สรุปภาพรวม อุตสาหกรรม “กองทุนรวม” ในประเทศไทย

สรุปภาพรวม อุตสาหกรรม “กองทุนรวม” ในประเทศไทย

16 มี.ค. 2021
สรุปภาพรวม อุตสาหกรรม “กองทุนรวม” ในประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า กองทุนรวมกองแรกในประเทศไทย
เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ 44 ปีที่แล้ว
และตลอดเวลาที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกองทุนรวม
มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก
จนวันนี้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมทั้งหมดในประเทศไทย
คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศไทยแล้ว
แล้วอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย เติบโตแค่ไหน ในช่วงที่ผ่านมา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)
กองทุนรวมกองแรกของไทย คือ “กองทุนสินภิญโญ” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2520
ที่มีผู้ดูแลกองทุนคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี
ด้วยขนาดกองทุน 100 ล้านบาท และมีอายุโครงการ 10 ปี
หลังจากนั้นมา กองทุนรวม ก็ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ในฐานะทางเลือกในการลงทุน ของนักลงทุนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในไทย
แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย เกิดขึ้นในปี 2544
เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้น มีมติให้จัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
หรือ Retirement Mutual Fund (RMF)
โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อ ส่งเสริมให้คนไทยให้ความสำคัญกับการออมระยะยาว โดยสร้างแรงจูงใจให้คนอยากลงทุนใน RMF ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน
หลังจากกองทุน RMF ก่อตั้งมาได้ 3 ปี
ในปี 2547 กองทุนรวมหุ้นระยะยาว
หรือ Long-Term Equity Fund (LTF) ก็ถูกจัดตั้งตามมา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ ส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้น พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่คนที่ซื้อกองทุน LTF
แต่ปัจจุบัน ทางรัฐบาลได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนในกองทุน LTF แล้ว แม้ว่า เรายังสามารถลงทุนในกองทุน LTF ได้ก็ตาม
โดยที่มีการจัดตั้งกองทุน Super Saving Fund หรือ SSF ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ที่มีความยืดหยุ่นในการไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศของกองทุนมากขึ้น
และผู้ซื้อก็ยังได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีด้วย
ต้องบอกว่า กองทุนประหยัดภาษีทั้งกองทุน RMF และ LTF นับเป็นจุดเปลี่ยนและเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้คนไทยหันมาลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น
ถ้าลองมาดูมูลค่าสินทรัพย์ของทั้ง 2 กองทุน ตั้งแต่ปี 2547-2562
- มูลค่าสินทรัพย์ของ RMF เพิ่มขึ้นถึง 24 เท่า จากประมาณ 12,238 ล้านบาท มาอยู่ที่ 304,306 ล้านบาท
- มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน LTF ก็เติบโตระเบิด โดยเพิ่มขึ้นถึง 72 เท่าจากประมาณ 5,634 ล้านบาท มาอยู่ที่ 406,416 ล้านบาท
ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมทั้งหมดในไทย ตั้งแต่ปี 2547-2562
ก็เพิ่มขึ้นจาก 681,356 ล้านบาท มาเป็น 5,389,707 ล้านบาท
หรือเติบโตเกือบ 8 เท่า ในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา
ในปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
ที่ได้รับใบอนุญาต การจัดการกองทุนรวมในประเทศไทย ทั้งสิ้น 26 บริษัท
และมีจำนวนกองทุนรวมให้เลือกลงทุนได้มากกว่า 2,051 กองทุน
ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปในปี 2544 หรือปีแรกที่มีการจัดตั้ง RMF
ในตอนนั้น ยังมีจำนวนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในประเทศไทยอยู่เพียง 14 บริษัท
และมีจำนวนกองทุนในตลาดให้ลงทุนได้เพียง 285 กองทุนเท่านั้น
อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้ววันนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ไหนในประเทศไทย ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวม มากที่สุด 3 อันดับแรก ?
เรื่องนี้ ลงทุนแมนก็ไปค้นมาและพบว่า สิ้นปี 2563 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมมากสุด 3 อันดับแรกก็คือ
1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวม 1,111,625 ล้านบาท
2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวม 941,830 ล้านบาท
3. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวม 725,703 ล้านบาท
ซึ่งทั้ง 3 บลจ. นี้ มีสัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน
รวมกันแล้ว คิดเป็นประมาณ 52% ของมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมทั้งหมดในไทย
โดยทั้ง 3 รายนั้น เป็นบริษัทจัดการกองทุนรวม
ที่อยู่ในเครือ 3 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของประเทศไทย
คือ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ
แล้วผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นอย่างไร ?
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย
ปี 2561 รายได้รวม 8,276 ล้านบาท กำไร 2,810 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 8,269 ล้านบาท กำไร 2,843 ล้านบาท
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์
ปี 2561 รายได้รวม 6,394 ล้านบาท กำไร 1,377 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 6,355 ล้านบาท กำไร 1,492 ล้านบาท
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง
ปี 2561 รายได้รวม 4,804 ล้านบาท กำไร 1,529 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 4,855 ล้านบาท กำไร 1,598 ล้านบาท
เมื่อดูตัวเลขแล้วก็อาจบอกได้ว่า
ธุรกิจจัดการกองทุนรวม ก็น่าจะมีรายได้ที่แน่นอนในระดับหนึ่ง
ที่เป็นแบบนี้ ก็เนื่องมาจาก รายได้หลักของบริษัทจัดการกองทุนมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการบริหารจัดการ
ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ จะได้รับจากลูกค้าแน่นอน ไม่ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร แต่ก็อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามผลการดำเนินงานของแต่ละกองทุนในปีนั้น ๆ
และในอนาคต เมื่อคนไทยมีความรู้ทางการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ
ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะมีเม็ดเงินอีกมหาศาล
ที่จะไหลเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมกองทุนรวมมากขึ้นอีก..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน บริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ BlackRock Funds
ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมภายใต้การบริหารจัดการอยู่ประมาณ 261 ล้านล้านบาท
ซึ่งมูลค่านี้ใหญ่กว่ามูลค่า GDP ประเทศญี่ปุ่น เกือบเท่าตัว..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.