ผู้วางรากฐาน สกุลเงินยูโร คือใคร?

ผู้วางรากฐาน สกุลเงินยูโร คือใคร?

8 เม.ย. 2021
ผู้วางรากฐาน สกุลเงินยูโร คือใคร ? /โดย ลงทุนแมน
ย้อนกลับไปเมื่อ 24 ปีก่อน ประเทศไทยได้เผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้ง
เนื่องจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ 3 นโยบายพร้อมกัน นั่นก็คือ
นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
การอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี
การกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
การดำเนินนโยบายเหล่านี้ ถือเป็นการขัดกับทฤษฎี Impossible Trinity
หรือ สามเป็นไปไม่ได้ ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Robert Mundell
ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คนนี้ก็ยังได้รับการขนานนามว่า บิดาแห่งสกุลเงิน “ยูโร”
แล้วบทบาทของ Mundell ต่อสกุลเงินยูโร เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่านและนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Robert Mundell เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวแคนาดา เจ้าของรางวัลโนเบลในปี 1999
จากผลงาน ทฤษฎี “Optimal Currency Areas” ที่ตีพิมพ์ในปี 1961
และการบุกเบิกทฤษฎีนี้เอง ทำให้เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานสกุลเงินยูโร
แล้วการรวมกลุ่มกันของประเทศในยุโรป เริ่มต้นขึ้นเมื่อไร ?
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ประเทศในยุโรปอยากที่จะปรองดองและลดความขัดแย้งในอดีต
จึงมองหาแนวทางที่เหมาะสม นั่นคือการรวมตัวและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา ประเทศในยุโรปได้เริ่มให้มีการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ระหว่างกันอย่างเสรีและมีการใช้ระบบภาษีแบบเดียวกัน
จนในปี 1992 ก็ได้ตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการว่า สหภาพยุโรป หรือ EU และยังพัฒนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกขั้น ซึ่งต่างจาก ASEAN ที่เป็นเพียงเขตการค้าเสรี
เพราะในปีเดียวกันนั้น สหภาพยุโรปได้เสนอให้ใช้สกุลเงินร่วมกัน
เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน
และนี่จึงเป็นจุดกำเนิดของสกุลเงิน “ยูโร”
โดยแนวคิดนี้ ก็มีรากฐานมาจากทฤษฎี Optimal Currency Areas (OCA)
ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย คุณ Robert Mundell
แล้ว OCA คืออะไร ?
OCA หรือ เขตเงินตราที่เหมาะสม อธิบายว่าการรวมกลุ่มของประเทศ ที่มีการใช้สกุลเงินเดียวกันจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดได้เมื่อเหล่าประเทศสมาชิก ทำตามเงื่อนไข 4 ข้อ ซึ่งมีใจความสำคัญ ได้แก่
1. แรงงานและทรัพยากร ต้องเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี
2. การเคลื่อนย้ายของเงินทุน การตั้งราคาสินค้าและค่าจ้าง ต้องปรับตามกันได้ง่าย
3. ประเทศที่เศรษฐกิจดี มีเงินเยอะ ต้องช่วยเหลือประเทศที่เศรษฐกิจไม่ดีและขาดดุล
4. วัฏจักรทางธุรกิจของแต่ละประเทศ ถ้าเป็นขาขึ้นก็ควรขึ้นไปด้วยกัน ขาลงก็ลงด้วยกัน
ทั้งนี้ก็เพื่อปรับให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป
และยังช่วยให้การกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพราะเมื่อใช้สกุลเงินเดียวกันแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ “การใช้นโยบายการเงินร่วมกัน”
ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะมันหมายความว่าประเทศเหล่านั้นต้องยอมขาดอิสระในการกำหนดนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง
และเรื่องดังกล่าวเราก็ยังสามารถใช้ Impossible Trinity อธิบายได้ด้วย
เพราะเมื่อสหภาพยุโรปอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี และยังใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ โดยมีการผูกสกุลเงินเดิมของแต่ละประเทศไว้กับยูโร ธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ จึงไม่สามารถกำหนดนโยบายการเงินเองได้ และต้องรับนโยบาย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่อัตราดอกเบี้ย, เงินเฟ้อเป้าหมาย และอัตราแลกเปลี่ยน ที่เหมือนกัน ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจของตัวเองในตอนนั้นจะเป็นอย่างไร
ซึ่งผู้กำหนดนโยบายการเงินของสกุลเงินยูโร ก็คือ ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB นั่นเอง
ในช่วงเตรียมแผนการเพื่อเริ่มใช้สกุลเงินเดียวกัน
ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันร่างสนธิสัญญา “Maastricht” และร่วมลงนามในปี 1992
ซึ่งก็ได้มีรากฐานสำคัญมาจากทฤษฎีของคุณ Robert Mundell
โดยสนธิสัญญาดังกล่าว เป็นการกำหนดข้อปฏิบัติร่วมกันของทุกประเทศ
ที่จะเปลี่ยนมาใช้เงินยูโร หลัก ๆ มีอยู่ 4 ข้อ
1. ต้องมีวินัยทางการคลัง
โดยงบประมาณรายปีห้ามขาดดุลเกิน 3% ของ GDP
ในขณะที่หนี้ภาครัฐต้องไม่เกิน 60% ของ GDP
2. ต้องคุมเงินเฟ้อให้ไม่สูงจนเกินไป
โดยอัตราเงินเฟ้อต้องไม่สูงกว่า 1.5% เหนือค่าเฉลี่ยของ 3 ประเทศในกลุ่มที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุด
เช่น ค่าเฉลี่ยคือ 0.5% ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อก็ต้องไม่สูงเกิน 2.0%
3. ต้องผ่านการทดสอบความมีเสถียรภาพของสกุลเงินเดิม ก่อนจะเริ่มเปลี่ยนมาใช้เงินยูโร
