Vivendi บริษัทล้านล้าน ที่ก่อตั้งโดย นโปเลียนที่ 3

Vivendi บริษัทล้านล้าน ที่ก่อตั้งโดย นโปเลียนที่ 3

5 ก.พ. 2021
Vivendi บริษัทล้านล้าน ที่ก่อตั้งโดย นโปเลียนที่ 3 /โดย ลงทุนแมน
หากให้เรานึกถึงธุรกิจ ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานเกินกว่า 100 ปี
เราจะนึกถึงบริษัทอะไร?
สำหรับวันนี้ เรามารู้จักกับ Vivendi อ่านว่าวิวองดี เป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส
ที่ถูกก่อตั้งโดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1853 หรือราว 167 ปีก่อน
หากเทียบกับประเทศไทย ตอนนั้นก็คือสมัยรัชกาลที่ 5
ที่น่าสนใจก็คือ Vivendi ทำธุรกิจสื่อบันเทิง และก็เป็นเจ้าของ Universal Music Group
ที่มีศิลปินในสังกัด เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ และ เลดี้ กากา
แล้วธุรกิจที่ก่อตั้งโดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้ทำธุรกิจผ่านกาลเวลา
จนกลายมาเป็นเจ้าของต้นสังกัดของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้อย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
บริษัท วิวองดี เดิมมีชื่อว่า Compagnie Générale des Eaux
หรือชื่อย่อ CGE ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1853 โดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3
เริ่มต้นจากธุรกิจการประปาให้กับจังหวัด ลียง ในประเทศฝรั่งเศส
หลังจากทำธุรกิจมาได้ 50 ปี CGE ได้ขยายธุรกิจการประปาไปยังเมืองหลวงของฝรั่งเศสอย่าง กรุงปารีส รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี และ เมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส
ปี ค.ศ. 1976 บริษัท CGE ก็ได้ขยายมาทำธุรกิจการจัดการของเสีย พลังงาน บริการขนส่ง และก่อสร้าง
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1983 หรือราว 38 ปีที่ผ่านมา
ทางบริษัทก็เริ่มหันเข้าหาธุรกิจสื่อ และการบันเทิง
CGE ได้ทำการก่อตั้งกลุ่มบริษัท Groupe Canal+ ขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์ในการเป็นสื่อโทรทัศน์
ที่เริ่มโมเดลการจ่ายเงินเป็นสมาชิก หรือ Subscription ที่เราคุ้นเคยกันในยุคปัจจุบัน
เพื่อได้สิทธิ์ในการรับชม เป็นช่องแรกของประเทศฝรั่งเศส
เมื่อเป็นผู้เริ่มก่อน และทำได้ดี
สื่อโทรทัศน์ของ CGE ก็ได้เติบโต และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
นั่นจึงทำให้ต่อมา ทางบริษัทก็ได้เริ่มผันตัวเข้าสู่วงการสื่อโฆษณา และการบันเทิง
หลังจากนั้น CGE จึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น Vivendi และก็ได้ทำการปรับโครงสร้างบริษัท
โดยการขายส่วนธุรกิจที่เป็นการประปา และสิ่งก่อสร้าง ออกไป และได้เข้าซื้อกิจการผลิตช่องรายการโทรทัศน์มากมาย เช่น
- Havas Group ในประเทศฝรั่งเศส
- Maroc Telecom ในประเทศโมร็อกโก (ปัจจุบันขายธุรกิจให้กับ Emirates Telecommunication Group)
- NetHold ในประเทศเนเธอร์แลนด์
- Cendant Software (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Vivendi Games) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ทางบริษัท ก็ยังได้ทำการขยายสัญญาณช่องโทรทัศน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้รับชมในประเทศ อิตาลี, สเปน, โปแลนด์, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม บริษัทอย่าง วิวองดี ที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ ก็เกือบจะต้องล้มละลายในปี 2003
นั่นก็เพราะว่าบริษัทเข้าซื้อกิจการมากเกินไป จนขาดสภาพคล่องทางการเงิน
และอีกเหตุการณ์สำคัญ ก็คือ บริษัทโดนตลาดหุ้นฝรั่งเศสเข้ามาตรวจสอบเรื่องของความไม่ชอบมาพากลใน การตกแต่งงบการเงินของบริษัท เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท ซึ่งผลปรากฏว่าเกิดการทุจริตขึ้นจริง
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ซีอีโอที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในสมัยนั้น
ก็ได้ถูกให้ออกจากบริษัท และถูกปรับไปมากถึง 600 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ซีอีโอคนใหม่อย่าง Jean-René Fourtou
ได้เข้ามาพลิกวิกฤติในจุดที่ต่ำที่สุดของบริษัท Vivendi
เริ่มต้นจากการขายบริษัทย่อยในเครือที่ทำธุรกิจก่อสร้างออกไป
เพื่อหาเงินทุน มาหมุนเวียนให้บริษัทไปต่อได้
หลังจากผ่านเรื่องราวที่เกือบจะไปไม่รอด Vivendi ก็ได้เริ่มเข้าซื้อกิจการอีกครั้ง
โดยครั้งนี้ เป็นการเข้าซื้อบริษัท Universal Music Group ทำธุรกิจค่ายเพลง
ซึ่งปัจจุบัน ได้ผลิตศิลปินคุณภาพออกมามากมาย เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ และ เลดี้ กากา
แล้วต่อจากนั้น เส้นทางของ Vivendi มีอะไรอีกบ้าง?
