วิธีบริหารเงินของคนจน ที่คนรวยอาจไม่เข้าใจ

วิธีบริหารเงินของคนจน ที่คนรวยอาจไม่เข้าใจ

16 เม.ย. 2021
วิธีบริหารเงินของคนจน ที่คนรวยอาจไม่เข้าใจ /โดย ลงทุนแมน
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคนจนไม่น่าจะสามารถออมเงินได้
และก็คงไม่ค่อยสนใจเรื่องการบริหารเงินมากนัก
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น
เพราะนักวิจัย 2 คน คือ คุณสจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด และ คุณสุขวินทร์ อาโรรา
ได้ศึกษา และจัดทำหนังสือที่เกี่ยวกับการเงินคนจนที่ชื่อว่า “The Poor and Their Money” ขึ้น
ซึ่งพวกเขาได้อธิบายตั้งแต่วิธีการออม รวมถึงการบริหารเงินของกลุ่มคนจน
ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยใช้ระยะเวลาการศึกษายาวนานถึง 30 ปี
วันนี้ เรามาดูกันว่านักวิจัยทั้ง 2 คน ได้สรุปวิธีบริหารเงินของคนจนไว้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
โดยทั่วไป กลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายมักจะออมเงิน
หรือนำเงินบางส่วนไปลงทุนเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามที่ตัวเองเกษียณ
หรือในบางครั้งที่ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็มักจะออมเงินไว้ในธนาคาร
โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะมีระยะเวลาในการออมที่ค่อนข้างยาวนาน
แต่ในมุมของผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
หรือที่เราเรียกว่า กลุ่มคนจน ไม่สามารถทำแบบนี้ได้
เพราะพวกเขามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินตลอดเวลา
โดยมองว่า “เป้าหมายระยะยาวเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและจับต้องได้ยากเกินไป”
เรื่องดังกล่าวทำให้พวกเขามักออมเงินเพื่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
เช่น ค่าเทอมของลูก, ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
โดยคุณสจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด และ คุณสุขวินทร์ อาโรรา ได้ระบุว่าปัจจัยที่คนจนสามารถออมเงินจนบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ ก็คือ “วินัย”
แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้เอื้ออำนวยให้สามารถออมเงินได้ เช่น ในย่านสลัมที่ประเทศอินเดีย เพราะที่พักอาศัยไม่เหมาะกับการเก็บเงินสด รวมถึงมีการโจรกรรมเกิดขึ้นบ่อย
ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพา “คนนอกระบบ” เพื่อทำหน้าที่เก็บรักษาเงินไว้
หรือผู้ที่สามารถช่วยรักษาวินัยในการออมเงินของพวกเขา
แม้ว่าจะต้องเสียค่าบริการในการออมเงินก็ตาม
โดยวิธีการออมเงินประเภทนี้ ก็คือ ฝากเงินไปจำนวนหนึ่ง
แต่เวลาถอนมาจะได้น้อยกว่าที่ฝากไปเสมอ
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมกลุ่มคนเหล่านี้จึงยอมเสียเงิน
แทนที่จะได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงินในธนาคาร
เหตุผลสำคัญก็เพราะว่า เงินของพวกเขามีปริมาณน้อยจนเกินไป เช่น
คนชั้นแรงงานในประเทศอินเดียจะฝากเงินวันละ 5 รูปี หรือราว 2 บาท
ซึ่งแน่นอนว่าดอกเบี้ยที่ได้นั้น ไม่คุ้มค่ากับค่าเสียเวลาและค่าเดินทางเลย
พวกเขาจึงยอมเสียค่าบริการให้กับคนนอก
เพราะอย่างน้อยคนนอกเหล่านี้จะมาเก็บเงินถึงที่บ้าน
ทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน และยังประหยัดค่าเดินทางอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าวิธีข้างต้นเป็นการออมเงินก้อนเล็กก่อน ถึงจะได้เงินก้อนใหญ่ในภายหลัง
แล้วหากกลุ่มคนจน อยากได้เงินก้อนใหญ่ ต้องทำอย่างไร ?
