สรุปทิศทาง เศรษฐกิจปี 2021 ฉบับสมบูรณ์

สรุปทิศทาง เศรษฐกิจปี 2021 ฉบับสมบูรณ์

16 ก.พ. 2021
สรุปทิศทาง เศรษฐกิจปี 2021 ฉบับสมบูรณ์
ลงทุนแมน X KRUNGSRI EXCLUSIVE
2021 อีกปีที่ท้าทายกับสถานการณ์เศรษฐกิจภายใต้วิกฤติโควิด 19 ไม่แพ้ตอนวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 และ วิกฤติซับไพรม์ในปี 2008 ที่ทำให้นักธุรกิจ และนักลงทุนหลายๆ คนเจ็บหนัก
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบางคน ที่เห็นโอกาสในวิกฤติ จนสร้างการเติบโต หรือ ผลกำไรได้อย่างงดงาม
KRUNGSRI EXCLUSIVE บริการการให้คำปรึกษาทางเงิน สำหรับผู้ที่มีเงินฝากเงินลงทุน 5 ล้านบาทขึ้นไปกับธนาคารกรุงศรี จึงจัดสัมมนาพิเศษแบบ new normal ให้ลูกค้าคนสำคัญเข้าร่วมงานผ่านทางออนไลน์ “KRUNGSRI EXCLUSIVE Economic and Investment Outlook 2021” โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในและต่างประเทศมาวิเคราะห์ข้อมูลและให้มุมมอง เศรษฐกิจและการลงทุนทางการเงินในหลากหลายมิติ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจและวางกลยุทธ์ในปี 2021 นี้ได้
งานสัมมนาในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1) Global Economic Outlook 2021
เป็นการบรรยายภาพรวมเศรษฐกิจโลก และธีมการลงทุน
โดยคุณ Ben Powell ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนภาคเอเชียแปซิฟิก ของ BlackRock บริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่สุดในโลก
2) Thailand Economic Outlook 2021
บรรยายถึงภาพรวมและทิศทางเศรษฐกิจไทย โดย
ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
และ ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
-Global Economic Outlook 2021
คุณ Ben Powell มองว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จากวิกฤติโควิด 19 จะเหมือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมรุนแรง มากกว่าจะเป็นวิกฤติทางการเงิน
เพราะในภาพรวมเศรษฐกิจ จะฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว ต่างจาก วิกฤติทางการเงิน ที่สถาบันการเงินเจ็บหนัก และเศรษฐกิจอาศัยเวลาฟื้นตัวนานกว่า
ซึ่งการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง จะเป็นตัวกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
และคาดว่าเศรษฐกิจโลก จะกลับมาใกล้เคียง หรือระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด ในช่วงกลางปีนี้
โดยธีมการลงทุนในมุมมองของ BlackRock ในปีนี้ จะมีหลักๆ 3 อย่าง

1) The New Nominal
ตอนนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกันทั่วโลก
และในบางประเทศมีอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบด้วยซ้ำ
ซึ่งคาดว่าธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จะยังคงกดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำอยู่ไปสักระยะ
เพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่ก่อน
ในขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายการคลัง คือ รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่าง สหรัฐฯ ที่เพิ่งประกาศงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่กว่า 57 ล้านล้านบาท
ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงิน จากธนาคารกลาง ที่กดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ และเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบ
ตามมาด้วยสัญญาณการเพิ่มขึ้น ของอัตราเงินเฟ้อ
ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real yield) ที่คำนวณจาก อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตร หักด้วย อัตราเงินเฟ้อ
ยิ่งน้อยลงไปอีก หรืออาจถึงขั้นติดลบได้
BlackRock จึงปรับนโยบายการลงทุน โดยลดสัดส่วนของตราสารหนี้ลง เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
และเพิ่มสัดส่วนในหุ้น และ ตราสารหนี้ที่ชดเชยเงินเฟ้อ (TIPS) เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวม
โดยในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ BlackRock มองว่าน่าลงทุนและให้สัดส่วนในพอร์ตเยอะ คือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และ สุขภาพ (Health care)
เพราะยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตได้ดี และอนาคตสดใสอยู่
อีกทั้งยังมองว่า ใน 6-12 เดือนนี้ นักลงทุนเต็มใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เพื่อแสดงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น
2) Globalization Rewired
บรรยากาศการค้าโลก มีแนวโน้มกลับมาคึกคักอีกครั้ง
หลังจากที่ โจ ไบเดน เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เกิดการเจรจา และค้าขายระหว่างประเทศราบรื่นมากขึ้น
ในขณะที่ปี 2020 ที่ผ่านมา กิจกรรมการค้าโลก ก็ฟื้นตัวเร็วกว่าที่ BlackRock คาดการณ์ไว้มาก
โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุด
เพราะควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้ดี และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น และคาดว่าจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกในอีกไม่นาน
ซึ่ง World Bank คาดว่าในปีนี้ GDP ของจีน จะโตถึง 7.9%
ด้วยมุมมองที่สดใสของเศรษฐกิจจีน ทำให้ช่วงที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบการลงทุนโดยตรง (FDI) และตลาดหุ้น
การเข้าลงทุนในสินทรัพย์จีน จึงเป็นอีกหัวใจหลัก ของการลงทุนทั่วโลกตอนนี้
ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
รวมถึงเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน ในประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ
นอกจากจีนแล้ว กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets)
ก็กลายเป็นอีกเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก
แต่ต้องดูเป็นรายประเทศไป ไม่ใช่ทุกประเทศจะน่าลงทุน
โดยนักลงทุนจะชอบประเทศที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง และค่าเงินมีเสถียรภาพ
เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย และมาเลเซีย
สรุปแล้ว ทั้งสหรัฐฯ และเอเชีย จะเป็นกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนตลาดทุนโลกต่อไป
3) Turbocharged Transformations
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความเท่าเทียม ยิ่งรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์โควิด
เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวในรูปแบบ K Shape
คือ คนรวย จะฟื้นตัวเร็ว และยิ่งรวยขึ้น
ในขณะที่คนจน นอกจากจะจนลงแล้ว ยังฟื้นตัวช้ากว่า
ซึ่งแต่ละประเทศต้องรีบเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนจริงๆ
เช่น ปรับปรุงกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ในขณะเดียวกันโควิด ก็เร่งทำให้พฤติกรรมของผู้คนเข้าหาโลกออนไลน์กันมากขึ้น
เห็นได้จากการเติบโตของธุรกิจวิดีโอสตรีมมิง และชอปปิ้งออนไลน์ เป็นต้น
แต่ธุรกิจรูปแบบเดิมๆ เช่น ร้านค้าปลีก และศูนย์การค้า ที่มีหน้าร้านจริง กลับยิ่งซบเซา
ทั้งนี้ ต่อไปเทรนด์ของการลงทุน จะไหลเข้าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน หรือ ESG เพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เป็นต้น
-Thailand Economic Outlook 2021
ในปี 2020 ที่ผ่านมา แบงก์ชาติประเมินว่า GDP ของประเทศไทย จะหดตัว -6.6% ซึ่งใกล้เคียงตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง
โดยได้รับปัจจัยลบมาจาก ภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ หายไปจาก 40 ล้านคน ในปี 2019 เหลือเพียง 6.7 ล้านคน ในปี 2020
การส่งออก ที่สะดุดลง เพราะซัพพลายเชนโลกหยุดชะงัก
การบริโภค และลงทุนภาคเอกชน ที่หดตัวในช่วงการล็อกดาวน์
แต่ประเทศไทยได้รับปัจจัยบวกจาก
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งนโยบายการคลังและการเงิน ที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ไม่ให้บาดแผลลึกเกินไป
ส่วนในปี 2021 นี้ แบงค์ชาติประเมินว่า GDP ไทยจะโต 3.2%
ในขณะที่กรุงศรี คาดว่าจะเติบโต 2.5% หลังหักผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่
