เลิกใช้หลอดพลาสติก ช่วยโลกได้มากแค่ไหน ?

เลิกใช้หลอดพลาสติก ช่วยโลกได้มากแค่ไหน ?

9 พ.ค. 2021
เลิกใช้หลอดพลาสติก ช่วยโลกได้มากแค่ไหน ? /โดย ลงทุนแมน
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ คนทั่วโลกต่างกระตือรือร้น ที่จะช่วยกันลดการใช้พลาสติก
โดยเฉพาะประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อย่างเช่นหลอดพลาสติก
เพื่อลดปริมาณขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล เพราะนอกจากพลาสติกเหล่านี้จะทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว
มันยังทำร้ายสัตว์ทะเลอีกด้วย
แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า หลอดพลาสติกที่เราช่วยกันใช้ให้น้อยลงนี้
จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดบนโลก ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี 2015 หรือ 6 ปีก่อน มีคลิปวิดีโอหนึ่งที่ถูกแชร์และพูดถึงกันไปทั่วโลก
เป็นคลิปวิดีโอที่นักชีววิทยาทางทะเล ได้ช่วยเหลือเต่าที่หายใจติดขัด
เพราะมีหลอดพลาสติกเข้าไปติดในจมูก
ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ขยะจากฝีมือมนุษย์ได้ไปทำร้ายสัตว์ทะเล
เพราะจริง ๆ แล้ว ยังมีกรณีร้ายแรงถึงขั้นทำให้สัตว์เสียชีวิต
อย่างเช่น เต่าทะเลที่เห็นถุงพลาสติกลอยน้ำอยู่
จึงเข้าใจว่าเป็นแมงกะพรุน เลยกินเข้าไป
จนถุงพลาสติกไปอุดหลอดลมจนเสียชีวิต
จากคลิปวิดีโอนั้นเอง ก็ได้เป็นเหมือนแรงกระเพื่อมทางสังคม
ที่กลายมาเป็นต้นกำเนิดของการร่วมกันรณรงค์ให้เลิกใช้หลอดพลาสติกทั่วโลก
เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล
โดยนำเสนอให้เราหันมาใช้หลอดที่สามารถล้างและใช้ซ้ำได้ หรือหากเป็นหลอดใช้แล้วทิ้ง
ก็เลือกใช้หลอดที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่า
เช่น หลอดกระดาษ ที่ใช้เวลาย่อยสลาย 2 ถึง 6 สัปดาห์
ในขณะที่หลอดพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายถึง 200 ปี หรือนานกว่าหลอดกระดาษ 1,740 เท่า
โดยแรงกระเพื่อมในครั้งนี้ ยังสั่นสะเทือนไปถึงผู้ประกอบการรวมถึงภาครัฐ
ที่ต่างก็ร่วมกันออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกลง
เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เริ่มแบนการใช้หลอดพลาสติกในปี 2018 อย่างเป็นทางการในหลายรัฐ
หรืออย่าง Starbucks และ McDonald’s ก็ประกาศว่าจะทยอยเลิกใช้หลอดพลาสติกไปจนครบทุกสาขา
ซึ่งข้อมูลจากการประเมินโดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล
ระบุว่าหลอดพลาสติกที่กลายเป็นขยะลงสู่ทะเลต่อปี มีจำนวน 8,300 ล้านชิ้น
หรือคิดเป็นน้ำหนักที่รวมกันกว่า 2,000 ตัน
แล้วปริมาณที่ว่านี้ ถือว่าเยอะขนาดไหน ?
เราลองมาดูข้อมูลเหล่านี้ ที่ถูกประมาณการไว้ เป็นจำนวนตันต่อปี
หลอดพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล 2,000 ตัน
พลาสติกทั้งหมดที่ถูกทิ้งลงทะเล 8,000,000 ตัน
ในขณะที่ขยะพลาสติกทั้งหมดมี 275,000,000 ตัน
จะเห็นได้ว่า ขยะจากหลอดพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลนั้น คิดเป็น 0.025% ของขยะพลาสติกทั้งหมด
ที่ถูกทิ้งลงทะเล และเป็น 0.0007% ของขยะพลาสติกทั้งหมด
ตัวเลขเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าหลอดพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล
แท้จริงแล้วคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลทั้งหมด
โดยข้อมูลระบุว่า กว่า 46% ของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลทั้งหมดนั้น
ส่วนใหญ่ก็คือแหตกปลา และที่เหลือ ส่วนใหญ่ก็มาจากอุปกรณ์ประมง
ที่ทำจากพลาสติก สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าในการจับปลาทูนาน้ำหนัก 1 หน่วย
จะมีอุปกรณ์ประมงที่กลายเป็นขยะพลาสติกในทะเลถึง 2 หน่วย
ซึ่งแหและอุปกรณ์ประมงเหล่านี้ ก็ส่งผลร้ายไม่ต่างจากขยะพลาสติกชนิดอื่น ๆ
เพราะมีหลายกรณีเช่นกัน ที่สัตว์ทะเลเข้าไปติดอยู่กับแหที่จมอยู่
แล้วได้รับบาดเจ็บ หรือหนีไปไหนไม่ได้ จนกระทั่งเสียชีวิต
หากเป็นแบบนี้แล้ว วิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร
ที่สามารถส่งผลอย่างมีนัยสำคัญได้ ควรเป็นอย่างไร ?
