เส้นทางธุรกิจ BGC จากผู้ผลิตขวดแก้วสู่ Total Packaging Solutions

เส้นทางธุรกิจ BGC จากผู้ผลิตขวดแก้วสู่ Total Packaging Solutions

25 ก.พ. 2021
เส้นทางธุรกิจ BGC จากผู้ผลิตขวดแก้วสู่ Total Packaging Solutions
BGC x ลงทุนแมน
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มี High Barrier to Entry หรือมีข้อจำกัดในการเข้าแข่งขันสูงสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ
เพราะต้องใช้ทั้งประสบการณ์และเงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนมาก
เลยทำให้มีผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในปัจจุบัน
และถ้าพูดถึงธุรกิจนี้ หนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง
คงจะเป็น บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ในไทยและภูมิภาคอาเซียน
เส้นทางธุรกิจของ BGC นั้น เริ่มจากการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วป้อนให้กับบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่างเครือบุญรอดบริวเวอรี่
ก่อนจะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์แก้วสำหรับเบียร์, เครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ (Soft Drink), อาหาร, ยาฆ่าแมลงและยา รวมถึงขวดประเภทอื่น ๆ อย่างสุรา ไวน์ และเครื่องดื่มให้พลังงาน
จนกระทั่งสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา
และยังได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่ A- ด้วยแนวโน้มคงที่หรือ Stable จากทริสเรทติ้ง
แต่เพราะการทำธุรกิจไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่
หลังบริษัทฯ เข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเมื่อปีที่ผ่านมา
ในปีนี้ BGC เตรียมเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจหลักอย่างบรรจุภัณฑ์แก้ว
ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ ‘Bringing Good Value to Everyone Everyday’ หรือการเป็นผู้นำที่ส่งคุณค่าสู่ทุกคน ในทุกวัน ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ภายใต้พันธกิจที่จะส่งมอบคุณค่าสู่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน รวมถึงสังคมและโลกของเรา
อีกทั้งด้วยโมเดลธุรกิจที่มุ่งสู่การเป็น Total Packaging Solutions หรือผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
ด้วยกลยุทธ์การควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) ซึ่งจะสามารถสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว (Inorganic Growth)
โดยเน้นการควบรวมแนวตั้ง (Vertical Integration) หรือลงทุนในบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เดียวกับบรรจุภัณฑ์แก้ว เพื่อให้ธุรกิจมีความครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิตฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม ไปจนถึงกล่องกระดาษลูกฟูก
โดย BGC มีแผนเข้าลงทุนล็อตแรกใน 2 บริษัท รวมเป็นเงินลงทุนประมาณ 1,650 ล้านบาท
- บจ.บีจี แพคเกจจิ้ง (BGP) ผู้ผลิตฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET และหลอดพรีฟอร์ม (เข้าซื้อ 100%)
- บจ.บางกอกบรรจุภัณฑ์ (BVP) ผู้ผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก มีกำลังการผลิตประมาณ 5 หมื่นตันต่อปี (เข้าซื้อ 100%)
ที่น่าสนใจคือจากเดิมที่ BGC มีขายเฉพาะขวดแก้ว
ต่อไปจะมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากบริษัทลูกไปนำเสนอบริการแบบครบวงจร (One stop service) ทำให้มีโอกาสสร้างยอดขายและรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การ M&A ยังทำให้ธุรกิจของ BGC มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้นด้วย
เพราะจากเดิมที่โครงสร้างรายได้กว่า 95% มาจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว
แต่ภายใน 5 ปีนับจากนี้ บริษัทฯ วางแผนปรับโครงสร้างรายได้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วให้อยู่ที่ 55%
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ 40% และธุรกิจพลังงาน 5%
ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง ไม่ให้บริษัทพึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากเกินไป
สำหรับผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมา BGC มีกำไรสุทธิ 516 ล้านบาท
ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ทำได้ 512 ล้านบาท
แม้ว่ารายได้จากการขายจะอยู่ที่ 10,968 ล้านบาท
ลดลงเล็กน้อยจากปี 2562 ที่มีรายได้จากการขาย 11,252 ล้านบาท
โดยในปีนี้ BGC คาดว่าจะเติบโตแบบ Double-digit ประมาณ 35%
สอดคล้องกับภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วที่น่าจะกลับมาเติบโตตามระดับการอุปโภคบริโภคที่เริ่มฟื้นตัว
โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เราได้เห็น ไม่ว่าบริษัทจะมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน
หรือครองส่วนแบ่งการตลาดมากแค่ไหน แต่การขยายธุรกิจยังเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
เช่นเดียวกับเส้นทางของ BGC ที่เริ่มต้นจากการผลิตขวดแก้วป้อนเข้าสู่ Supply Chain ของเครือบุญรอด
จนกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้
จากนั้นก็พร้อมยกระดับธุรกิจสู่การเป็น Total Packaging Solutions ในปัจจุบัน
Tag: BGC
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.