มหาอำนาจโลก เปลี่ยนจากยุโรป สู่สหรัฐฯ และกำลังจะไป จีน

มหาอำนาจโลก เปลี่ยนจากยุโรป สู่สหรัฐฯ และกำลังจะไป จีน

5 ธ.ค. 2020
มหาอำนาจโลก เปลี่ยนจากยุโรป สู่สหรัฐฯ และกำลังจะไป จีน /โดย ลงทุนแมน
ถ้าเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 500 ปีที่แล้ว
เราจะยืนอยู่ท่ามกลางยุคล่าอาณานิคม
ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่า มหาอำนาจของโลกในตอนนั้น คือประเทศจากทวีปยุโรป
แต่ 400 ปี ต่อมา หลังเกิดสงครามโลกขึ้นสองหน
ก็เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก จากยุโรป ไปยังสหรัฐอเมริกา เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในอนาคตอันใกล้ เรากำลังเห็นแล้วว่า
ขั้วมหาอำนาจของโลก อาจกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
มายัง “จีน” ประเทศยักษ์ใหญ่แห่งซีกโลกตะวันออก
เรื่องราวการผลัดเปลี่ยนกันเป็นมหาอำนาจของโลกที่ผ่านมา และอนาคตจะเป็นอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ยุคล่าอาณานิคมที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16
เกิดขึ้นจากแนวความคิดและอุดมการณ์ของประเทศในยุโรป
ที่ต้องการออกเดินเพื่อยึดครองทรัพยากรในดินแดนอื่นๆ มาเป็นของตนเอง
โดยประเทศที่เริ่มต้นแนวคิด คือ โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วย อังกฤษ และฝรั่งเศส
ประเทศเหล่านี้ เริ่มออกเดินทางด้วยเรือ
ข้ามมหาสมุทรอันกว้างไกล เพื่อค้นพบทวีปใหม่ๆ แล้วเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมของตนเอง
หนึ่งในดินแดนที่ถูกล่าอาณานิคมจากเหล่าประเทศจากยุโรป คือดินแดนที่ถูกเรียกว่า “สหรัฐอเมริกา”
การเข้ามาตั้งอาณานิคมภายในดินแดนอเมริกาของประเทศจากยุโรป ได้นำมาซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการทำเกษตรกรรม ระบบการศึกษาที่นำโดยมิชชันนารีจากยุโรป
สิ่งเหล่านั้นทำให้ชนพื้นเมืองบนแผ่นดินอเมริกา ได้รับองค์ความรู้ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบคนยุโรป และกลายเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา
ช่วงเวลานั้น ยุโรปยังเป็นมหาอำนาจของโลกทั้งทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ที่เริ่มมีการเปลี่ยนโครงสร้างการเติบโตจากภาคเกษตรกรรม มาสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามประเทศในทวีปยุโรป ที่นำโดย อังกฤษ
การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
มีการคิดค้นวิธีผลิตสินค้าครั้งละมากๆ (Mass production) ซึ่งทำให้เกิดการ “ประหยัดต่อขนาด” คือยิ่งผลิตมากต้นทุนยิ่งลดลง โดยเริ่มขยายจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ
ผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายธุรกิจมีกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตามมาด้วยการจ้างงานและการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยังได้รับอานิสงส์มาจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20
เนื่องจากสงครามโลก ทำให้หลายประเทศในยุโรป รวมถึงเอเชีย สูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งตามมาด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ
เมื่อเทียบกันแล้ว สหรัฐอเมริกา ถือว่ารับความบอบช้ำจากสงครามน้อยกว่าประเทศในยุโรปและเอเชียมาก ทำให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
และเมื่อรวมกับการที่สหรัฐอเมริกาสะสมความมั่งคั่งจากการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศมาก่อนหน้านี้ ทำให้สุดท้ายสหรัฐอเมริกาสามารถก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 แทนที่อังกฤษที่ครองตำแหน่งอยู่ก่อนหน้านั้นได้แบบเต็มตัว
รู้ไหมว่า ในปี 1820 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนเพียง 2% ของเศรษฐกิจโลก
แต่ในปี 2020 สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 24%
ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน
ตลอดเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ ที่สหรัฐอเมริกาครองบัลลังก์มหาอำนาจของโลก
มาวันนี้ ดูเหมือนว่าขั้วอำนาจทางด้านเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาถือครอง กำลังถูกทำให้สั่นคลอน และถูกท้าทายด้วย “ดาวรุ่งพุ่งแรง”
ซึ่งดาวรุ่งที่ว่า ก็คือ “ประเทศจีน”
จุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นในปี 1978 ภายใต้การนำของอดีตผู้นำประเทศที่ชื่อว่า “เติ้ง เสี่ยวผิง”
ในตอนนั้น จีน เริ่มมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากต่างระเทศ โดยมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการลงทุนของต่างชาติที่ เชินเจิ้น, จูไห่, เซี่ยเหมิน และซัวเถา
การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในครั้งนั้น ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากหน้ามือเป็นหลังมือ
โดยก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงระหว่างปี 1950-1973 GDP ของจีนเติบโตเฉลี่ยปีละ 2.9%
แต่หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงระหว่างปี 1978-2013 GDP ของจีนเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 9.5%
จีน เร่งการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยการดูแบบอย่างประเทศอื่นๆ ที่มีการพัฒนามาก่อนแล้วอย่างยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ญี่ปุ่น
เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ชนชั้นกลางของจีน จำนวนมากสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของตนเองได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนอีกหลายร้อยล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน ทำให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
ในปี 1960 เศรษฐกิจของจีนมีสัดส่วนเพียง 4% ของเศรษฐกิจโลก
แต่ในปี 2020 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 17%
ทำให้จีนกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในโลก แซงหน้าญี่ปุ่นไปตั้งแต่ปี 2010 และไล่ตามสหรัฐอเมริกา เบอร์หนึ่งของโลกด้านเศรษฐกิจได้มากขึ้นทุกที
ปัจจุบัน มูลค่า GDP ของจีนอยู่ที่ประมาณ 447 ล้านล้านบาท
ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 624 ล้านล้านบาท
ซึ่งถ้าเราให้เศรษฐกิจจีนเติบโตปีละ 5.5% และสหรัฐอเมริกาเติบโตปีละ 2%
ในปี 2030 เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
และจะขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว อีกเรื่องที่น่าจับตาคือ
จีน ยังกำลังก้าวขึ้นมาท้าทายสหรัฐอเมริกาในเรื่องเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
สหรัฐอเมริกามี Amazon บริษัทเทคโนโลยีและเจ้าของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังระดับโลก
ปี 2019 Amazon มีรายได้ 8.4 ล้านล้านบาท กำไร 348,000 ล้านบาท
จีนก็มี Alibaba Group บริษัทเทคโนโลยีและเจ้าของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังระดับโลกเช่นกัน
ปี 2019 Alibaba Group มีรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท กำไร 594,000 ล้านบาท
สหรัฐอเมริกามี ซิลิคอนแวลลีย์ ศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำ และนวัตกรรมของโลก ทั้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเช่น Apple, Microsoft, Google
จีนก็มี เชินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับอีกแห่งโลก ถึงขนาดมีชื่อว่า ซิลิคอนแวลลีย์ของจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีที่ระดับโลกเช่น Huawei, Tencent, Baidu
ดูเหมือนว่าวันนี้หลายอย่างที่สหรัฐอเมริกาทำได้ จีนก็ทำได้
จากที่เมื่อก่อนที่เราเคยตั้งคำถามกันว่า
จีน จะสามารถแซง สหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลกได้หรือไม่
ในวันนี้ เราอาจต้องเปลี่ยนคำถามใหม่
เป็นถามว่า จีน จะขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก ในอีกกี่ปีข้างหน้า? ..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.