประเทศไทย..
การเลี้ยงผึ้งในระดับอุตสาหกรรมของไทยยังมีขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่เป็นผึ้งน้ำหวานสายพันธุ์ยุโรปเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา
ในปี 2019 ไทยผลิตน้ำผึ้งมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม
โดยไทยผลิตน้ำผึ้งได้ 10,110 ตัน ซึ่งจะนิยมเลี้ยงผึ้งไว้ใกล้ๆ กับ ดอกลำไย ลิ้นจี่ งา กาแฟ และทานตะวัน เพื่อให้พืชเหล่านี้ เป็นแหล่งอาหารให้ผึ้งที่เลี้ยง
โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงประมาณ 1,215 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ตามสวนลำไยในเขตจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ในภาคเหนือ และจังหวัดจันทบุรีในภาคตะวันออก
80% ของน้ำผึ้งที่ผลิตออกมาจะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีจุดหมายปลายทางหลักคือ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย แคนาดา และจีน คิดเป็นมูลค่า 617 ล้านบาท
การเลี้ยงผึ้งน้ำหวานในประเทศไทยจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และน่าจะมีการเติบโตมากขึ้นอีกในอนาคต เพราะนอกจากจะให้ผลิตภัณฑ์จากผึ้งแล้ว ผึ้งเหล่านี้ยังช่วยผสมเกสรดอกไม้ ช่วยเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรได้อีกด้วย
ซึ่งหลายคนก็คงถามว่า แล้วผึ้งน้ำหวานในไทย จะเจอภัยคุกคามจากแตนยักษ์ เหมือนกรณีของหลายๆ ประเทศไหม?
ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นโชคดีสำหรับประเทศไทย
เพราะจากงานวิจัยของสถาบัน Cold Spring Harbor Laboratory ในสหรัฐอเมริกา
พบว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของแตนยักษ์เอเชีย
ในเดือนที่ร้อนที่สุดไม่ควรมากกว่า 39 องศาเซลเซียส
ซึ่งอุณหภูมิเดือนที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย พวกเราก็คงรู้กันดีว่า
แตนยักษ์เอเชีย จะมีสภาพเป็นอย่างไร..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.