“Save Ralph” กระต่าย ที่เขย่าวงการ เครื่องสำอางทั่วโลก

“Save Ralph” กระต่าย ที่เขย่าวงการ เครื่องสำอางทั่วโลก

19 เม.ย. 2021
“Save Ralph” กระต่าย ที่เขย่าวงการ เครื่องสำอางทั่วโลก /โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนอาจได้เห็นแอนิเมชันกระต่ายตาบอดตัวหนึ่ง
ที่สร้างความฮือฮาผ่านสื่อโซเชียลมากมาย ทั้งยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ก็ตาม
โดยเจ้ากระต่ายที่น่าสงสารตัวนี้มีชื่อว่า “ราล์ฟ”
แล้วทำไมกระต่ายตัวนี้จึงกลายเป็นที่พูดถึงในสังคมออนไลน์
และมีความสำคัญอย่างไรต่อวงการธุรกิจเครื่องสำอาง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา แอนิเมชันเรื่อง Save Ralph ถูกปล่อยลงยูทูบ
โดยองค์กรที่ชื่อว่า Humane Society International หรือ HSI
ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์โลก
หากอ้างอิงจากรายงานประจำปี 2020 ของ HSI
องค์กรแห่งนี้ ได้รับเงินบริจาคราว 960 ล้านบาท ซึ่งองค์กรก็ได้นำเงิน
ที่ได้รับมา ไปกระจายเพื่อรณรงค์เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ทั่วโลก
ตั้งแต่สัตว์เลี้ยง, สัตว์ป่า, ฟาร์มสัตว์ ไปจนถึงสัตว์สำหรับการทดลอง
ผลงานที่เคยทำก็มีเรื่องการห้ามใช้ขนสัตว์มาทำเสื้อผ้าสำหรับสหรัฐอเมริกาและยุโรป
เนื่องจากมีสัตว์ประเภทสุนัขจิ้งจอกและมิงก์ถูกฆ่าประมาณ 100 ล้านตัวต่อปี
ซึ่ง HSI ก็ประสบความสำเร็จในการลดความต้องการของผู้บริโภคลงได้ในที่สุด
จึงนำไปสู่การรณรงค์เรื่องต่าง ๆ ตามมา
หนึ่งในแคมเปนที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ แอนิเมชัน Save Ralph ที่ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความโหดร้าย
จากการใช้สัตว์ทดลองเพื่อรณรงค์ให้บริษัทเครื่องสำอางต่าง ๆ หยุดการนำสัตว์มาทดลอง
โดยเนื้อหาของ Save Ralph ถูกถ่ายทอดให้เห็นจากชีวิตของกระต่ายทดลอง
หรือเจ้าราล์ฟ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
ว่าในแต่ละวันต้องเจอกับเหตุการณ์อะไรบ้าง
จากการเป็นสัตว์ทดลองสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมนี้
เช่น การโดนโกนขนเพื่อทดสอบว่าผลิตภัณฑ์ส่งผลแพ้ต่อผิวหนังหรือไม่
หรือกระทั่งการทดสอบผ่านการหยอดสารเคมีลงที่ตา
รวมถึงนำสัตว์มาทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่ได้รักษา
ด้วยการทดลองแบบนี้จึงส่งผลให้กระต่ายจำนวนมากต้องพิการหรือไม่ก็เสียชีวิตลงในที่สุด
จากข้อมูล Cruelty Free International หรือกลุ่มรณรงค์การทดลองกับสัตว์
กล่าวว่าในแต่ละปี มีสัตว์ประมาณ 500,000 ตัว ซึ่งรวมถึงหนูและสุนัข
ที่เจอชะตากรรมเดียวกันกับกระต่าย
หลังจากที่เผยแพร่แอนิเมชันไปได้ไม่นาน
ผู้บริโภคหลายคนเริ่มพากันแบนแบรนด์สินค้าที่ยังคงทดลองกับสัตว์ โดยตรวจสอบชื่อแบรนด์สินค้าผ่านทางเว็บไซต์ Cruelty-Free Kitty
จากเรื่องนี้ หลายคนคงมีคำถามขึ้นในใจว่า
แล้วทำไมเรายังต้องมีสัตว์ทดลอง ?
