รู้จัก Reflation หนึ่งในปัจจัย ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น

รู้จัก Reflation หนึ่งในปัจจัย ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น

3 มี.ค. 2021
รู้จัก Reflation หนึ่งในปัจจัย ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น / โดย ลงทุนแมน
การระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้
สร้างความบอบช้ำอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
แต่หลายคนคงแปลกใจว่า เศรษฐกิจไม่ดีแต่ทำไม ราคาสินทรัพย์หลายอย่างทั่วโลกกลับพุ่งสูงขึ้นทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น
ถ้าลองมาดูราคาและดัชนีเหล่านี้ เทียบกับช่วงต้นปี 2019
- ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นประมาณ 23%
- ดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้นประมาณ 47%
- ราคาทองคำ เพิ่มขึ้นประมาณ 18%
- ราคา Bitcoin เพิ่มขึ้นประมาณ 400%
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เราสามารถหยิบเอาปรากฏการณ์ “Reflation” ขึ้นมาใช้อธิบายได้
Reflation คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์หลายอย่างนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปกติแล้ว ถ้าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า
หรือที่เรียกว่า การเกิดภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)
แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ อย่างเช่นวิกฤติโควิด 19 ในตอนนี้
ที่ทำให้ต่างคนต่างไม่กล้าใช้เงินเหมือนเดิม
สิ่งที่เราเห็นกันคือ ผู้คนเริ่มระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
หรือภาคธุรกิจไม่กล้าลงทุน เพราะต้องการถือเงินสดเอาไว้
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง
จนบางครั้งเงินเฟ้ออาจติดลบ หรือที่เรียกว่าเกิดภาวะเงินฝืด (Deflation)
ซึ่งจะฉุดให้เศรษฐกิจโลกไม่เติบโต หรือเติบโตได้ช้าลง
เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ หน้าที่ของธนาคารกลางทั่วโลก
คือต้องออกมาตรการกระตุ้น เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และกลับมาเติบโตต่อไปได้
โดยสิ่งที่ธนาคารกลางทำได้ก็คือ
1. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจ
2. ทำการอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า การทำ Quantitative Easing (QE)
ช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นธนาคารกลางทั่วโลก
ต่างลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนเข้าใกล้ระดับ 0%
เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจ
และลดผลตอบแทนเงินฝาก เพื่อกระตุ้นให้คนนำเงินไปใช้กันให้มากขึ้น
ที่สำคัญที่สุดคือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ
หรือที่เรียกว่า การทำ Quantitative Easing (QE)
ที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังทำกันอย่างหนัก
ลองมาดูการทำ QE ของธนาคารกลาง 4 รายใหญ่ของโลกในช่วงระหว่างปี 2020
ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19
ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ทำ QE เพิ่มขึ้น 93 ล้านล้านบาท
ธนาคารกลางยุโรปทำ QE เพิ่มขึ้น 87 ล้านล้านบาท
ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำ QE เพิ่มขึ้น 39 ล้านล้านบาท
ธนาคารกลางอังกฤษทำ QE เพิ่มขึ้น 9 ล้านล้านบาท
โดยวิธีการดังกล่าว ธนาคารกลางจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ทั้งของภาครัฐและเอกชน
แล้วหน่วยงานเหล่านั้น ก็จะนำเงินไปกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริงต่อไป
เพื่อหวังให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้น และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ในระบบเศรษฐกิจ
การกระทำทั้งหมดที่ว่ามานี้
ก็เพื่อเร่งให้เศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อกลับเข้าไปสู่เส้นทางการเติบโตระยะยาว
ซึ่งการที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้น
เพราะการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก
เพื่อหวังให้เศรษฐกิจกลับสู่การเติบโตในระยะยาวแบบนี้
ก็คือความหมายของการเกิด “Reflation” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า เงินที่อัดฉีดทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เพราะเงินจำนวนไม่น้อยกลับไหลเข้าไปยังสินทรัพย์ทั่วโลกมากขึ้น
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า การอัดฉีดเงินเข้าระบบจำนวนมาก
ทำให้ค่าของเงินสกุลนั้นอ่อนค่าลง
อย่างเช่นกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำ QE ในปริมาณมหาศาล
เมื่อรวมกับ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางการคลัง
ด้วยการอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19
จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงไปอย่างมาก จากต้นปี 2019 เมื่อไปเทียบกับเงินสกุลเงินสำคัญต่างๆ ของโลก
ประเด็นก็คือ ในปัจจุบันมีคนถือเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่จำนวนมาก
เพราะดอลลาร์สหรัฐถือเป็นเงินสกุลหลักของโลก
ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนที่ถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ เสมือนกำลังถือสินทรัพย์ที่มีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ นักลงทุนจึงต้องมองหาสินทรัพย์อื่น
ที่จะเอาเงินไปลงทุน เพื่อชดเชยกับการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นอ่อนค่าลง
ซึ่งสินทรัพย์อื่นที่ว่านั้น ก็อย่างเช่น หุ้น, ทองคำ หรือแม้กระทั่ง Bitcoin
ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้สินทรัพย์เหล่านี้ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง
- ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นประมาณ 23%
- ดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้นประมาณ 47%
- ราคาทองคำ เพิ่มขึ้นประมาณ 18%
- ราคา Bitcoin เพิ่มขึ้นประมาณ 400%
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้
แม้จะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง
แต่คำถามสำคัญคือ การปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์เหล่านั้น
มาจากปัจจัยพื้นฐาน หรือผลประกอบการที่แท้จริงมากแค่ไหน
หรือว่าจริงๆ แล้ว มันเกิดจากสภาพคล่องที่ล้นตลาดจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบ
เพราะถ้าวันหนึ่ง ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
รัฐบาลหลายประเทศจะต้องลดการใช้จ่ายเงินลง
และธนาคารกลางหลายประเทศก็จะต้องหยุดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ
เมื่อเวลานั้นมาถึง ก็น่าติดตามเหมือนกันว่า
ในตอนนั้น ราคาสินทรัพย์เหล่านี้
จะยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนช่วงที่ผ่านมา ได้หรือไม่ ? ..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.