“ตู้คอนเทนเนอร์” สิ่งมหัศจรรย์ของ โลกการขนส่ง

“ตู้คอนเทนเนอร์” สิ่งมหัศจรรย์ของ โลกการขนส่ง

15 เม.ย. 2021
“ตู้คอนเทนเนอร์” สิ่งมหัศจรรย์ของ โลกการขนส่ง /โดย ลงทุนแมน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน “ตู้คอนเทนเนอร์” ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญ
ในกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ตู้คอนเทนเนอร์เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นเมื่อ 65 ปีก่อน
แต่อุปกรณ์นี้ ก็ได้ปฏิวัติระบบการขนส่งทั่วโลกไปโดยปริยาย
เรื่องราวของตู้คอนเทนเนอร์มีความเป็นมาอย่างไร
แล้วใครเป็นคนคิดค้นมันขึ้นมา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
โดยปกติแล้ว การขนส่งสินค้าจากต้นทางไปถึงจุดหมายต้องผ่านการขนส่ง
หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก, รถไฟ, รถราง, เรือ หรือเครื่องบิน
ทุกครั้งที่เราต้องเปลี่ยนยานพาหนะในระหว่างการขนส่ง
เราต้องมีกระบวนการถ่ายโอนสินค้า จากยานพาหนะเดิมไปสู่ยานพาหนะใหม่ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานในการขนย้ายสินค้าทีละหีบห่อ แถมมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น กล่องไม้, กล่องลัง หรือห่อพลาสติก
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ ถือเป็นขั้นตอนที่ทำได้ลำบากเพราะต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก แถมกินเวลานาน
รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่การขนส่งอาจล่าช้า ตัวสินค้าอาจสูญหายหรือเสียหายในระหว่างทาง
จึงไม่แปลกเลยว่า การขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศ มีต้นทุนที่สูง โดยปัญหาทั้งหมดนี้ อยู่คู่ระบบการขนส่งมาเป็นเวลานาน
แม้ว่ามีคนมากมายที่เล็งเห็นถึงปัญหา แต่มีเพียงคนเดียวที่หาทางแก้ไขได้สำเร็จ
ด้วยการคิดค้นสิ่งมหัศจรรย์ ที่เรียกว่า “ตู้คอนเทนเนอร์” ขึ้นมา
และเขาคนนั้น มีชื่อว่า Malcom McLean
McLean เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกัน
เขาสนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง ตั้งแต่เรียนจบมัธยมในปี 1931
โดยเริ่มจากซื้อรถบรรทุกมือสองมารับจ้างขนส่งสินค้าเกี่ยวกับการทำฟาร์ม
จนต่อมา เขาก็ได้ร่วมกับพี่น้อง ก่อตั้งบริษัทขนส่งขึ้นมา
ชื่อบริษัทว่า McLean Trucking Co. ในปี 1935
McLean พบว่าธุรกิจขนส่งของเขาต้องใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับการรอคอย
รอคอย คนงานขนของขึ้นลงเรือ
รอคอย คนงานขนของขึ้นลงรถบรรทุก
โดย McLean มองว่า กระบวนการทั้งหมดนี้
มีต้นทุนทางด้านบุคลากร และเวลามหาศาล
แต่เขาก็ยังคิดวิธีแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้
จนกระทั่งสิบกว่าปีต่อมา หลังจากที่บริษัท McLean Trucking Co. ได้เติบโต
จนกลายเป็นธุรกิจรถบรรทุกที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในประเทศสหรัฐอเมริกา
รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มเข้ามาควบคุมการขนส่งทางบก โดยคิดค่าธรรมเนียมสำหรับรถส่งของที่วิ่งระหว่างเมือง รวมถึงจำกัดน้ำหนักสินค้าต่อรถหนึ่งคัน
เรื่องดังกล่าวได้กระทบต่อธุรกิจรถบรรทุกของ McLean เพราะนอกจากเขาจะเสียค่าธรรมเนียมแล้ว เขายังขนส่งสินค้าต่อคันได้น้อยลง
เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเหล่านั้น McLean เลยสนใจนำการขนส่งทางเรือเข้ามาช่วย
โดยยังคงใช้รถบรรทุกในการขนส่ง แต่ในระยะทางที่สั้นลง และใช้เรือที่วิ่งตามชายฝั่งรอบสหรัฐฯ เป็นเส้นทางขนส่งหลักแทน
ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าจุดนี้เอง ได้ทำให้เขาคิดออกว่า
ถ้ามีกล่องขนาดใหญ่ ที่บรรจุสินค้าได้ครั้งละมาก ๆ เคลื่อนย้ายง่าย
รวมถึงช่วยปกป้องสินค้าจากลมทะเลและแรงกระแทกได้ คงจะดีไม่น้อย
และนี่คือจุดกำเนิดของ “ตู้คอนเทนเนอร์”
