สรุป DeFi ระบบการเงินไร้ตัวกลาง คู่แข่งหน้าใหม่ ของธนาคาร

สรุป DeFi ระบบการเงินไร้ตัวกลาง คู่แข่งหน้าใหม่ ของธนาคาร

8 พ.ค. 2021
สรุป DeFi ระบบการเงินไร้ตัวกลาง คู่แข่งหน้าใหม่ ของธนาคาร /โดย ลงทุนแมน
ที่ผ่านมา นอกจากกระแสคริปโทเคอร์เรนซีที่ร้อนแรงแล้ว
ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงไม่แพ้กันเลยคือ “DeFi”
หรือระบบการเงินที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลางในการทำธุรกรรมการเงิน
DeFi หรือ Decentralized Finance เป็นระบบการเงินแบบใหม่ที่ใครหลายคนคาดว่าจะเข้ามาแทนสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์
แล้ว DeFi คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปง่าย ๆ ให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปกติแล้ว คนส่วนใหญ่พึ่งพาสถาบันการเงินในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการฝากออมทรัพย์ การค้ำประกัน หรือการกู้ยืม
โดยสถาบันเหล่านี้ ถือเป็นบุคคลที่ 3 ที่มีอำนาจในการควบคุมบัญชีทั้งหมดของเรา
และทำหน้าที่เป็นตัวกลางเวลาที่เราทำธุรกรรม
ข้อดีก็คือ มีความน่าเชื่อถือและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคุณธนาคารกลาง
ทั้งหมดนี้ เราเรียกว่า Centralized Finance หรือ CeFi หมายถึง ระบบการเงินแบบรวมศูนย์
อย่างไรก็ตาม คำว่า “ตัวกลาง” ก็ได้เริ่มถูกละลายหายไปในหลายอุตสาหกรรมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนมาถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเราเรียกมันว่า Decentralized Finance หรือ DeFi นั่นเอง
DeFi ได้เข้ามาตัดสถาบันการเงินหรือตัวกลางในขั้นตอนการทำธุรกรรมทั้งหมดออกไป
โดยแทนที่ด้วยการทำงานของ Code หรือรหัสคำสั่งโปรแกรมที่เรียกว่า Smart Contract
ซึ่งจะระบุว่าเราเท่านั้นที่สามารถทำธุรกรรมของตนเองได้
ทั้งนี้ DeFi ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บนเครือข่าย Ethereum ที่มีหน้าที่ประกาศธุรกรรมที่เราทำให้ทุกคนในระบบรับรู้ไปด้วยกัน แปลว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครสามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลของเราได้
นอกจากนี้ อีกข้อได้เปรียบของ DeFi ก็คือจะช่วยลดความผิดพลาดจากมนุษย์ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำธุรกรรม รวมถึงตัดค่าธรรมเนียมของบุคคลที่ 3 ทิ้งไป ทำให้เราทำธุรกรรมได้ถูกลง
ปัจจุบัน DeFi มีให้บริการอะไรบ้าง ?
