โอกาสของ มะพร้าวน้ำหอมไทย

โอกาสของ มะพร้าวน้ำหอมไทย

20 ม.ค. 2021
โอกาสของ มะพร้าวน้ำหอมไทย /โดย ลงทุนแมน
“Aromatic Coconut Water from Thailand is the Best in the World”
ซึ่งแปลว่า “น้ำมะพร้าวน้ำหอมของไทยนั้นดีที่สุดในโลก”
เป็นประโยคที่ผู้บริโภคต่างชาติหลายๆ คน พูดถึงมะพร้าวน้ำหอมของไทย
มะพร้าวน้ำหอม เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก
ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติไม่น้อย
แล้วมะพร้าวน้ำหอมไทย กำลังมีโอกาส และ ความท้าทายในเรื่องอะไรบ้างในตอนนี้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
มะพร้าว เป็นเป็นพืชในตระกูลปาล์ม
ซึ่งถ้าแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการนำไปผลิตต่อ หรือบริโภค
จะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วย
1. มะพร้าวอุตสาหกรรม
2. มะพร้าวผลิตน้ำตาล
3. มะพร้าวเพื่อบริโภคผลสด
ซึ่งมะพร้าวน้ำหอม ถูกจัดเป็นมะพร้าวเพื่อบริโภคผลสด
ในปี 2017 มูลค่าตลาดน้ำมะพร้าวทั่วโลกเท่ากับ 65,000 ล้านบาท
และคาดว่าจะเติบโตถึง 249,000 ล้านบาท ในปี 2023 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ภายใน 6 ปี
ในปี 2018 ทั่วโลกมีผลผลิตมะพร้าวประมาณ 62 ล้านตัน
โดยประเทศที่มีผลผลิตมะพร้าวมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลกคือ
1. อินโดนีเซีย 18.5 ล้านตัน
2. ฟิลิปปินส์ 14.7 ล้านตัน
3. อินเดีย 11.7 ล้านตัน
ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยเรานั้น มีผลผลิตมะพร้าวทั้งหมด 0.81 ล้านตัน อยู่อันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศที่ส่งออกอันดับต้นๆ
แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะผลิตมะพร้าวน้อยกว่าอินโดนีเซียถึงเกือบ 10 ล้านตัน
แต่ถ้าพูดถึง “มะพร้าวน้ำหอม” ในสายตาชาวต่างชาติ
มะพร้าวน้ำหอมของไทย จะได้รับการยอมรับในเรื่องรสชาติ และคุณภาพที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
โดยความโดดเด่นของมะพร้าวน้ำหอมไทย คือเรื่อง “กลิ่น”
ที่มีความหอมมากกว่าคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ทำให้มะพร้าวของไทยสามารถนำไปทำน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มได้ดีกว่ามะพร้าวจากประเทศอื่น
ในประเทศไทยนั้น ภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และฉะเชิงเทรา ถือเป็นพื้นที่ที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมมากในประเทศไทย
ทั้งนี้ มะพร้าวน้ำหอมในประเทศไทยจะมีราคาแพงขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ของทุกปี
เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศร้อนจัด จนส่งผลให้มีผลผลิตออกมาน้อย
ขณะที่การปลูกมะพร้าวน้ำหอมแต่ละครั้ง
จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี แต่ก็สามารถเก็บผลผลิตได้นานมากกว่า 10 ปี
และเนื่องจากความต้องการมะพร้าวน้ำหอมในปัจจุปันยังมีอยู่ในระดับสูง
ทั้งจากการที่ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยที่เติบโตขึ้นในช่วงหลายปีก่อนหน้า
จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
และจากความนิยมเครื่องดื่มที่ทำจากมะพร้าวน้ำหอมที่เพิ่มสูงขึ้น
รวมไปถึงการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปขายยังต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดส่งออกไปจีนนั้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดที่นิยมบริโภคไม่เพียงแต่ทุเรียนและผลไม้อื่นๆ แต่ยังรวมไปถึงมะพร้าวน้ำหอมของไทยด้วย
ในประเทศไทยนั้น ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมของไทยในหนึ่งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านลูก ซึ่งกว่า 50% จะถูกส่งไปขายที่ประเทศจีน
ในปี 2562 นั้น 3 ประเทศที่ถือเป็นตลาดส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของไทยคือ
1. จีน ปริมาณการส่งออก 91,262 ตัน มูลค่าการส่งออก 2,270 ล้านบาท
2. สหรัฐอเมริกา ปริมาณการส่งออก 16,796 ตัน มูลค่าการส่งออก 537 ล้านบาท
3. ฮ่องกง ปริมาณการส่งออก 9,911 ตัน มูลค่าการส่งออก 198 ล้านบาท
ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 นั้น มูลค่าการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปจีนยังสูงถึง 2,828 ล้านบาท อันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามจีนก็กำลังปลูกมะพร้าวเองเช่นกัน
ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกมะพร้าวหลักของจีนอยู่ที่มณฑลไห่หนานตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ถึง 90% ของพื้นที่ในการปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ
โดยที่มณฑลไห่หนานมีพื้นที่ในปลูกต้นมะพร้าวประมาณ 250,000 ไร่ และให้ผลผลิตประมาณ 240 ล้านลูกต่อปี
ซึ่งจีนมีพื้นที่ในการเพาะปลูกมะพร้าวน้อย เนื่องจากภูมิอากาศของจีนที่ไม่เอื้อต่อการปลูกมะพร้าว เหมือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัญหาการขาดแคลนมะพร้าวในจีน ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนจึงพัฒนาโครงการสวนมะพร้าวที่มณฑลไห่หนานเพิ่มอีก 125,000 ไร่ เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้มากกว่าตอนนี้
แต่ทั้งนี้ กว่าที่ผลผลิตมะพร้าวที่นี่จะเพิ่มขึ้นก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี และแม้ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคมะพร้าวในประเทศจีนที่ยังมีอยู่มาก
ปัจจุบัน จีนยังต้องมีการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 2,500 ล้านลูกต่อปี สำหรับความต้องการของประชากรในประเทศกว่า 1.4 พันล้านคน
เรื่องนี้ก็นับว่า ยังเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะจากผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รู้ไหมว่า ในช่วงระหว่างปี 2559-2562 พื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมดของประเทศไทยนั้นลดลงจาก 1.1 ล้านไร่ เหลือเพียง 0.85 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เกิดจากผลผลิตที่ลดลงตามอายุ และสภาพต้นมะพร้าว
จึงทำให้เจ้าของสวนทำการตัดต้นมะพร้าวทิ้งเพื่อไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน
ซึ่งอาจเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของไทยไปยังตลาดที่มีความต้องการมากอย่างจีนในอนาคต
นอกจากนี้ ผลผลิตมะพร้าวที่ค่อยๆ ลดลงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจแปรรูปอาหารจากมะพร้าว รวมทั้งธุรกิจปลูกกล้วยไม้ที่ใช้กาบและขุยมะพร้าวเป็นวัสดุในการปลูก ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจพอสมควร
เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้เกี่ยวข้องว่าจะช่วยพัฒนา และยกระดับอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้อย่างไร..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.