อิเล็กทรอนิกส์ไทย ธุรกิจที่ได้ประโยชน์ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด

อิเล็กทรอนิกส์ไทย ธุรกิจที่ได้ประโยชน์ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด

16 ธ.ค. 2020
อิเล็กทรอนิกส์ไทย ธุรกิจที่ได้ประโยชน์ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด /โดย ลงทุนแมน
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบในแง่ลบ
เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว, ธุรกิจขนส่งสาธารณะ หรือห้างสรรพสินค้า
แต่ในทางกลับกัน ก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวกจากเหตุการณ์ครั้งนี้
ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือธุรกิจดิลิเวอรี
และอีกหนึ่งธุรกิจที่นักลงทุนมองว่าได้ประโยชน์จากโควิด 19 ก็คือ
“อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์”
เราได้เห็นมูลค่าของบริษัทกลุ่มนี้ในตลาดหุ้นไทย เพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุดในช่วงเดือนมีนาคม
DELTA มีมูลค่า 4.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12 เท่า
KCE มีมูลค่า 4.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า
HANA มีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า
SVI มีมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8 เท่า
เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากอะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก
ในปี 2019 มูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศไทย เท่ากับ 7.5 ล้านล้านบาท
โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 15% ของการส่งออกทั้งหมด
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า ไทยถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก
ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, ฮาร์ดดิสก์, แผงวงจร และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทั้งนี้การระบาดของโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจและการค้าขายระหว่างประเทศ ต้องหยุดชะงักลง ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนัก
แต่ดูเหมือนว่า วิกฤติครั้งนี้กลับทำให้ตลาดมีความต้องการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น
แทบทุกประเทศทั่วโลกมีการใช้นโยบายปิดเมือง และสนับสนุนให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในวงกว้าง
ทำให้กิจกรรมส่วนใหญ่ในชีวิตมนุษย์ ถูกย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มโลกออนไลน์แทน
เช่น การติดต่อสื่อสาร, ชอปปิง, สั่งอาหารดิลิเวอรี หรือแม้แต่การทำงาน ที่ต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบ Work From Home มากขึ้น
ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านั้น ล้วนต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง สมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์
นอกจากนั้นยังต้องมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งฐานข้อมูลบน Cloud และทำให้การใช้งานศูนย์กลางเก็บข้อมูล หรือ Data Center มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามา ล้วนมีความเกี่ยวข้อง กับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทในไทยเป็นผู้ผลิต
นอกจากนั้น การขยายตัวของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ที่ทำให้เกิดธุรกิจประเภท Internet of Things ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไทย จึงฟื้นตัวจากวิกฤติอย่างรวดเร็ว และกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด
บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “DELTA”
ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัปพลาย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ผลิตภัณฑ์อัตโนมัติ และผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูล
ผลประกอบการปี 2020 ของ DELTA
ไตรมาสที่ 1 รายได้ 12,680 ล้านบาท กำไร 857 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 รายได้ 14,491 ล้านบาท กำไร 2,020 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 3 รายได้ 17,826 ล้านบาท กำไร 2,642 ล้านบาท
บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “KCE”
ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนในเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ
ผลประกอบการปี 2020 ของ KCE
ไตรมาสที่ 1 รายได้ 3,259 ล้านบาท กำไร 424 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 รายได้ 2,127 ล้านบาท กำไร 71 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 3 รายได้ 2,721 ล้านบาท กำไร 250 ล้านบาท
บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ “HANA”
ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ วงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม
ผลประกอบการปี 2020 ของ HANA
ไตรมาสที่ 1 รายได้ 4,609 ล้านบาท กำไร 483 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 รายได้ 4,592 ล้านบาท กำไร 476 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 3 รายได้ 4,813 ล้านบาท กำไร 367 ล้านบาท
บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ “SVI”
ผู้ผลิตและให้บริการประกอบผลิตภัณฑ์วงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสำเร็จรูป
ผลประกอบการปี 2020 ของ SVI
ไตรมาสที่ 1 รายได้ 3,212 ล้านบาท กำไร 227 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 รายได้ 4,174 ล้านบาท กำไร 109 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 3 รายได้ 4,198 ล้านบาท กำไร 249 ล้านบาท
ดูจากผลประกอบการ ทุกบริษัทยังทำกำไรได้ดีในทุกไตรมาส ไม่เหมือนบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นที่อาจมีการขาดทุนในช่วงปีนี้ ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงมีความสนใจต่อบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ และคาดหวังถึงผลตอบแทนที่ดี จนราคาหุ้นของหลายบริษัทพุ่งสูงขึ้นมาก นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด 19
โดยเฉพาะหุ้น DELTA ที่ตอนนี้มีมูลค่าบริษัทสูงเป็นอันดับ 6 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แซงหน้าธนาคาร KBANK, SCB, BBL
ธุรกิจเครือโรงพยาบาลใหญ่สุดในไทยอย่าง BDMS
และธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง GULF, PTTEP
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตาดูสำหรับอุตสาหกรรมนี้ คือ “การแข็งค่าของเงินบาท”
ในปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกของไทย มีราคาแพงขึ้นในสายตาชาวต่างชาติ
รวมทั้งประเทศผู้ผลิตรายอื่นที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย เช่น เวียดนาม ก็อาจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและพัฒนาฐานการผลิต จนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปจากบริษัทไทยได้
อ่านถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปได้ว่า
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ได้ประโยชน์จากโควิด 19 ที่เร่งให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
แต่ต้องติดตามต่อไปว่า บริษัทไทยจะเติบโตได้ตามความคาดหวังของนักลงทุน และรักษาความสามารถในการแข่งขันให้เหนือกว่าประเทศคู่แข่งในระยะยาว ได้หรือไม่
ซึ่งคงต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยควรรีบคว้า และรักษาเอาไว้ในมือให้ดี
เพราะถ้าโลกเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มเมกะเทรนด์ดังกล่าวจริงๆ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็น่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน, สร้างรายได้ให้คนภายในประเทศ และขยายผลเป็นธุรกิจต่อเนื่องที่มีมูลค่าสูงได้อีกมาก
ซึ่งนี่ก็อาจเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญ
ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นได้..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้น การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.