“Great Maple Syrup Heist” การโจรกรรมใหญ่สุด ในประเทศแคนาดา

“Great Maple Syrup Heist” การโจรกรรมใหญ่สุด ในประเทศแคนาดา

4 เม.ย. 2021
“Great Maple Syrup Heist” การโจรกรรมใหญ่สุด ในประเทศแคนาดา /โดย ลงทุนแมน
เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นที่ประเทศแคนาดา
เมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่ามีการโจรกรรมครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถูกขโมยกลับไม่ใช่เพชร, ทอง หรืออัญมณี แต่กลับเป็นน้ำเชื่อมเมเปิล
เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกเรียกว่า “Great Maple Syrup Heist” หรือ การโจรกรรมน้ำเชื่อมเมเปิล ที่สร้างมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการโจรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแคนาดา
นอกจากเรื่องราวของการโจรกรรมแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเกี่ยวโยงถึงการต่อสู้ทางความเชื่อในเรื่องระบบทุนนิยมอีกด้วย
แล้วเหตุการณ์โจรกรรมที่ว่านี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่านและนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในสมัยก่อนอุตสาหกรรมน้ำเชื่อมเมเปิล ซึ่งมีฐานการผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศแคนาดา อยู่ในภาวะซบเซา
เหตุผลเพราะว่าผู้ผลิตแต่ละรายในอุตสาหกรรม มักผลิตน้ำเชื่อมตามกำลังของตนโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ผลผลิตล้นตลาดจนทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดราคาลง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันให้อยู่รอดได้ในอุตสาหกรรม
แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันกันสูง ผู้ประกอบการหลายรายจึงต้องเลิกกิจการไป
ในขณะที่ผู้อยู่รอดก็ไม่สามารถสร้างกำไรอย่างยั่งยืนในระยะยาว
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เหล่าเจ้าของธุรกิจน้ำเชื่อมจึงเริ่มหาข้อตกลงร่วมกันผ่าน “สมาพันธ์ผู้ผลิตน้ำเชื่อมเมเปิล” หรือที่เรียกกันว่า FPAQ เพื่อลดการแข่งขัน และรักษาอุตสาหกรรมน้ำเชื่อมเมเปิล
โดยหน้าที่หลักของสมาพันธ์จะมีลักษณะคล้ายกับ OPEC หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน คือทำหน้าที่ในการกำหนดโควตาว่าผู้ผลิตแต่ละรายสามารถผลิตน้ำเชื่อมจำนวนปริมาณเท่าใดในแต่ละฤดูกาล
ปีไหนที่มีผลผลิตสูง น้ำเชื่อมจะถูกโอนถ่ายไปเก็บไว้ในคลังสำรองฉุกเฉิน
ปีไหนมีผลผลิตที่ต่ำ น้ำเชื่อมที่ถูกเก็บก็จะถูกปล่อยสู่ตลาด
ทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อต้องการรักษาราคาให้มีความเสถียรภาพ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อุตสาหกรรมน้ำเชื่อมเมเปิลกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง เพราะสามารถควบคุมราคาได้ โดยรัฐควิเบกในประเทศแคนาดา ถือเป็นแหล่งที่ผลิตสัดส่วนสูงที่สุด ซึ่งมากถึง 75% ของปริมาณยอดขายน้ำเชื่อมเมเปิลทั้งหมดบนโลก
แต่ดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้เป็นแบบนั้น..
หลังจากที่ FPAQ เริ่มใช้กฎและข้อบังคับแก่ผู้ผลิตน้ำเชื่อมเมเปิลที่อยู่ในรัฐควิเบก
โดยการห้ามค้าขายแก่ลูกค้าโดยตรง และไม่สามารถผลิตน้ำเชื่อมเกินโควตาที่กำหนด
สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ กฎเกณฑ์บทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
ซึ่งบางรายอาจโดนปรับเงินเป็นจำนวนสูงถึง 10 ล้านบาท
ด้วยอิสระที่ถูกจำกัดและบทลงโทษที่รุนแรง
จึงทำให้ผู้ผลิตบางรายเริ่มไม่พอใจและหันไปขายสินค้าในตลาดมืดแทน
หลังจากนั้น เหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้นก็ได้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จนในที่สุด ความไม่ลงรอยกันก็ได้นำไปสู่การต่อสู้ทางความเชื่อของผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝั่งคือ กลุ่มที่ต้องการเปิดตลาดเสรี และกลุ่มสมาพันธ์ผู้ผลิตน้ำเชื่อมเมเปิลที่ต้องการควบคุมตลาด
สุดท้าย เหตุการณ์โจรกรรมครั้งใหญ่สุดในแคนาดาก็เกิดขึ้น..