MakerDAO บริการแรกบนระบบ DeFi
ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถออกเหรียญดิจิทัลที่ผูกกับค่าสกุลเงินทั่วไป
เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Stablecoin
หลังจาก MakerDAO ประสบความสำเร็จ
ก็นำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มอื่น ๆ ตามมา
ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มสำหรับฝากและกู้ยืมเงิน ที่ชื่อว่า Compound
ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารตรงที่รับฝากเงินและนำไปปล่อยให้ผู้อื่นกู้ยืม
แต่ต่างกันตรงที่ เงินในแพลตฟอร์มนี้จะเป็นคริปโทเคอร์เรนซีเท่านั้น
โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือกู้ยืมจะขึ้นอยู่กับความต้องการและปริมาณเงิน
ที่มีอยู่ในระบบช่วงนั้น ๆ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับ Stablecoin
ณ ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี
และมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอยู่ที่ 7% ต่อปี
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้น้อยกว่าระบบธนาคาร
เทียบกับธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมสูง
แต่กลับให้ดอกเบี้ยตอบแทนเพียงน้อยนิดสำหรับผู้ที่ฝากเงิน
ประเด็นหลักของเรื่องนี้ ก็คือหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ต่างกัน
เพราะ DeFi จะใช้คริปโทเคอร์เรนซี เป็นตัวค้ำประกัน
แต่ธนาคารจะใช้ทรัพย์สินต่าง ๆ ในโลกจริงเป็นตัวค้ำประกัน เช่น ที่ดิน อาคาร โรงงาน
ดังนั้นการยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันบน DeFi ก็จะทำได้โดยอัตโนมัติ และเร็วกว่าธนาคาร
กว่าธนาคารจะใช้เวลาในการยึดที่ดิน อาคาร มาขายทอดตลาด ก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่สำหรับ DeFi สามารถบังคับขายได้ในวินาที
ดังนั้นการมีความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียของธนาคาร ที่จะขายหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ไม่เท่าเงินต้นที่ให้กู้ยืม จึงทำให้ต้องมีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง
อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายคนให้ข้อสังเกตว่า การให้กู้ยืมใน DeFi ยังมีจุดอ่อนที่ต้องใช้ตัวค้ำประกันที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีอยู่เท่านั้น ไม่สามารถนำทรัพย์สินในชีวิตจริงไปวางค้ำประกันได้เหมือนธนาคาร
แต่ก็ใช่ว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะมาอยู่ในโลกของ DeFi ไม่ได้ เพราะตอนนี้มีการวางแผนกันว่าทรัพย์สินในชีวิตจริงสามารถสร้างโทเคนขึ้นมาเพื่ออ้างอิง แล้วในอนาคตก็อาจนำโทเคนนั้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็เป็นได้
เมื่อระบบการเงินสำหรับฝากและกู้เริ่มเกิดขึ้นมา
ต่อมาจึงเกิดแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี
ตัวอย่างก็คือ Uniswap ซึ่งรองรับสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีถึง 2,000 กว่าสกุลเงิน
ก็เปรียบเทียบได้กับ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ หรือ Superrich ในบ้านเราที่ให้บริการแลกเงิน
แต่มีความแตกต่างอย่างหนึ่ง ที่นอกจากจะแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว
เรายังสามารถโอนคริปโทเคอร์เรนซีให้กับทาง Uniswap เพื่อเข้าไปเพิ่มสภาพคล่องบนแพลตฟอร์มได้ โดยที่เราก็จะได้ผลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมด้วย ซึ่งอยู่ที่ 0.3% ต่อปริมาณเงินที่แลกเปลี่ยน ซึ่งจะถูกแบ่งตามสัดส่วนจำนวนเงินที่เราลง
นอกจากนี้ยังมีบริการอื่น ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น
Flexa ที่ให้บริการรับชำระเงินด้วยคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม
ที่เปรียบเหมือนกับ Visa และ Mastercard
Synthetix ให้บริการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลที่เลียนแบบสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นหุ้น น้ำมัน ทองคำ ซึ่งทำให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้จะไปในทิศทางเดียวกัน