เขาเริ่มจากการออกแบบรถบรรทุก ให้แยกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่เป็นตัวรถ และส่วนตู้ที่บรรจุสินค้า แยกออกจากกันได้
ตัวตู้บรรจุสินค้า ถูกออกแบบและพัฒนาให้เคลื่อนย้ายได้สะดวกระหว่างรถและเรือ
มีขนาดเท่ากันเป็นมาตรฐาน เพื่อให้วางซ้อนกันบนเรือได้สูงและทำจากวัสดุที่ทนทาน
ในเวลาต่อมา McLean ก็สามารถนำสิ่งที่คิดค้นขึ้นได้
จดเป็นสิทธิบัตรตู้คอนเทนเนอร์ (ISO Container) ในปี 1956
ในขณะที่เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ลำแรกของโลก ที่ชื่อว่า SS Ideal X ก็เริ่มเดินเรือในปีเดียวกัน
โดยวิ่งจาก New Jersey ไป Texas บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 58 ตู้
ในช่วงเดียวกันนี้เอง เพื่อต่อยอดกิจการขนส่งทางเรือ
McLean ได้เข้าซื้อกิจการ Pan Atlantic Tanker Company
และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น SeaLand Shipping
โดยในภายหลัง บริษัทของ McLean ได้ถูกควบรวมกับ Maersk Group
ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าบริษัท 1.44 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นบริษัทขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่สุดในโลก
หลังจากนั้นมา ตู้คอนเทนเนอร์ ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจนนำมาประยุกต์ใช้กับเครนและระบบอัตโนมัติต่าง ๆ แทนที่แรงงานคนในการเคลื่อนย้าย
เรื่องราวทั้งหมดนี้ ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศ และระหว่างการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ
มีความต่อเนื่อง สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่สินค้าจะสูญหายและเสียหาย ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนการขนส่งลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับในอดีต
มีการประเมินว่าทุกวันนี้ อาจมีตู้คอนเทนเนอร์กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกสูงถึง 170 ล้านตู้
และกว่า 60 ล้านตู้ยังใช้วนอยู่ในระบบการขนส่ง
ในขณะเดียวกัน จะมีตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 300,000 ตู้
จากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนในปีที่แล้ว
ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งสินค้าที่ล่าช้าไปทั่วทุกมุมโลก
จนทำให้ต้นทุนค่าขนส่งพุ่งขึ้นกว่า 2 เท่า
เรื่องดังกล่าวก็พอแสดงให้เห็นแล้วว่า ตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นสิ่งสำคัญ ที่ขาดไม่ได้เป็นที่เรียบร้อย..
ถึงตรงนี้ เราก็คงสรุปได้ว่า ในบางครั้งความพยายามแก้ปัญหาในธุรกิจของตัวเอง
ให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็อาจจะกลายมาเป็นนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาให้ผู้อื่นได้เช่นกัน
อย่างในกรณีของคุณ McLean ที่เบื่อหน่ายกับการต้องรอคนงานตลอดทั้งวัน
ก็ได้นำความเบื่อหน่ายมาเป็นโจทย์ และพยายามหาคำตอบจนสามารถคิดค้น “ตู้คอนเทนเนอร์”
ที่ไม่ต่างอะไรไปจากสิ่งมหัศจรรย์ของโลกการขนส่งไปแล้วเรียบร้อย..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.mobilbox.co.uk/history-shipping-container/1472
-https://www.freightos.com/the-history-of-the-shipping-container/
-https://hbswk.hbs.edu/item/the-truck-driver-who-reinvented-shipping
-https://en.wikipedia.org/wiki/Intermodal_container
-https://en.wikipedia.org/wiki/Containerization
-https://en.wikipedia.org/wiki/SeaLand
-https://www.cnbc.com/2021/01/22/shipping-container-shortage-is-causing-shipping-costs-to-rise.html
-https://porta-stor.com/many-shipping-containers/#:~:text=But%20a%20very%20broad%20estimate,170%20million%20shipping%20containers%20globally.
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.