วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ของการทำงานแบบคนญี่ปุ่น เป็นอย่างไร ?

วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ของการทำงานแบบคนญี่ปุ่น เป็นอย่างไร ?

2 พ.ค. 2021
วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ของการทำงานแบบคนญี่ปุ่น เป็นอย่างไร ? | THE BRIEFCASE
158 ล้านล้านบาท คือขนาด GDP ของประเทศญี่ปุ่น
ด้วยมูลค่าระดับนี้ ทำให้ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
ตามหลังเพียงแค่สหรัฐอเมริกาและจีน
แต่ถ้าเราเทียบญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาและจีนแล้ว จะสังเกตได้ว่าญี่ปุ่นมีขนาดที่เล็กกว่าทั้ง 2 ประเทศมาก
ทั้งในเรื่องของขนาดพื้นที่ และจำนวนประชากร
และที่สำคัญคือ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในประเทศ
ที่ไม่ได้มีเพียบพร้อมเหมือนประเทศมหาอำนาจทั้งสอง หรือประเทศอื่น ๆ
แต่ความไม่อุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรนี่เอง
ที่กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
ที่ทำให้ผู้คนในดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ มีจิตวิญญาณแห่งการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
และต่อยอดมาเป็นวัฒนธรรมการทำงาน ที่ขับเคลื่อนชาติให้ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในวันนี้
ถ้าให้ลองอธิบายถึงคนญี่ปุ่นแล้ว
หลายคนก็น่าจะนึกถึงคนที่มีระเบียบวินัย ขยันทำงาน และอ่อนน้อมถ่อมตน
นิสัยเหล่านี้ได้ฝังลึกลงไปในสายเลือดของคนญี่ปุ่น
จนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ยากจะหาใครเหมือน
และได้กลายมาเป็นจิตวิญญาณ ที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นจะมีคำว่า “อิชโชเก็มเม” ซึ่งมีความหมายว่า การทุ่มเทกับสิ่งที่กำลังทำอย่างสุดชีวิต
ถ้าใครที่ได้ทำงานในองค์กรญี่ปุ่นหรือได้รู้จักกับคนญี่ปุ่น จะสังเกตได้ว่าคนญี่ปุ่นจะทุ่มเทกับการทำงานมาก มากถึงขนาดที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จะเข้ามาทำงานก่อนเวลา และเลิกงานหลังเวลางานเป็นประจำ
ซึ่งข้อนี้จะค่อนข้างตรงข้ามกับประเทศฝั่งยุโรป อย่างเช่น เยอรมนี ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นเวลาและเลิกตรงตามเวลามากกว่าการทุ่มสุดตัว
ในอดีตญี่ปุ่นเคยมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่
ส่งผลให้คนญี่ปุ่นในชนบทอพยพเข้ามาในเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก
ในช่วงนั้นการทำงานในญี่ปุ่นยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร และยังไม่มีสวัสดิการที่ดีสำหรับพนักงาน
จนทำให้คนญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนงานบ่อยมาก
แต่หลังจากนั้นไม่นาน หลายโรงงานและหลายบริษัทก็เริ่มเห็นว่าการที่พนักงานเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ก่อให้เกิดผลเสียทั้งกับองค์กรและตัวพนักงานเอง
ไม่นานหลายบริษัท หลายองค์กร ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลพนักงานมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการ
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของคุณ Kōnosuke Matsushita
ผู้ก่อตั้งบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่าง Panasonic ที่เราคุ้นชื่อกันดี
ด้วยความที่คุณ Kōnosuke Matsushita เป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงการธุรกิจมากในขณะนั้น
เขาได้วางรากฐานที่สำคัญให้กับวัฒนธรรมการทำงานในโรงงานของเขา
โดยหนึ่งในรากฐานที่สำคัญก็คือ “การดูแลพนักงานทุก ๆ คนให้เหมือนคนในครอบครัว และเปรียบบริษัทเสมือนเป็นบ้าน”
จากเดิมที่พนักงานญี่ปุ่นจะได้รับเพียงแค่ค่าแรงเพียงอย่างเดียว ก็เริ่มมีการให้สวัสดิการต่าง ๆ ที่ดี เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้น และเพื่อที่จะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น และมีความกลมเกลียวและสามัคคีกันมากขึ้น
ความอ่อนน้อมถ่อมตน ยังส่งผลไปยังวัฒนธรรมการทำงาน
โดยในสังคมการทำงานของญี่ปุ่น คนที่มีอายุน้อยจะต้องเคารพคนที่อาวุโสกว่า
จึงทำให้เกิดระบบอาวุโสในทุกองค์กรของญี่ปุ่น
และเป็นที่มาว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนมากเวลาพูดคุยกับผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่อาวุโสกว่า
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ หากพนักงานคนไหนทำงานไม่ดี ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีการไล่ออก แต่จะนิยมใช้มาตรการอื่น ๆ ในการลงโทษแทน จึงทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากเมื่อได้ทำงานที่ไหนแล้ว ก็มีแนวโน้มจะทำงานที่นั่นไปตลอดชีวิต หรือเป็นเวลานาน
นอกเหนือจากชีวิตการทำงานในบริษัทแล้ว สังคมหลังเลิกงานของคนญี่ปุ่น จะนิยมการดื่มสังสรรค์กับคนในบริษัทด้วยกันเอง
ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรม ที่ทำให้คนในบริษัทมีความสนิทสนมกัน และได้ผ่อนคลายจากการทำงาน ทำงานให้เต็มที่ แล้วให้รางวัลชีวิตในวันนั้นด้วยการสังสรรค์อย่างเต็มที่ เพื่อเติมพลังชีวิต แล้วกลับมาทำงานเต็มที่ในวันต่อ ๆ ไป
แนวคิดดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดค่านิยมที่ทำให้คนญี่ปุ่นเกิดความจงรักภักดีต่อบริษัท และรู้สึกว่าตัวเองจะต้องตอบแทนบริษัทอยู่เสมอ
ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เรามักจะเห็นคนญี่ปุ่นชอบทำงานล่วงเวลา
แม้ว่าอาจไม่ได้รับค่าล่วงเวลาเลยก็ตาม
แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ..
เพราะในอีกด้านหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น คือการถูกล้อมด้วยวัฒนธรรมการทำงานอย่างหนักเกินไป
จนเกิดเป็นคำที่เรียกกันว่า “คาโรชิ”
โดยคำว่า คาโรชิ (Karoshi) มีความหมายว่า ทำงานหนักจนเสียชีวิต
ซึ่งเรื่องนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งในปัญหาหลักของสังคมญี่ปุ่นที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา
โดยมีการออกนโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มวันหยุด การบังคับให้เลิกงานก่อนในวันสำคัญ หรือการบังคับให้ใช้วันลาพักร้อน
แต่เหมือนว่าคนญี่ปุ่นอีกจำนวนไม่น้อย
ก็ดูจะไม่ได้สนใจมาตรการเหล่านั้นเท่าไรนัก
เพราะการทำงานหนัก เพื่อพาองค์กรที่เขารักและผูกพันให้ก้าวไปข้างหน้า
มันได้กลายเป็นจิตวิญญาณในการทำงาน ของคนญี่ปุ่น ไปเรียบร้อยแล้ว..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.