รู้จัก SMIC หัวใจสำคัญ ของสงครามเทคโนโลยี จีน-สหรัฐฯ

รู้จัก SMIC หัวใจสำคัญ ของสงครามเทคโนโลยี จีน-สหรัฐฯ

7 ม.ค. 2021
รู้จัก SMIC หัวใจสำคัญ ของสงครามเทคโนโลยี จีน-สหรัฐฯ /โดย ลงทุนแมน
หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา และ จีน
ได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือด เพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจ
โดยเฉพาะในเรื่อง “เทคโนโลยี”
ซึ่งหนึ่งในวิธีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของเทคโนโลยีจีน
คือ แบนการใช้งานเทคโนโลยี หรือห้ามทำธุรกิจกับบริษัทจากจีน ไล่มาตั้งแต่ Huawei, Tencent และ ByteDance บริษัทแม่ของแอปวิดีโอสั้นยอดนิยม TikTok
และไม่นานมานี้ มีบริษัทจีนอีกรายหนึ่ง ชื่อว่า “SMIC”
ได้ถูกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำ ไม่ให้ทำธุรกรรมกับบริษัทอเมริกันเช่นกัน
SMIC ประกอบธุรกิจอะไร
และมีความสำคัญต่อสงครามเทคโนโลยีขนาดไหน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปในปี 2019
บริษัทจีนรายแรกที่ถูกสหรัฐฯ ประกาศแบนไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกันทำธุรกิจด้วย ก็คือ Huawei
ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผู้พัฒนาอินเทอร์เน็ต 5G รายใหญ่ของโลก
โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า Huawei อาจร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงของจีน ใช้เทคโนโลยีล้วงเอาข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาของชาวอเมริกัน
คำสั่งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อ Huawei พอสมควร
เพราะการผลิตสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพสูงทัดเทียมกับคู่แข่งรายอื่น จำเป็นจะต้องใช้ “ชิป” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
เมื่อ Huawei ค้าขายกับบริษัทต่างประเทศได้ยากขึ้น จึงหันมาพึ่งผู้ผลิตชิปในจีนแทน
ซึ่งผู้เล่นรายใหญ่สุดของตลาดชิปในจีน คือ Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ “SMIC”
SMIC เป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติจีน ที่รับจ้างผลิตแผงวงจร หรือ ชิป
ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2000 หรือ 20 ปีที่แล้ว
ผลประกอบการล่าสุดของบริษัท
ปี 2017 รายได้ 93,000 ล้านบาท กำไร 5,400 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 101,000 ล้านบาท กำไร 3,800 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 94,000 ล้านบาท กำไร 6,700 ล้านบาท
โดยที่ Huawei ถือเป็นลูกค้าหลักของบริษัท
ซึ่ง SMIC มีสัดส่วนยอดขายที่เป็นการขายชิปให้ Huawei สูงถึง 20% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท
แต่นอกจากเป็นซัปพลายเออร์ที่ผลิตชิปให้ Huawei แล้ว
SMIC ยังมีส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนเป็นอย่างมาก
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนได้มีนโยบาย “Made in China 2025”
ซึ่งเป็นแผนที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในอนาคต
ซึ่งส่วนประกอบสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยประเภทต่างๆ คงหนีไม่พ้น ชิป
โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายลดการนำเข้าชิปจากต่างประเทศ และเพิ่มสัดส่วนการผลิตชิปของบริษัทท้องถิ่น จากปัจจุบัน 16% เป็น 70% ของความต้องการตลาดในประเทศ ภายในปี 2025
ซึ่งนี่คงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มเพ่งเล็ง SMIC เป็นพิเศษนั่นเอง..
โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นบัญชีดำ SMIC
ซึ่งการขึ้นบัญชีดำนี้ ส่งผลทำให้บริษัทที่ต้องการส่งออกชิ้นส่วนที่เป็นส่วนประกอบในการนำไปผลิตชิป ไปให้กับบริษัท SMIC จะต้องขอใบอนุญาตจากภาครัฐเสียก่อน
โดยสหรัฐฯ มีข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันกับกรณี Huawei
คือ SMIC อาจนำชิ้นส่วนจากบริษัทอเมริกัน ไปผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคงของประเทศจีน
ซึ่งการถูกขึ้นบัญชีดำ ก็น่าจะทำให้ SMIC ผลิตชิปได้ยากลำบากขึ้น
และนอกจากนั้น มันอาจส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปของบริษัท รวมไปถึงประเทศจีน ชะลอความเร็วลงอีกด้วย
จริงๆ แล้ว ในปัจจุบัน เทคโนโลยีของ SMIC ก็ยังตามหลังบริษัทต่างชาติอยู่พอสมควร
โดย SMIC สามารถผลิตชิปได้ขนาดตั้งแต่ 14-350 นาโนเมตร
แต่ทว่า ชิปขนาดเล็ก 14-28 นาโนเมตร ซึ่งเป็นชิปขนาดเล็ก และทรงประสิทธิภาพ กลับมีสัดส่วนในการผลิตเพียงแค่ 14% เท่านั้น
ขณะที่บริษัทผู้นำในตลาดโลกอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing หรือ TSMC จากไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายสำคัญให้กับ Apple และ Samsung สามารถผลิตชิปได้เล็กถึงขนาด 5 นาโนเมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงานกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็ได้มีการสนับสนุนเงินทุนให้กับ SMIC เป็นมูลค่ากว่า 66,000 ล้านบาท รวมทั้งมีมาตรการยกเว้นภาษี เพื่อหวังให้อุตสาหกรรมผลิตชิปภายในประเทศ เติบโตแบบก้าวกระโดด จนเทียบเท่าบริษัทชั้นนำของโลกได้
อ่านถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นแล้วว่า
เทคโนโลยีในอนาคต ที่ประเทศจีนวาดภาพเอาไว้
ไม่ว่าจะเป็น 5G, Internet of Things, AI หรือระบบอัตโนมัติ
ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจผลิตชิป
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่บริษัท SMIC จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตี ในสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้
เพราะสหรัฐฯ คงไม่ยอมปล่อยให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างราบรื่น จนก้าวตามตัวเองทัน
ซึ่งเชื่อว่าต่อไป การแข่งขันระหว่างสองประเทศนี้ คงจะยิ่งดุเดือดเข้มข้นขึ้น
รวมทั้งต่างฝ่าย อาจมีนโยบายโจมตีขุมกำลังสำคัญทางเทคโนโลยีของฝั่งตรงข้าม อีกมากมาย
เพราะสุดยอดพลังอำนาจในโลกอนาคต
อาจไม่ใช่ อำนาจทางการทหาร หรืออำนาจทางการเมือง
แต่คือ อำนาจ ในเรื่องของเทคโนโลยี..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.