เรามาดูอีกมุมหนึ่งของผู้บริโภคบางส่วน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตเครื่องสำอาง
ซึ่งบอกว่าแอนิเมชันเรื่องนี้เกินจริงไป เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองสัตว์ก็ค่อนข้างเข้มงวด ยากที่จะทารุณกรรมสัตว์ได้ และยังมองว่าเป็นเรื่องปกติที่สัตว์จะต้องทดลองก่อนการใช้จริงในมนุษย์
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าบางประเภทที่มีบทวิจัยรองรับอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะสามารถข้ามขั้นตอนการนำสัตว์มาทดลองได้เลย ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นมาใหม่
ยังอาจมีความจำเป็นที่ต้องมีกระบวนการทดลองในสัตว์ก่อนที่จะถึงมือมนุษย์
นั่นก็เพราะว่าการทดสอบด้วยวิธีอื่น อาจได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่ากับการทดลองใช้สัตว์จริง
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้สัตว์ทดลองควบคู่กันไปด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยสำหรับมนุษย์ที่จะนำสินค้าดังกล่าวไปใช้งาน
นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับประเทศจีน
รู้หรือไม่ว่า
ก่อนหน้านี้หลายแบรนด์ยกเลิกการทดลองกับสัตว์ไปแล้ว แต่เนื่องจากประเทศจีนยังมีกฎหมายว่าสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ยังต้องผ่านการทดลองจากสัตว์ก่อน ถึงจะสามารถจัดจำหน่ายได้ในประเทศจีน
ทำให้หลายแบรนด์จึงต้องยอมให้นำสัตว์กลับมาทดลองอีกครั้ง เพราะโอกาสทางธุรกิจในประเทศจีนมีมูลค่ามหาศาล
อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา PETA หรือองค์กรพิทักษ์สัตว์ ก็ได้รายงานว่าทางการจีนอนุญาตให้แบรนด์เครื่องสำอางต่าง ๆ สามารถเข้ามาในประเทศโดยไม่จำเป็นต้องทดลองกับสัตว์
ซึ่งกฎระเบียบใหม่นี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่กำลังจะถึงนี้
Save Ralph ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจ
เพราะจริง ๆ แล้ว เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้
ที่ผู้บริโภคได้รุมกันแบนแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นและอุปกรณ์กีฬาที่ถูกผลิตขึ้นจากฝ้ายในซินเจียง ถิ่นที่อยู่ของชาวอุยกูร์ ที่ถูกรัฐบาลจีนควบคุมอยู่
ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ แบรนด์สินค้าไม่ว่าจะเป็น H&M, Nike, Adidas หรือ Uniqlo
จำเป็นที่จะต้องเลือกระหว่าง ผลประโยชน์กับอุดมการณ์
หรือแม้แต่สารคดี Seaspiracy บน Netflix ก็กลายมาเป็นอีกประเด็นที่ทำให้สังคมถกเถียงกันเรื่องอุตสาหกรรมการประมงและสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่ แอนิเมชัน Save Ralph ก็ดูเหมือนจะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ที่ทำให้แบรนด์เครื่องสำอางต้องมาคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรกับสินค้าของตนเอง
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในยุคปัจจุบันเราเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ลึกขึ้น..
จากเดิมที่เราอาจจะสนใจเพียงแค่ราคาหรือสรรพคุณของสินค้า จนวันนี้ เราเริ่มมาถกเถียงกันเรื่อง
ขั้นตอนในการผลิตสินค้า รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทารุณกรรมต่อสัตว์ ความไม่เท่าเทียมกันต่อมนุษย์
แน่นอนว่าในหลาย ๆ เรื่องก็จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย
ซึ่งมันก็น่าจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของธุรกิจ ที่ต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์ไม่ใช่แค่ผู้ใช้งาน แต่ต้องตอบโจทย์อุดมการณ์ ความถูกต้อง และกระแสสังคมไปพร้อม ๆ กัน..
สำหรับใครยังไม่ได้รับชมแอนิเมชัน Save Ralph
สามารถดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=G393z8s8nFY
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.crueltyfreeinternational.org/which-animals-are-used-cosmetics-tests
-https://www.youtube.com/watch?v=G393z8s8nFY
-https://www.peta.org/media/news-releases/china-announces-new-animal-testing-policy-for-cosmetics-after-peta-push/#:~:text=%E2%80%93%20Following%20a%20sustained%20PETA%20effort,without%20being%20tested%20on%20animals.
-https://www.peta.org/blog/new-cruelty-free-china-regulation/
-https://www.hsi.org/wp-content/uploads/2020/04/HSI_AR19_LRz_Single.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.