ซึ่งบริการนี้มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า และยังช่วยลดระยะเวลาในการทำธุรกรรมอีกด้วย
Nexus Mutual ประกันที่ให้บริการคุ้มครองเงินของนักลงทุน สำหรับจำนวนเงินที่ฝากในแพลตฟอร์ม Compound และ Uniswap

จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ระบบ DeFi ในปัจจุบันกำลังครอบคลุมทุกบริการด้านการเงิน
ตั้งแต่การใช้จ่าย ออมเงิน กู้ยืม ประกัน จนไปถึงการลงทุน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้วยผลประโยชน์ที่มากมายเหล่านี้
ทำให้ปัจจุบันมีผู้ฝากเงินในระบบ DeFi
บนเครือข่าย Ethereum ถึง 1.8 ล้านล้านบาท
ซึ่งหากเทียบย้อนหลังปีที่แล้ว จะมีการเติบโตที่ประมาณ 70 เท่า
แม้ว่า DeFi จะดูเหมือนว่ามีข้อดีมากมาย และก็น่าจะมีโอกาสมาปฏิวัติวงการการเงินได้
แต่ต้องไม่ลืมว่าระบบ DeFi เพิ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่นาน ซึ่งระหว่างนี้มันยังมีช่องว่างอีกมาก
และกฎหมายในหลายประเทศ ก็ยังไม่ได้คุ้มครองเหล่าผู้ลงทุน
อย่างในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาบนแพลตฟอร์ม DeFi
ที่ชื่อว่า bZx ที่ให้บริการกู้ยืมสินเชื่อ
โดยมีผู้ที่เห็นช่องว่างของระบบ ที่แม้จะไม่สามารถแฮกระบบได้
แต่ก็เข้ามาปั่นป่วนตลาด จนสามารถกอบโกยเงินไปเกือบ 11 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าทางแพลตฟอร์มได้ชดเชยให้แก่ลูกค้าที่เสียหายอย่างเต็มจำนวน
แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าระบบ DeFi ในขณะนี้ยังมีช่องว่างอยู่
อีกตัวอย่างที่เพิ่งผ่านมาไม่นานก็คือ เหรียญ SafeMoon จากแพลตฟอร์ม DeFi รายหนึ่ง
ที่แค่ให้เราเข้าไปถือเหรียญไว้ โดยจะได้เงินส่วนแบ่งจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามา
ซึ่งกรณีดังกล่าวก็กำลังถูกตั้งคำถามว่าตัวผู้ก่อตั้งเอา DeFi มาเป็นเปลือก
เพื่อทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่หรือไม่
นอกจากนี้ก็ยังมีนักวิชาการบางคนตั้งข้อสงสัยว่า
การกู้ยืมเงินจากในระบบส่วนใหญ่นั้นนำไปใช้ทำอะไร
หากการกู้ยืมนำไปเพิ่มผลผลิตในเศรษฐกิจจริง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
เพราะจะสร้างรายได้ในอนาคตที่สูงขึ้นและสามารถนำมาชำระหนี้ที่ก่อได้
แต่ถ้าหากนำไปซื้อคริปโทเคอร์เรนซีเพื่อเก็งกำไรต่อไปเรื่อย ๆ
ก็อาจจะเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่หนี้เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ได้สร้าง Productivity แก่เศรษฐกิจ
ทำให้ราคาสินทรัพย์ที่ถูกผลักดันสูงจนเกินไป กลับมาสู่ความเป็นจริงในที่สุด
ถึงตรงนี้ เราก็สามารถสรุปได้ว่า DeFi ก็น่าจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแวดวงสถาบันการเงินทั่วโลก ที่น่าติดตาม
แต่หากเรากำลังสนใจการลงทุนประเภทนี้
เราก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดและครบถ้วน
รวมถึงประเมินความเสี่ยงของเราเอาไว้ ก่อนตัดสินใจลงทุน
เพราะสิ่งที่ยังใหม่และมาพร้อมผลตอบแทนที่สวยหรู
ถึงแม้ว่าหลายอย่างอาจมีอยู่จริง
แต่มันก็จะแฝงไปด้วย การหลอกลวง อยู่บ่อยครั้ง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-08-26/why-defi-utopia-would-be-finance-without-financiers-quicktake
-https://coinmarketcap.com/alexandria/article/what-is-decentralized-finance#:~:text=The%20term%20DeFi%2C%20short%20for,and%20Brendan%20Forster%20of%20Dharma-https://compound.finance/markets
-https://uniswap.org/docs/v2/advanced-topics/understanding-returns/
-https://flexa.network/
-https://defipulse.com/synthetix
-https://www.bot.or.th/thai/statistics/_layouts/application/interest_rate/in_rate.aspx
-https://www.gemini.com/cryptopedia/synthetix#section-kwenta
-https://kasikornbank.com/th/rate/Pages/lending.aspx
-https://defirate.com/insurance/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.