ในประเด็นของการปล่อยอุปกรณ์ประมงลงทะเล หลายฝ่ายต่างเสนอให้ออกบทลงโทษที่ชัดเจน และให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือขั้นตอนในการป้องกัน “ไม่ให้ขยะจากฝั่งลงสู่ทะเล” ซึ่งข้อเสนอต่างก็เป็นไปในทางเดียวกัน ก็คือเรื่องของ “กระบวนการจัดการและกำจัดขยะ”
ประเทศที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก หรือกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมด
ก็คือประเทศจีน รองลงมาคืออินโดนีเซีย ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา
โดย 19 อันดับแรกของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด เป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบจัดการและกำจัดขยะยังคงขาดประสิทธิภาพและไม่เพียงพอ
หากประเทศเหล่านี้ หันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบจัดการและกำจัดขยะ
ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ 50% จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก
ที่ถูกทิ้งลงทะเลทั่วโลกได้ถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว
ในด้านของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่
แม้ประเทศเหล่านี้จะมีระบบจัดการขยะที่ลงสู่ทะเลมีประสิทธิภาพเพียงพอ
แต่ปริมาณขยะพลาสติกต่อคน ยังถือว่าสูงมาก มากกว่าประเทศกำลังพัฒนา
ที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลในปริมาณมากเหล่านั้นเสียอีก
สำหรับการแก้ปัญหานี้ นอกจากการลดการใช้พลาสติกแล้ว ยังรวมไปถึงกระบวนการแยกขยะ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งการรียูสและรีไซเคิล เพราะทุกวันนี้ ขยะพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลมีเพียงแค่ 9% เท่านั้น
นั่นหมายความว่า นอกจากเราจะช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติกจากการใช้งานแล้ว
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ กระบวนการแยกขยะ และกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่
พร้อมทั้งการวางรากฐานและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบจัดการขยะไม่ให้ลงสู่ทะเล
แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นมุมมองจากด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติกเท่านั้น
เพราะหากพิจารณาถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ
จะพบว่าในกระบวนการผลิตพลาสติก
ถุงกระดาษจะใช้ทรัพยากรและปล่อยมลพิษมากกว่าถุงพลาสติก 43 เท่า
และถ้าเราพูดถึงกระบวนการผลิตถุงผ้านั้น
ถุงผ้าก็จะใช้ทรัพยากรและปล่อยมลพิษมากกว่าถุงพลาสติก 20,000 เท่า
หรือก็คือ เมื่อไม่ใช้ถุงพลาสติก 1 ถุง แล้วใช้ถุงกระดาษแทน
ถุงกระดาษนั้นต้องถูกนำมาใช้ซ้ำ 43 ครั้ง หรือถ้าเป็นถุงผ้า ต้องถูกนำมาใช้ซ้ำราว 55 ปี
ถึงจะเท่าเทียมกัน ในมุมของมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต
นอกจากนี้ การผลิตพลาสติกยังก่อมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้อยกว่ากระบวนการผลิตกระดาษและผ้าคอตตอนอีกด้วย
สุดท้ายแล้ว นี่ก็คงเป็นเหมือนกับหลาย ๆ สิ่ง
ที่เรายังไม่สามารถตัดสินแบบชี้ชัดได้ว่าอะไรดีกว่ากัน
เพราะทุกอย่างต่างก็มีทั้งปัจจัยที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป
และมุมมองเหล่านั้น ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา
ย้อนกลับไปในปี 1888 หรือเมื่อ 133 ปีก่อน
มนุษย์มีหลอดใช้ครั้งแรก ซึ่งเป็นหลอดทำจากกระดาษ
จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มนุษย์ได้รู้จักพลาสติกเป็นครั้งแรก
จึงทำให้ในปี 1969 ต่างก็หันมาผลิตหลอดจากพลาสติกแทน
เพราะดีกว่าหลอดกระดาษในด้านความคงทน ความสะดวกในการใช้งาน และมีราคาถูกกว่า
แต่ 50 ปีหลังจากนั้น หรือในวันนี้ คุณสมบัติของความคงทนที่ทุกคนชื่นชอบ
ก็ได้กลายมาเป็นประเด็นต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทั้งจากการย่อยสลายยากและได้กลายเป็นขยะลอยอยู่ในทะเล
จนเราต้องหวนกลับไปใช้หลอดกระดาษ
ที่แม้จะด้อยกว่าในเรื่องการใช้งาน แต่ก็ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าปริมาณหลอดพลาสติกที่เราช่วยกันลด
อาจไม่ได้คิดเป็นสัดส่วนที่มากเท่าไร เมื่อเทียบกับขยะพลาสติกบนโลก
แต่อย่างน้อย มันก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด
ที่เราสามารถช่วยให้โลกของเราดีขึ้นได้บ้าง แม้มันจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ก็ตาม..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.