ปี 2007 เข้าซื้อ บริษัทเกม 2 ค่ายคือ Blizzard กับ Activision
หลังจากนั้น ก็ได้ควบรวมเป็นบริษัท Activision Blizzard
ซึ่งต่อมา ก็ได้ผลิตเกมดังอย่าง World of Warcraft และ Call of Duty ออกมา
ปี 2008 เข้าซื้อหุ้น 80% ของเว็บไซต์วิดีโอออนไลน์จากฝรั่งเศส Dailymotion
ปี 2013 ได้ขายกิจการ Activision Blizzard ออกไป
ปี 2015 ได้เข้าซื้อหุ้น 30% ของบริษัท Gameloft ค่ายผลิตเกมสมาร์ตโฟนชื่อดัง ของพี่น้องตระกูล Guillemot และในปีถัดไปก็ได้เพิ่มสัดส่วนเป็นมากถึง 96.9%
ในขณะเดียวกัน อีกบริษัทเกมของพี่น้องตระกูล Guillemot อย่าง Ubisoft เจ้าของเกมดังอย่าง Assassin's Creed ก็กำลังจะถูก Vivendi เข้าซื้อ
แต่ด้วยความที่นักเล่นเกมไม่พอใจกับการที่ Vivendi เข้าซื้อ Gameloft และทำให้บริษัทเกมหวังผลกำไรจากผู้เล่นมากเกินไป จึงเกิดกระแสต่อต้าน
นั่นก็รวมไปถึงพี่น้องตระกูล Guillemot ซึ่งพวกเขาก็ได้พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่เอาไว้ และก็ได้ Tencent เข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการถือหุ้นจำนวน 5% ของ Ubisoft เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับ Vivendi
จนในที่สุด Vivendi ก็ได้ยอมแพ้ และขายหุ้นออกไปจากบริษัท Ubisoft ทั้งหมด..
หลังจากนั้น Vivendi ต้องการกลับมาโฟกัสกับอุตสาหกรรมสื่อ และเอเจนซีโฆษณา
และเช่นเคย พวกเขาก็ได้เข้าซื้อกิจการอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็น บริษัทผลิตสื่ออย่าง SFX Entertainment (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น LiveStyle Inc.) และ บริษัท Paddington and Company ผู้เป็นเจ้าของหมีพูดได้แพดดิงทัน จากลอนดอน
และล่าสุด ในปี 2020 บริษัทวิวองดี ก็ได้ทำการขายหุ้นของ Universal Music จำนวน 20% ให้กับบริษัท Tencent
และด้วยเหตุนี้เอง เราจึงจะเห็นเกมชื่อดังต่างๆ ที่ผลิตโดย บริษัท Tencent มีเพลงประกอบฉากที่ค่อนข้างไพเราะ ก็เป็นเพราะส่วนหนึ่งก็ได้ผลิตผลงาน มาจากสตูดิโอชื่อดังแห่งนี้นี่เอง
ทีนี้ เรามาดูกันว่า บริษัท Vivendi มีรายได้เท่าไร ?
ปี 2017 มีรายได้ 455,099 ล้านบาท กำไร 47,243 ล้านบาท
ปี 2018 มีรายได้ 506,506 ล้านบาท กำไร 42,047 ล้านบาท
ปี 2019 มีรายได้ 577,714 ล้านบาท กำไร 63,298 ล้านบาท
ปัจจุบัน Vivendi มีส่วนแบ่งรายได้มาจาก
Universal Music Group 45%
Groupe Canal+ บริษัทผลิตช่องโทรทัศน์ 33%
Havas Group บริษัทสื่อและโฆษณา 15%
ถึงตรงนี้ เราสามารถสรุปได้ว่า Vivendi น่าจะเป็นเพียงไม่กี่บริษัทบนโลกนี้ ที่ผ่านมาทั้งวิกฤติที่เกิดขึ้นในบริษัทของตัวเอง รวมถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทั่วโลกมายาวนานกว่า 167 ปี
จากวันแรกที่ทำธุรกิจการประปาจนกลายมาเป็นธุรกิจสื่อบันเทิงในยุคนี้
ก็น่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับเราว่า เราต้องเตรียมพร้อม
สำหรับการ “ปรับตัว” เพื่อให้เรา “อยู่รอด” ต่อไปได้ในอนาคต นั่นเอง..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.