ซึ่งที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะ ไม่เลวร้ายเหมือนปีก่อน และมีการขยายตัว เป็นเพราะ
ไทยไม่ได้มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ มีเฉพาะมาตรการควบคุมเฉพาะพื้นที่
และภาครัฐ มีการออกมาตรการควบคุมและช่วยเหลือต่างๆ ได้ตรงจุด อย่างรวดเร็ว กว่าที่ผ่านมา
เพราะมีข้อมูล และประสบการณ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดในระลอกแรก
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงไม่เป็นวงกว้างเหมือนในปีก่อน
นอกจากนี้ การส่งออกไทย ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 45% ของ GDP (ของปี 2019)
ยังมีแนวโน้มขยายตัว จากอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
และสินค้าส่งออก ที่คิดเป็นสัดส่วนมากสุดของไทย คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์
ยังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ของผู้บริโภคในตลาดโลก
โดยผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในต่างประเทศ ต้องการรถยนต์ส่วนตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ
รวมถึงผู้บริโภคในหลายประเทศ ที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อทำงานที่บ้าน
ดังนั้น การส่งออก จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ซึ่งในระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการไทยแล้ว
ตลาดเอเชีย อาจมีความน่าสนใจกว่า ตลาดในแถบตะวันตก
ถึงแม้รายได้เฉลี่ยต่อหัวจะต่ำกว่า แต่ชาวเอเชีย มีอัตราการเติบโตของรายได้สูงกว่า ชาวตะวันตก
ทำให้มีอัตราการบริโภคที่เติบโตเร็วกว่า ซึ่งเป็นอีกโอกาสของผู้ประกอบการไทย
ส่วนความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในปีนี้ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
คือ เรื่องของการกลายพันธุ์ของเชื้อ และความยืดเยื้อของการแพร่ระบาด
รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีน จะทั่วถึงครบทุกคนเมื่อไร
เพราะสิ่งเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านการท่องเที่ยวและเปิดประเทศโดยตรง ว่าจะกลับมาเร็วแค่ไหน ซึ่งการท่องเที่ยว ก็เป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ
โดย รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็น 12% ของ GDP (ของปี 2019)
ทั้งนี้ ในภาพรวมเศรษฐกิจไทย ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังฟื้นตัว
แต่การฟื้นในแต่ละอุตสาหกรรม จะไม่เท่ากัน
อย่างภาคการผลิต ก็เห็นตัวเลขสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน
ในขณะที่ภาคบริการ โดยเฉพาะ ธุรกิจโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร ยังไม่ฟื้นตัว และเจอความท้าทายอยู่
ที่สำคัญธุรกิจเหล่านี้ เป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานค่อนข้างเยอะ
ซึ่งแรงงานจำนวนมากนี้ ก็อาจถูก Layoff และขาดรายได้
จนส่งผลกระทบต่อ การบริโภคภายในประเทศ ในที่สุด
ดังนั้น คาดว่า การบริโภคในปีนี้ จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า ช่วงก่อนโควิด
และภาพรวมเศรษฐกิจไทย จะฟื้นคืนสู่จุดเดิมได้ ในปีหน้า
ปิดท้าย ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ แบงก์ชาติ ได้ย้ำว่า
ประเทศไทย และ ภาคธุรกิจ ต้อง Transform ตัวเองครั้งใหญ่ ณ ตอนนี้
เพราะหลังจากเหตุการณ์โควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะเปลี่ยนไปตลอดกาลถึงระดับโครงสร้าง
ไม่ว่าจะเป็น การนำระบบ Automation หรือ AI มาใช้งานกันมากขึ้น
รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่เริ่มจะมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย
การค้าออนไลน์ และกิจกรรมบนโลกดิจิทัล ที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น
ประเทศไทย และ ภาคธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญกับ นวัตกรรม และการรีสกิลของแรงงาน
เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และก้าวไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.