Elon Musk บุคคลแห่งศตวรรษ

Elon Musk บุคคลแห่งศตวรรษ

31 มี.ค. 2017
เมื่อวานนี้ SpaceX ของ Elon Musk ประสบความสำเร็จในการนำจรวดที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการพลิกโฉมของประวัติศาสตร์การขนส่งทางอวกาศเลยทีเดียว Elon Musk เป็นใคร ทำไมทุกคนถึงยกย่องให้เขาเป็น Tony Stark หรือ Iron Man ตัวจริงบนโลกนี้
Elon Musk ประกาศว่าเขาจะเปลี่ยนความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ โดยเป้าหมายของเขาคือลดโลกร้อนผ่านการใช้พลังงานสะอาด และลดความเสี่ยงในการสูญพันธ์ของมนุษย์โดยตั้งอาณานิคมที่ดาวอังคาร จากเป้าหมายที่ดูเพ้อฝันของเขาเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการปฏิวัติการใช้พลังงานของโลก
จากข้อมูลวิกีพีเดีย เรามาดูโครงการของเขาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกัน
ปี 1995 เขาได้ตั้งบริษัทซอฟท์แวร์ Zip2 และขายบริษัทให้ Compaq ได้เงิน 770 ล้านบาท ในปี 1999
ปี 1999 เขาเอาเงินที่ได้ไปตั้งบริษัท Paypal ระบบโอนเงินออนไลน์ และขายบริษัทให้ eBay ได้เงิน 5,775 ล้านบาท ในปี 2002
ปี 2002 เขาเริ่มไอเดียที่จะไปดาวอังคาร แต่มาพบว่าราคาจรวดแพงเกินไป และเขาน่าจะทำจรวดเองที่ถูกกว่าได้ เขาคำนวณว่าจรวดมีต้นทุนแค่ 3% ของราคาขาย และราคาขายน่าจะลดได้ถึง 10 เท่า เขาจึงได้ตั้งบริษัท SpaceX เพื่อทำจรวดเอง
ปี 2004 เขาเริ่มลงทุนในหุ้น Series A ของ Tesla บริษัทผลิตรถไฟฟ้าที่ขับด้วยตัวเอง และ แบตเตอรี่ เขามองว่าอนาคตรถจะเปลี่ยนการใช้พลังงานจากน้ำมันที่มีประสิทธิภาพเผาไหม้ต่ำกว่า เป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งได้จากแบตเตอรี่
ปี 2006 เขาช่วยก่อตั้ง SolarCity ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์อันดับ 1 ของอเมริกา
ปี 2008 จรวดของ SpaceX ลำแรกนำดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ
ปี 2012 SpaceX เป็นจรวดของเอกชนรายแรกที่ได้ขนอุปกรณ์ขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ
ปี 2013 เขานำเสนอไอเดียของ Hyperloop การขนส่งแบบใหม่ที่ข้างในท่อเป็นสูญญากาศ ซึ่งจะทำให้วิ่งเร็วเท่าเสียงที่ 1,200 กม./ชม. เร็วกว่า เครื่องบินที่ 900 กม./ชม. และรถไฟที่ 200 กม./ชม.
ปี 2015 SpaceX นำจรวดกลับมาที่ฐานได้สำเร็จ ปกติแล้วจรวดจะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งลงทะเล เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จรวดจะบินกลับเข้ามาที่ฐานเอง
ปี 2016 รถไฟฟ้า Tesla รุ่น Model3 สามารถตั้งราคาขายในราคาที่ถูกมากใกล้เคียงกับรถใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง และมียอดจอง 325,000 คันใน 1 สัปดาห์ นับเป็นสินค้าที่ขายตอนเปิดตัวได้มากสุดในประวัติศาสตร์โลก (มากกว่า iphone)
ปี 2017 บริษัทสัญชาติจีน Tencent เจ้าของ social media ที่ใหญ่สุดในจีน และเป็นบริษัทที่ใหญ่สุดในเอเชีย ประกาศซื้อหุ้น 5% ของ Tesla และกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 5 ของ Tesla ด้วยเหตุผลคือชอบในตัวผู้บริหารคือ Elon Musk
ปี 2017 เขาช็อควงการ AI ด้วยการตั้งบริษัท Neuralink เพื่อที่จะเชื่อมสมองมนุษย์กับหุ่นยนต์! โดยเขาคิดว่าต่อไปคนจะไม่จำเป็นต้องสั่งงานจากโทรศัพท์มือถือ แต่สั่งงานโดยตรงจากสมองของเรา
ปี 2017 เมื่อวานนี้ SpaceX นำจรวดที่เคยใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ส่งดาวเทียมขึ้นอวกาศได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนไปอวกาศได้มหาศาล
ตอนนี้ SpaceX ถือว่าเป็นบริษัทผลิตจรวดใหญ่ที่สุดในโลก โดย Elon Musk ตั้งเป้าไว้ว่าจะส่งมนุษย์ไปดาวอังคารได้ภายใน 14 ปีนี้ และอยากตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารในอีก 23 ปี โดยมีคนที่อยู่บนดาวอังคาร 80,000 คน
แต่ดาวอังคารไม่มีบรรยากาศ ไม่มีออกซิเจนช่วยในการเผาไหม้เหมือนบนโลก ดั้งนั้นการขนส่งบนนั้นจะเป็นรูปแบบไฟฟ้า คือ รถยนต์ รถไฟ Hyperloop เครื่องบิน จะใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจที่เขาเป็นเจ้าของอยู่
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละโครงการที่ Elon Musk ทำมาเป็นสิ่งที่บ้าพลัง กล้าที่จะคิดต่าง และมีความฝันที่อยากเปลี่ยนแปลงโลกชัดเจน นอกจาก Steve Jobs ที่เสียชีวิตไปแล้ว Elon Musk น่าจะเป็นบุคคลที่ประวัติศาสตร์โลกต้องบันทึกเอาไว้อีกคนหนึ่ง
หวังว่าเรื่องนี้คงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ยังไม่มีความฝัน ซึ่งคงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้เหมือน Elon Musk
เคล็ดลับของ Elon Musk ในการวัดความสำเร็จของคนมี 2 มิติ คือ
1) ขนาดของการเปลี่ยนแปลง
2) จำนวนคนที่ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าขนาดของการเปลี่ยนแปลงที่น้อย แต่ถ้าเราทำให้คนได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก ก็ถือว่าสำเร็จเช่นกัน หรือถ้าการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อคนๆเดียวแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากสำหรับคนนั้นก็ถือว่าดี แต่จะให้ดีสุดคือ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และส่งผลต่อทุกคนบนโลก ซึ่งตัวอย่างก็คือ iphone Facebook และ SpaceX
วิดีโอในนี้ https://www.facebook.com/longtunman/videos/134118190454131/ สนุกมากครับอย่างกับในหนังฮอลลีวู้ด เป็นการปล่อยจรวด SpaceX เพื่อนำดาวเทียมขึ้นอวกาศ จรวดปล่อยดาวเทียมสำเร็จในวิดีโอนาทีที่ 1.35 และจรวดจุดเชื้อเพลิงใหม่ในนาทีที่ 2.12 เพื่อบินย้อนกลับมาที่ฐาน (ขอบคุณวิดีโอจาก National Geographic)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.