ในปี 2012 เมื่อทางสมาพันธ์ FPAQ เข้ามาเช่าโกดังสินค้า
ของคุณ Avik Caron เพื่อใช้เป็นที่สำรองเก็บถังน้ำเชื่อมเมเปิล
เจ้าของคลังสินค้าคนนี้ ก็ได้เห็นช่องว่างในการทำทุจริต
โดยวิธีการคือ การถ่ายโอนน้ำเชื่อม ไปสู่ถังบรรจุอื่น
ส่วนถังบรรจุน้ำเชื่อมเดิมจะถูกแทนที่ไปด้วยน้ำเปล่า
เมื่อคุณ Avik คิดแผนได้สำเร็จจึงติดต่อไปยังอีก 2 คน
คนแรกคือ คุณ Richard Vallières เป็นพ่อค้าตลาดมืด
คนถัดมาคือ คุณ Étienne St-Pierre ผู้ส่งออกน้ำเชื่อมเมเปิล ที่ไม่เห็นด้วยกับสมาพันธ์
ซึ่งทั้ง 2 คนนี้เป็นผู้ที่อยู่ฝ่ายที่ต้องการให้เกิดตลาดเสรี สำหรับอุตสาหกรรมน้ำเชื่อมมาโดยตลอด
และมักจะโดนจับตามองจากสมาพันธ์ FPAQ เป็นประจำ
เมื่อมีข้อเสนอจากเจ้าของคลังสินค้า ที่มีลูกค้าเป็นสมาพันธ์อยู่ในมือ
ทั้ง 2 คน จึงให้ความร่วมมือโดยไม่ลังเล
โดยหน้าที่ของคุณ Richard คือ การจัดหาลูกค้ามารับซื้อสินค้า
ในขณะที่คุณ Étienne ทำหน้าที่ในการส่งออกไปสู่ประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป
สุดท้ายแผนการโจรกรรมก็ประสบความสำเร็จ
โดยผู้สมรู้ร่วมคิดทั้ง 3 คน สามารถขโมยน้ำเชื่อมเป็นจำนวนถึง 2,700 ตัน
คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท นับว่าเป็นการสร้างความเสียหายแก่ FPAQ อย่างมหาศาล
และถือเป็นการโจรกรรม ที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดในประเทศแคนาดา
อย่างไรก็ตาม การโจรกรรมดังกล่าวก็ได้ปิดฉากลง
เมื่อพนักงานของ FPAQ เริ่มสังเกตเห็นว่าถังที่บรรจุน้ำเปล่ามีสนิมเกาะ
เนื่องจากปกติถังที่บรรจุน้ำเชื่อมจะไม่เกิดสนิม
เพราะน้ำเชื่อมไม่มีคุณสมบัติในการสร้างไอน้ำ ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดสนิม
ในที่สุด ข้อสังเกตดังกล่าวก็ได้นำไปสู่การจับกุมผู้ทุจริตทั้ง 3 คน..
ปัจจุบัน สมาพันธ์ที่คอยควบคุมกลไกราคาของน้ำเชื่อมเมเปิล
ก็ยังคงดำเนินการอยู่ และได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น PPAQ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ก็ยังคงมีกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาแทรกแซงตลาดของสมาพันธ์
และเรียกร้องให้เกิดการกลับมาดำเนินธุรกิจ และแข่งขันกันอย่างเสรี
ซึ่งถึงตรงนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน..
ที่เล่ามาทั้งหมด มันเกี่ยวกับเราอย่างไร ?
จริง ๆ แล้ว ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตทรัพยากร เช่น ข้าวและยาง ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดไม่แพ้ชาติใดในโลก
แต่ปัจจุบัน ราคาข้าวและยางยังเป็นไปตามกลไกตลาดโลกอยู่ เหมือนกับเรื่องน้ำเชื่อมเมเปิลในสมัยก่อน
เรื่องนี้ก็น่าคิดต่อว่า
หากผู้ประกอบการในประเทศไทย ร่วมกันจัดตั้งสมาพันธ์ กับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่แบบที่เกิดขึ้นกับ OPEC หรือ PPAQ
แล้วราคาสินค้าเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ?
อย่างไรก็ตาม
การโจรกรรมครั้งใหญ่ ก็อาจเกิดขึ้นตามมา แบบที่เกิดขึ้นกับประเทศแคนาดา ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่านและนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://pdfs.semanticscholar.org/136d/e6eb05baa3a19062aa1918c93f4e4bcd7f15.pdf
-https://theculturetrip.com/north-america/canada/quebec/articles/the-unusual-story-behind-the-great-canadian-maple-syrup-heist/
-https://ppaq.ca/en/our-organization/our-dna/the-qmsp-story/
-https://agriculture.vermont.gov/sites/agriculture/files/documents/AgDevReports/Maple%20Syrup%20Market%20Research%20Report.pdf
-https://www.knowledge-sourcing.com/report/maple-syrup-market?gclid=Cj0KCQjwo-aCBhC-ARIsAAkNQiu5WAcgPz-FDos9DGdaWKyaABv9WyBKbKCKgSbixK-U8G3g_knBFFIaAsFKEALw_wcB
-https://www.economist.com/americas-view/2013/09/19/sticky-fingers
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.