ถ้าไปรษณีย์ไทย อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะใหญ่แค่ไหน?

ถ้าไปรษณีย์ไทย อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะใหญ่แค่ไหน?

25 ม.ค. 2021
ถ้าไปรษณีย์ไทย อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะใหญ่แค่ไหน? /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่าไปรษณีย์ของประเทศไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
ทำธุรกิจมายาวนานกว่า 138 ปี
และก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าบริษัทอายุร้อยปีในวันนั้น
ยังเป็นหนึ่งในผู้ทำธุรกิจขนส่งพัสดุ ซึ่งถือเป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ในวันนี้
เดือนที่แล้ว เราก็น่าจะได้เห็นว่าเคอรี่ บริษัทขนส่งพัสดุยักษ์ใหญ่จากฮ่องกง
ได้นำบริษัทลูกที่ประเทศไทย หรือ KEX จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์บ้านเราได้สำเร็จ
โดยปัจจุบัน มีมูลค่าอยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท
แล้วถ้าไปรษณีย์ไทย อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะใหญ่แค่ไหน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ไปรษณีย์ของไทย นั้นก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2426 ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดกรมไปรษณีย์
ก่อนที่จะเปลี่ยนสถานะมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ชื่อว่า “การสื่อสารแห่งประเทศไทย”
120 ปีต่อมา หรือ ปี พ.ศ. 2546 การสื่อสารแห่งประเทศไทย ก็ได้มีการปรับโครงสร้างอีกครั้ง
ตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยแยกการสื่อสารแห่งประเทศไทย
ออกเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
แล้วผลประกอบการที่ผ่านมาของไปรษณีย์ไทย เป็นอย่างไร?
ปี 2560 รายได้ 27,872 ล้านบาท กำไร 4,222 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 29,298 ล้านบาท กำไร 3,809 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 27,162 ล้านบาท กำไร 589 ล้านบาท
โดยเป็นรายได้มาจากธุรกิจขนส่ง และโลจิสติกส์ 49%
ธุรกิจไปรษณียภัณฑ์ 31%
ธุรกิจบริการระหว่างประเทศ 14%
และธุรกิจอื่น ๆ อีก 6%
จะเห็นได้ว่ารายได้โดยรวมของไปรษณีย์ไทย ไม่ได้เติบโตขึ้น
นั่นก็เพราะว่ากลุ่มธุรกิจไปรษณียภัณฑ์ หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจขนส่งพัสดุที่แม้จะเป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ก็จริง
แต่ด้วยความที่มีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันจำนวนมาก
นั่นจึงทำให้ส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจขนส่ง
ซึ่งก็เป็นรายได้หลักของไปรษณีย์ไทย ลดลง เช่นกัน
แต่ด้วยการแข่งขันในอุตสาหกรรมการจัดส่งพัสดุที่มากขึ้น
ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ไปรษณีย์ไทย ที่แม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ต้องพยายามปรับตัว
ซึ่งที่ผ่านมา เราก็พอจะได้เห็นการหารายได้อื่นเสริม เช่น การเข้าไปเป็น Banking Agent ให้กับธนาคารหลายแห่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนต่างๆ ได้
สำหรับกำไรที่ลดลงในปี 2562 เกิดจากการที่ไปรษณีย์ไทย มีค่าใช้จ่าย
ด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบจากการปรับค่าใช้จ่ายเรื่องผลประโยชน์พนักงาน
คิดเป็นมูลค่าราว 1,369 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
หากเราไม่นับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ไปรษณีย์ไทย จะมีกำไรอยู่ที่ 1,958 ล้านบาท
ทีนี้ เราลองนำกำไรของไปรษณีย์ไทย มาคูณกับ P/E ของเคอรี่ เอ็กเพรส (ประเทศไทย)
หรือ KEX ที่เพิ่งจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อเดือนก่อน
P/E 68 เท่า อ้างอิงจาก KEX
ไปรษณีย์ไทย จะมีมูลค่าบริษัท 133,144 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามด้วยความที่ไปรษณีย์ไทย ไม่ได้มีธุรกิจขนส่งพัสดุเพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีธุรกิจส่งจดหมาย ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 1 ใน 3
ซึ่งธุรกิจในส่วนนี้ ก็ได้หดตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากพฤติกรรมของเราเปลี่ยนไป
โดยเราไม่ได้มีการส่งจดหมาย หรือส่งเอกสารถึงกันเหมือนอย่างแต่ก่อน
ซึ่งการนำ P/E ของ KEX มาใช้ก็อาจจะไม่สะท้อนมูลค่าบริษัทเท่าที่ควร
ซึ่งถ้าให้ P/E ของ ไปรษณีย์ไทยน้อยกว่า KEX สักครึ่งหนึ่งก็จะมีมูลค่า 66,572 ล้านบาท
ซึ่งมูลค่าระดับนี้ ก็มากพอที่จะทำให้บริษัทร้อยปีแห่งนี้
เป็น 1 ใน 100 บริษัทที่มี มูลค่ามากที่สุด ในประเทศไทย เลยทีเดียว
แต่ถ้าถามว่า ไปรษณีย์ไทย ควรมีมูลค่ามากกว่าบริษัท เคอรี่ เอ็กเพรส ที่ 99,180 ล้านบาทหรือไม่
คำถามนี้น่าจะตอบยาก
และขึ้นอยู่กับนักลงทุน ว่าจะมีมุมมองอย่างไร
แล้วคุณล่ะ คิดว่า ไปรษณีย์ไทย หรือ เคอรี่ ควรมีมูลค่าบริษัทมากกว่ากัน?
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.