โดยต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ หรือผูกค่าเงินสกุลเดิมไว้กับค่าเงินยูโร
และควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ให้ขยับขึ้นลงอยู่ภายในกรอบที่กำหนด อย่างน้อย 2 ปี
4. ต้องควบคุมดอกเบี้ยระยะยาวให้ไม่สูงจนเกินไป
โดยอัตราดอกเบี้ยระยะยาวต้องไม่เกิน 2% เหนือค่าเฉลี่ยของ 3 ประเทศในกลุ่มที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด
หลังผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อมมาแล้ว
ในที่สุด สกุลเงินยูโร ก็ได้เริ่มใช้จริง ในวันที่ 1 มกราคม ปี 1999
โดยมี 11 ประเทศแรกเริ่ม และต่อมาประเทศอื่น ๆ ก็ทยอยเข้าร่วม
จนในปัจจุบันมี 19 จาก 27 ประเทศในสหภาพยุโรป ที่ใช้เงินยูโร เรียกรวมว่ากลุ่ม Eurozone
ปัจจุบัน สหภาพยุโรปถือได้ว่าเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และเชื่อมโยงกันมากที่สุดในโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 566 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดเศรษฐกิจ 660 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ยูโรยังเป็นสกุลเงินที่ใช้กันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในโลกเช่นกัน
คิดเป็น 36.6% ของมูลค่าธุรกรรมการค้าขายทั่วโลก
เป็นรองเพียงดอลลาร์สหรัฐ ที่คิดเป็น 38.3% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ
เพราะการรวมกลุ่มโดยใช้สกุลเงินเดียวกันแบบนี้ ก็มี “จุดอ่อน” ในหลายด้าน
หนึ่งในจุดอ่อนสำคัญ ก็คือการต้องใช้นโยบายการเงินร่วมกันนั่นเอง
ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และกลับมาเป็นที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้างอีกครั้ง ในปี 2010
ที่ผลพวงจากวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ ได้ลามมาเป็นวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป
ต้นตอของปัญหาก็คือว่า ไม่ใช่ทุกประเทศสมาชิก ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่มีร่วมกันได้
หลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม PIIGS ได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน
ขาดวินัยทางการคลัง รัฐบาลก่อหนี้จนเกินกว่าข้อกำหนดไปกว่าเท่าตัว
ลุกลามไปเป็นเงินเฟ้อที่สูงกว่าเกณฑ์ และทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผลตอบแทนพันธบัตรฯ นี้ ก็คือต้นทุนการกู้ยืมของตัวรัฐบาลเอง
กลายเป็นว่า ภาระต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากการก่อหนี้เกินตัว นั่นเอง
หากเป็นกรณีทั่วไป เครื่องมือในการแก้ปัญหา ก็คือนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน
โดยปัญหาการก่อหนี้เกินตัวนี้ หมายถึงว่านโยบายการคลังขาดประสิทธิภาพไปแล้ว
นโยบายการเงินจึงเข้ามามีบทบาทหลักในการแก้ปัญหา
ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและผลตอบแทนพันธบัตรฯ ที่กำลังพุ่งขึ้น
แต่ในกรณีของประเทศเหล่านี้ ไม่สามารถใช้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาได้
และนโยบายการเงินของยูโร ก็ไม่ได้สอดคล้องกับประเทศที่มีปัญหาเสียทีเดียว
เพราะนโยบายถูกกำหนดโดยดูจากภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งกลุ่ม
ซึ่งทั้งกลุ่ม ก็มีทั้งประเทศที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดได้และไม่ได้
นโยบายการคลัง ก็ใช้การแทบไม่ได้ เพราะขาดดุลไปเยอะแล้ว
นโยบายการเงิน ก็กำหนดเองไม่ได้ เพราะใช้สกุลเงินร่วมกับคนอื่น
ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ และแนวทางการแก้ไข ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงทุกวันนี้..
มาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะรู้จักกับต้นกำเนิด “สกุลเงินยูโร” ไม่มากก็น้อย
ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Robert Mundell
คนเดียวกับที่คิดค้นทฤษฎี Impossible Trinity
และอีกหลาย ๆ ผลงานที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญสำหรับเศรษฐศาสตร์และการเงินระหว่างประเทศ
และสาเหตุที่ลงทุนแมนเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า
เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา หรือ 4 วันก่อน
คุณ Robert Mundell เพิ่งเสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 88 ปี
ถึงแม้ว่าตัวเขาจะจากไปแล้ว
แต่ผลงานทั้งหมดที่เขาได้สร้างไว้ ก็น่าจะอยู่กับโลกนี้ และคนรุ่นหลังไปอีกนาน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่านและนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-05/robert-mundell-nobel-prize-winning-economist-dies-at-88
-https://transportgeography.org/contents/chapter7/globalization-international-trade/economic-integration-levels/
-https://www.investopedia.com/terms/o/optimal-currency-area.asp
-https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Mundell
-https://en.wikipedia.org/wiki/European_Union
-https://en.wikipedia.org/wiki/Maastricht_Treaty
-https://en.wikipedia.org/wiki/European_Exchange_Rate_Mechanism
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_the_euro
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-18/yuan-s-popularity-for-cross-border-payments-hits-five-year-high
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.