ทำไมหัวหน้างานที่เก่ง อาจไม่ใช่ พี่เลี้ยงที่เพอร์เฟกต์

ทำไมหัวหน้างานที่เก่ง อาจไม่ใช่ พี่เลี้ยงที่เพอร์เฟกต์

20 เม.ย. 2021
ทำไมหัวหน้างานที่เก่ง อาจไม่ใช่ พี่เลี้ยงที่เพอร์เฟกต์ | THE BRIEFCASE
ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน หรือมีประสบการณ์เปลี่ยนที่ทำงานมาแล้วหลายแห่ง
การที่ต้องก้าวออกจาก Comfort Zone มาปรับตัวเข้ากับโลก (การทำงาน) อีกใบ ย่อมก่อให้เกิดความเครียดและความกังวลเป็นธรรมดา
ดังนั้นเพื่อไม่ให้พนักงานใหม่รู้สึกเคว้งคว้างหรือเดียวดาย
หลายองค์กรจึงต้องมีระบบพี่เลี้ยง เพื่อช่วยให้พนักงานปรับตัวเข้ากับองค์กรได้เร็วขึ้น
เชื่อว่า หลายคนคงเจอประสบการณ์ “มีหัวหน้า มาเป็นพี่เลี้ยง”
ซึ่งแม้จะเป็นหัวหน้างานที่เก่งกาจหรือแสนดีแค่ไหน
แต่พอต้องมาอยู่ในสเตตัสพี่เลี้ยงที่คอยดูแล แนะนำ และสอนงาน ก็อาจทำให้ลูกน้องอึดอัดได้ง่าย ๆ
แล้วทำไมหัวหน้าที่เก่ง จึงอาจไม่ใช่พี่เลี้ยงที่ลูกน้องใฝ่ฝัน ลองมาดูเหตุผลเหล่านี้กัน..
1. หัวหน้ากับลูกน้อง เราต่างมองคนละมุม​
หน้าที่หลักของคนเป็นหัวหน้า​ คือ การมองภาพรวมของทีมเพื่อพาทีมไปสู่จุดหมายหรือเป้าที่บริษัทวางไว้ แต่สิ่งที่พนักงานใหม่คาดหวังจากพี่เลี้ยง คือ คนที่พร้อมเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ
บางครั้งอาจจะเป็นแค่เรื่องง่าย ๆ หรือแค่แชร์ประสบการณ์ในฐานะคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน
เพื่อเป็นไอเดียในการปรับตัวเข้ากับสังคมที่ทำงานใหม่ก็พอแล้ว
แต่ด้วยสเตตัสหัวหน้า อาจทำให้ต้องรักษาภาพลักษณ์ โฟกัสแต่การทำงาน จนลืมไปว่าสิ่งที่พนักงานต้องการคืออะไร
หรือต่อให้หัวหน้างานอาจจะพยายามทลายช่องว่าง เปลี่ยนจากชวนคุยเรื่องงาน มาถามสารทุกข์สุกดิบพนักงานมากขึ้น
แต่ด้วยตำแหน่งหัวหน้าที่ค้ำคอ ต่อให้เปลี่ยนมาสวมบทพี่เลี้ยง ก็อาจทำให้ลูกน้องรู้สึกเกร็ง และเกรงใจ หากต้องรบกวนเวลางานของหัวหน้าไปกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ​
2. หัวหน้ามีอำนาจที่มองไม่เห็นอยู่ในมือ​
สิ่งที่มาพร้อมกับตำแหน่ง นอกจากความรับผิดชอบ คือ ​อำนาจที่สามารถชี้ชะตาลูกน้องในทีมได้
ดังนั้นต่อให้จะมีสายใยบาง ๆ ของการเป็นพี่เลี้ยงกับน้องเลี้ยง
ก็ไม่ได้การันตีว่า ถ้าเผลอพูดอะไรไม่ถูกใจหัวหน้าออกไปแล้ว จะไม่ต้องรับผลจากการกระทำนั้น
ดังนั้นคงไม่มีลูกน้องคนไหนกล้าเปิดใจทุกเรื่อง หรือปรึกษาทุกปัญหาที่เจอในการทำงานให้หัวหน้าฟัง
เพราะบางครั้งเรื่องที่ชวนขัดใจในที่ทำงานก็อาจจะมาจากคำสั่งของหัวหน้า
เพราะฉะนั้น คงจะดีกว่า ถ้ามีพี่เลี้ยงที่คุยกันแล้วคลิก ต่อให้วัยจะห่าง แต่ยังอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน
อย่างน้อยก็เหมือนมีที่ปรึกษาส่วนตัว ในยามที่เจอปัญหา หรือรู้สึกอัดอั้นกับคำถามที่อยากรู้แต่ไม่กล้าถาม
3. เพราะการสอนกับการลงมือทำมันต่างกัน
ถึงหัวหน้างานส่วนใหญ่ จะภูมิใจว่า กว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้ ก็เคยเป็นพนักงานตัวเล็ก ๆ มาก่อน
ดังนั้นการจะเทรนหรือถ่ายทอดประสบการณ์ให้พนักงานคนหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องยาก
แต่สิ่งที่หัวหน้างานหลายคนหลงลืมไป คือ ถึงจะยังอยู่บนโลกใบเดิม แต่สิ่งรอบตัวกลับไม่มีอะไรเหมือนเดิม
ดังนั้นต่อให้คุณจะมีความสามารถ และชั่วโมงบินที่ทำให้คุณเป็นหัวหน้าที่เก่ง
แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะเข้าใจหัวอกหรือความต้องการของพนักงานใหม่ได้ดี
ยิ่งเป็นหัวหน้างานที่อายุห่างกับพนักงานใหม่มากเท่าไร ความห่างไกลของรสนิยม ความชื่นชอบ และความต้องการ ก็ยิ่งห่างไกลกัน และเข้าใจกันได้ยากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะพอเห็นภาพแล้วว่า ทำไมการเป็นหัวหน้างานที่เก่ง อาจไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพี่เลี้ยงที่เพอร์เฟกต์เสมอไป
ในเมื่อคุณสมบัติของพี่เลี้ยง ไม่ได้วัดที่ความสามารถในการทำงานเท่านั้น
แต่ยังต้องมีทัศนคติที่ดี ใจกว้างพอ​ที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์
พร้อมรับฟังและให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์
ที่สำคัญที่สุด คือ ต้อง “มีเวลา” ซึ่งดูเหมือนว่า จะเป็นสิ่งที่หาได้ยากที่สุดสำหรับคนยุคนี้
นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ไม่ใช่ใครก็สามารถเป็นพี่เลี้ยงที่เพอร์เฟกต์ได้
แม้แต่หัวหน้าที่เก่งก็ตาม..
References
-https://www.forbes.com/sites/ashleystahl/2019/04/12/mentor-why-you-need-one-and-why-it-should-not-be-your-boss/?sh=790ac7102c36
-https://www.forbes.com/sites/brianrashid/2017/05/02/3-reasons-all-great-leaders-have-mentors-and-mentees/?sh=b2aad6513f9d
-https://www.forbes.com/sites/forbesbusinesscouncil/2021/04/09/six-tips-for-using-your-current-staff-to-help-train-new-hires/?sh=57cff511dc6d
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.