อีกวิธีที่เป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมแทบจะทุกประเทศในกลุ่มที่กำลังพัฒนาเลย
ก็คือ “สินเชื่อนอกระบบ” ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องมีหลักประกัน และใช้เวลาในการกู้ไม่นาน
แต่ก็ต้องแลกมากับดอกเบี้ยที่สูงมหาศาล
สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการเงินก้อนประเภทนี้
พวกเขาจะไม่ได้ดูที่ดอกเบี้ยอย่างเดียว
แต่จะคำนึงถึง ขนาดและความถี่ต่องวดมากกว่า
หมายความว่า เงินกู้ที่พวกเขามีกำลังผ่อนต่องวด แม้จะโดนอัตราดอกเบี้ยสูง
จะมีประโยชน์มากกว่าเงินกู้ที่พวกเขาได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ผ่อนต่องวดไม่ไหว
กลุ่มคนที่มักใช้วิธีแบบนี้ จึงเป็นเหล่าเกษตรกร
ที่ต้องนำเงินมาบริหารค่าใช้จ่ายก่อนผลผลิตออกผล
หรือเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องซื้อสินค้ามาก่อน ถึงจะสามารถค้าขายได้
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวนี้เอง ก็ได้เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้โลกของเราเกิดธุรกิจ
ที่เรียกว่า “ไมโครไฟแนนซ์” และ “นาโนไฟแนนซ์” เช่น การนำทะเบียนรถไปเป็นหลักค้ำประกัน
ที่กำลังเติบโตโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
อย่างเช่นในประเทศไทย ธุรกิจจำนำทะเบียนรถบางบริษัทกลับมีมูลค่ามากกว่าธนาคารเสียอีก
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกวิธี ที่เราสามารถมีเงินก้อนใหญ่
โดยไม่เสียดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายอะไรเลย
ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่กลุ่มคนจนคิดค้นขึ้นมาเอง
วิธีที่ว่านี้ เรียกว่า “วงแชร์”
วงแชร์ จะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์คือ การออมเงินร่วมกัน
โดยมีขั้นตอนก็คือ ทุกคนจะวางเงินกองกลางของตัวเองเอาไว้
หลังจากนั้นก็แจกจ่ายแก่สมาชิกตามลำดับจนกว่าจะครบทุกคน
วิธีนี้ เป็นอีกวิธีที่ทำให้คนที่มีความต้องการใช้เงินในเวลานั้น ๆ สามารถมีเงินในการใช้จ่ายได้
ในขณะที่สมาชิกคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับเงิน ก็จะได้รับในงวดต่อไปแทนนั่นเอง
ปัจจุบัน โลกของเรายังมีกลุ่มประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มคนจนราว 689 ล้านคน
คิดเป็น 9.2% ของประชากรทั่วโลก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้เฉลี่ยเพียง 60 บาทต่อวัน
ในขณะที่ผลการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการออม และการบริหารเงิน
ของคุณสจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด และ คุณสุขวินทร์ อาโรรา
ก็ได้แสดงให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วพวกเขามีความคิดที่จะออม
หรือบริหารเงินไม่ต่างอะไรไปจากกลุ่มคนทั่วไป
แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้มีทางเลือกมากมาย
ที่มีก็ดูจะเป็นการคิดค้นขึ้นมาเอง ซึ่งมีข้อจำกัดพอสมควร
หรือถูกขูดรีดโดยผู้อื่นที่เอาเปรียบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หนังสือ The Poor and Their Money ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2000 หรือราว 21 ปีก่อน
ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า เนื้อหาเกี่ยวกับการเงินคนจนทั้งหมดในเล่มนี้
ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้นอกระบบ หรือแม้แต่วงแชร์ ยังคงเป็นเรื่องราวที่ยังเกิดขึ้น
ในสังคมประเทศกำลังพัฒนา จนถึงทุกวันนี้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-หนังสือ The Poor and Their Money โดยคุณสจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด และ คุณสุขวินทร์ อาโรรา
-https://www.worldvision.org/sponsorship-news-stories/global-poverty-facts
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.