อินเดีย กำลังเจอวิกฤติโรคระบาด รุนแรงสุดในโลก

อินเดีย กำลังเจอวิกฤติโรคระบาด รุนแรงสุดในโลก

29 เม.ย. 2021
อินเดีย กำลังเจอวิกฤติโรคระบาด รุนแรงสุดในโลก /โดย ลงทุนแมน
“มากกว่า 360,000 คน” คือจำนวนผู้ติดโควิด 19 รายวัน ในประเทศอินเดียในตอนนี้
ช่วงที่ผ่านมา แม้เราจะเห็นหลายประเทศ
เริ่มควบคุมการระบาดของโควิด 19 ได้ดี อย่างเช่น อิสราเอลหรืออังกฤษ
แต่ในขณะเดียวกัน บางประเทศอย่างอินเดีย กลับกำลังเจอวิกฤติที่หนักกว่าเดิม
แล้วโควิด 19 ระลอกนี้ ทำให้อินเดีย เจ็บหนักขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ประเทศอินเดีย เริ่มตรวจพบโรคระบาดโควิด 19 ครั้งแรก ในเดือนมกราคม ปี 2020
และหลังจากนั้นไม่นาน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในอินเดีย ก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้น
จนรัฐบาลอินเดียต้องสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม
เกือบ 2 เดือนผ่านไป แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่ค่อยลดลงมาก
แต่เนื่องจากอัตราการเสียชีวิต (Fatality Rate) จากโควิด 19 ของอินเดียตอนนั้น อยู่ที่เพียง 2.4% ซึ่งถือว่าต่ำ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ รัฐบาลจึงตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงเรื่อย ๆ เป็นขั้น ๆ
หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในอินเดียก็ดูย่ำแย่ลง
จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เพิ่มขึ้นจากหลักพัน สู่หลักหมื่น
การระบาดในระลอกนั้น มีผู้ติดเชื้อรายวัน สูงสุดถึงราว 97,000 คน ในช่วงกลางเดือนกันยายน
ก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มใช้มาตรการคุมเข้มเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล็อกดาวน์บางพื้นที่อีกครั้ง จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง จนเหลือหลักหมื่นต้น ๆ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
แต่แล้วความน่ากลัวที่แท้จริง ก็กำลังเกิดขึ้นกับอินเดีย
หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม
จนวันนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน มากกว่า 360,000 ราย
ซึ่งคิดเป็นเกือบ 4 เท่า ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงสุดในการระบาดระลอกก่อนหน้า
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Worldometer ณ วันที่ 27 เมษายน 2564
จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในอินเดียนั้นมีมากกว่า 17.6 ล้านคน
ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
โดยรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือรัฐที่ได้รับฉายาว่า “ผู้มั่งคั่งแห่งอินเดียตะวันตก”
นั่นคือ รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra)
รัฐมหาราษฏระ มีเมืองมุมไบ เป็นเมืองหลวงของรัฐ
และเป็นรัฐที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 128 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นทั้งประเทศ ทั้งยังเป็นรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอินเดีย
ปัจจุบัน มหาราษฏระ เป็นรัฐที่มีมูลค่าเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของอินเดีย โดยมีมูลค่ากว่า 12.6 ล้านล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนกว่า 14% ของมูลค่า GDP อินเดียทั้งประเทศ
ดังนั้นมหาราษฏระ ถือเป็นรัฐที่มีพลวัตและความสำคัญทางเศรษฐกิจต่ออินเดียสูง
ยกตัวอย่างเช่น
- ในรัฐมหาราษฏระ มีเมืองที่ชื่อว่า ปูเณ (Pune) ซึ่งเป็นเมืองที่มีสถาบันการศึกษาอันมีชื่อเสียงหลายแห่งในเมือง จนได้รับฉายาว่าเป็น "ออกซฟอร์ดแห่งโลกตะวันออก"
- มุมไบ ที่เป็นเมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระ เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางทางการเงินของประเทศ
เช่น ธนาคารกลางของอินเดีย และตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์ ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย และใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก เมื่อวัดตามมูลค่าตลาดในปี 2019
- มหาราษฏระเป็นรัฐที่มีความสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศ เนื่องจากมีไร่องุ่นและโรงกลั่นเหล้าองุ่นตั้งอยู่ที่เมืองนี้เป็นจำนวนมาก จนได้รับอีกฉายาว่าเป็น "เมืองหลวงไวน์แห่งอินเดีย"
อีกสถานที่สำคัญในรัฐแห่งนี้ คือ สลัมธาราวี (Dharavi)
ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองมุมไบ เป็นหนึ่งในสลัมที่ใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย
พื้นที่ของสลัมแห่งนี้คือ 2.2 ตารางกิโลเมตร
ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เขตบางรัก ย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ
แต่มีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 1,000,000 คน มากกว่าประชากรในเขตบางรักเกือบ 20 เท่า
สลัมธาราวี จึงกลายเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่โควิด 19 แพร่ระบาดอย่างหนัก
เมื่อรวมกับการที่อินเดียมีประชากรจำนวนมาก
และอยู่กันอย่างหนาแน่นแออัดในหลายรัฐ
จึงทำให้โควิด 19 สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศในตอนนี้
อีกเรื่องที่น่ากลัวคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว
ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือในการดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และเตียงในการรักษาคนไข้
และหนึ่งในสิ่งที่ขาดแคลนอย่างมากในตอนนี้ จนก่อให้เกิดวิกฤติ คือ ออกซิเจน
ปัจจุบัน อินเดียมีความสามารถในการผลิตออกซิเจน 7,500 เมตริกตันต่อวัน ขณะที่ความต้องการออกซิเจนของโรงพยาบาลอยู่ที่ 8,000 เมตริกตันต่อวัน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ราคาออกซิเจนในตลาดมืดที่อินเดีย มีราคาพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัว
จนภาครัฐต้องสั่งห้ามการใช้ออกซิเจนในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตอื่น ๆ เพื่อให้มีการผลิตออกซิเจนเพียงพอสำหรับโรงพยาบาล
สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่องคือ ศูนย์กลางในการผลิตออกซิเจนของอินเดียนั้นอยู่ทางฝั่งตะวันออก ขณะที่การแพร่ระบาดที่รุนแรงตอนนี้ อยู่ทางฝั่งตะวันตกและทางเหนือของอินเดีย
และด้วยขนาดพื้นที่ของประเทศที่กว้างใหญ่ ทำให้การขนส่งออกซิเจนทางฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกและทางเหนือนั้นใช้เวลาพอสมควร

เรื่องนี้จึงสร้างความท้าทายอย่างมากให้กับรัฐบาลอินเดีย และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติขาดแคลนออกซิเจน ก็มีส่วนทำให้มีผู้ป่วยชาวอินเดียที่ติดโควิด 19 เสียชีวิตไปแล้วหลายราย
ล่าสุด อินเดีย มีผู้เสียชีวิตจากการติดโควิด 19 แล้ว มากกว่า 201,000 ราย
ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีนนั้น ก็ยังถือว่าอยู่ในอัตราต่ำ
โดยอินเดีย มีประชากรทั้งหมดราว ๆ 1,380 ล้านคน
มีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว 22.6 ล้านคน คิดเป็นเพียง 1.6% ของจำนวนประชากรเท่านั้น
จากสถานการณ์ในตอนนี้ของอินเดีย ก็เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่า
แม้จะเคยควบคุมการระบาดได้จนเป็นที่น่าพอใจ
แต่การระบาด ก็สามารถกลับมารุนแรงได้อีก เมื่อประชาชนอินเดียเริ่มระมัดระวังตัวกันน้อยลง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.