ไทยไม่มี แต่อินโดมี E-Commerce ที่เป็นยูนิคอร์น ชื่อ Bukalapak

ไทยไม่มี แต่อินโดมี E-Commerce ที่เป็นยูนิคอร์น ชื่อ Bukalapak

20 ก.พ. 2021
ไทยไม่มี แต่อินโดมี E-Commerce ที่เป็นยูนิคอร์น ชื่อ Bukalapak /โดย ลงทุนแมน
ปัจจุบัน ธุรกิจสตาร์ตอัป เป็นธุรกิจที่กำลังมาแรง
และมีบทบาทอย่างมากในแวดวงธุรกิจ
และถ้าพูดถึงประเทศใกล้ๆ ไทย ที่มีสตาร์ตอัป ระดับยูนิคอร์นอยู่หลายตัว
ก็คงต้องพูดถึง ประเทศอินโดนีเซีย
วันนี้ ลองมาทำความรู้จักกับ “Bukalapak”
หนึ่งในสตาร์ตอัป ระดับยูนิคอร์นของประเทศอินโดนีเซีย
ที่ทำธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ
Bukalapak มีโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร
แล้วแตกต่างจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน
ทำให้ตลาดผู้บริโภคในอินโดนีเซียมีขนาดที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก
เมื่อมีประชากรจำนวนมาก
ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคก็มากขึ้นตามไปด้วย
ทำให้ อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่มีร้านค้าปลีกเล็กๆ อยู่มากมาย
แต่แน่นอนว่า ในอินโดนีเซีย ก็มีร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในตลาด
ไม่ว่าจะเป็น Indomaret ที่มีสาขาร้านสะดวกซื้อมากกว่า 15,000 แห่ง
หรือ Alfamart ที่มีสาขากว่า 10,000 แห่ง ทั่วอินโดนีเซีย
การมีร้านค้าปลีกรายใหญ่อยู่ในตลาด
ส่งผลให้ร้านค้าปลีกรายเล็กๆ ยากที่จะแข่งขันได้
เรื่องนี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “Bukalapak”
Bukalapak ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนที่เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน
คือ คุณ Achmad Zaky, คุณ Fajrin Rasyid และ คุณ Nugroho Herucahyono
โดยความหมายของคำว่า Bukalapak ในภาษาอินโดนีเซียมีความหมายประมาณว่า “เปิดแผงขายของ”
จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ มาจาก คุณ Achmad Zaky สังเกตเห็นว่าในจังหวัดบ้านเกิดของเขามีร้านค้าปลีก หรือร้านขายของชำเล็กๆ อยู่จำนวนมาก
ซึ่งร้านเล็กๆ เหล่านี้ ยังมีวิธีการขายแบบเดิมๆ คือรอให้คนเดินมาเข้าร้าน
ซึ่งนับวันก็จะยิ่งสู้กับรายใหญ่ในตลาดอย่าง Indomaret และ Alfamart ได้ยาก
ในช่วงปี 2010 เป็นช่วงที่คนทั่วไป สามารถเข้าถึงสมาร์ตโฟน และอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น
คุณ Achmad Zaky และเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน จึงได้ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะมาช่วยให้ร้านขายของชำเล็กๆ เหล่านี้ สามารถขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขาได้ โดยที่พวกเขาจะรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขาย ระหว่างผู้บริโภค และร้านขายของชำ
แต่แน่นอนว่าในขณะนั้น ก็มีผู้เล่นรายใหญ่
ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียก่อนแล้ว
นั่นก็คือ Tokopedia ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2009
แม้ว่า Bukalapak จะเข้าสู่ตลาดนี้ ตามหลัง Tokopedia 1 ปี
แต่ด้วยยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ต และสมาร์ตโฟนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
จึงทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียเติบโตขึ้นอย่างมาก
ซึ่งก็ส่งผลให้ Bukalapak เติบโตล้อไปกับเทรนด์ด้วย
และด้วยการมีเป้าหมายที่จัดเจนในการทำธุรกิจ นั่นก็คือการโฟกัสที่จะช่วยเหลือร้านค้ารายย่อยให้สามารถก้าวสู่การขายของบนโลกออนไลน์ได้
ทำให้ไอเดียธุรกิจของพวกเขาเป็นที่สนใจของนักลงทุนหลายคน หลายสถาบัน
และพวกเขาก็สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ ภายในปีแรกที่ก่อตั้งธุรกิจ
หลังจากนั้น พวกเขาก็เริ่มเดินเข้าไปหาร้านค้าให้มาใช้แพลตฟอร์มของพวกเขา
โดยการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ เกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ กับร้านค้ารายย่อยในแต่ละเมืองแบบฟรีๆ
ซึ่งการออกเดินสายจัดงานสัมมนาของพวกเขา
ก็สามารถดึงดูดให้ร้านค้ารายย่อย และผู้ใช้งานเข้ามาใช้แพลตฟอร์มของพวกเขามากยิ่งขึ้น
จนปัจจุบัน Bukalapak เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร
และไม่ได้มีแค่การขายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันเท่านั้น
แต่ยังมีการให้บริการธุรกรรมออนไลน์อื่นๆ เช่น จองตั๋วเครื่องบิน หรือ เติมเงินโทรศัพท์
และยิ่งในปีที่ผ่านมา ที่เกิดการระบาดของโควิด 19
ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้คนทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ และซื้อของผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น
ซึ่งก็ยิ่งทำให้ Bukalapak เติบโตได้มากขึ้นไปอีก
โดยทาง Bukalapak เปิดเผยข้อมูลว่า
ยอดการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขาในปี 2020 เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า มากถึง 130%
ปัจจุบัน Bukalapak ถูกประเมินมูลค่ากิจการล่าสุดไว้มากกว่า 75,000 ล้านบาท
ซึ่งถือเป็นสตาร์ตอัป ระดับยูนิคอร์น (สตาร์ตอัปที่มีมูลค่ากิจการมากกว่า 30,000 ล้านบาท)
นอกจากนั้น ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา
ก็มีข่าวว่า Microsoft บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ
ก็ได้ลงทุนใน Bukalapak ด้วยเงิน 3,000 ล้านบาทอีกด้วย
เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ที่ทำให้ได้เห็นว่า ไอเดียธุรกิจที่สร้างมูลค่าได้มหาศาล บางทีมันก็ถูกซ่อนอยู่รอบตัวเรา
เพียงแต่ต้องสังเกตให้ดี และสร้างบริการที่ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้นให้ได้
เหมือนที่คุณ Achmad Zaky มองเห็นว่าในอินโดนีเซีย มีร้านค้าปลีกเล็กๆ มากมาย
ซึ่งเขาและผู้ร่วมก่อตั้ง อยากจะช่วยให้ร้านเล็กๆ เหล่านั้น
สามารถเอาของมาขายบนโลกออนไลน์ได้
จนสุดท้าย ไอเดียนี้ของเขา ก็กลายมาเป็น “Bukalapak”
ธุรกิจสตาร์ตอัปด้านอีคอมเมิร์ซมูลค่า 75,000 ล้านบาท
ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สตาร์ตอัปยูนิคอร์น ของประเทศอินโดนีเซีย ในตอนนี้..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.