สรุปเรื่อง “Govcoins” คริปโทแห่งรัฐ เมื่อทุกคนฝากเงินตรง เข้าแบงก์ชาติ

สรุปเรื่อง “Govcoins” คริปโทแห่งรัฐ เมื่อทุกคนฝากเงินตรง เข้าแบงก์ชาติ

10 พ.ค. 2021
สรุปเรื่อง “Govcoins” คริปโทแห่งรัฐ เมื่อทุกคนฝากเงินตรง เข้าแบงก์ชาติ /โดย ลงทุนแมน
คริปโทเคอร์เรนซีกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการการเงินมากขึ้น
ทั้งจากการเป็นสินทรัพย์ทางเลือกและการเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดทั้งต้นทุนและเวลาสำหรับการทำธุรกรรม
ปัจจุบัน คริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกก็คือ บิตคอยน์ มีมูลค่า
มากถึง 34 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเป็นอันดับที่ 8 ของโลก
เมื่อไม่นานมานี้ นิตยสาร The Economist ได้ตีพิมพ์บทความ Govcoins: The digital currencies that will transform finance หรือ Govcoins สกุลเงินดิจิทัลที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมการเงิน
ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาล
เพื่อที่นำมาคานอำนาจของตนให้คงอยู่
แล้ว Govcoins คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Govcoins ย่อมาจาก Government หรือรัฐบาล
รวมกับ Coins หรือเหรียญ รวมกันเป็นคริปโทแห่งรัฐ
ซึ่งมีผู้ออกและกำกับดูแลโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลางของแต่ละประเทศ
ที่ผ่านมา เราจะได้เห็นการเติบโตของ “Decentralised Finance” หรือ “DeFi”
นวัตกรรมทางการเงินแบบไร้ศูนย์ที่ถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน
รวมถึงแพลตฟอร์มทางการเงินทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัลและแอปพลิเคชัน
สำหรับรับชำระบนโลกนี้ เช่น PayPal, Ant Group, Grab และ Visa
มีฐานผู้ใช้งานรวมกันกว่า 3 พันล้านคน
คิดเป็นเกินกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ได้เข้ามาลดทอนอำนาจในการควบคุมเสถียรภาพ
ทางการเงินของขั้วอำนาจเดิม คือธนาคารกลางไปอย่างสิ้นเชิง
นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดของ “Govcoins”
Govcoins จะเข้ามาเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้แทนเหรียญและธนบัตรในแต่ละประเทศ
ซึ่งเราก็สามารถนำไปใช้จ่ายในการซื้อของได้ตามปกติ
แต่กลไกที่ต่างกันระหว่าง Govcoins กับระบบเงินตราในปัจจุบัน
ก็คือ แทนที่เราจะต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์
Govcoins จะเป็นบัญชีเงินฝากของเรา ที่ทำกับ “ธนาคารกลาง”
โดยธนาคารกลางจะเป็นผู้เข้ามามีบทบาท
ในการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับรับชำระเงินรวมถึงรับฝากเงิน
ไม่ต่างอะไรไปจากแอปพลิเคชันการเงินที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน
เช่น แอปธนาคารหรือแอปกระเป๋าเงินดิจิทัล
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
คอนเซปต์ของ Govcoins เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น
เมื่อรัฐบาลและธนาคารกลางแต่ละประเทศต่างตื่นตัว
เพราะตนเองมีแนวโน้มจะเสียอำนาจควบคุมระบบเงินตราในประเทศ
เพราะตั้งแต่ในอดีต ธนาคารกลางจะคอยควบคุมเศรษฐกิจ
โดยการปรับใช้นโยบายการเงิน ผ่านเหล่าสถาบันการเงิน
เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหรือการกำหนดอัตราเงินสด
ที่ต้องสำรองไว้สำหรับธนาคารพาณิชย์
ดังนั้นหากผู้คนย้ายการชำระ การฝากเงิน หรือการกู้ยืมเงินจากธนาคาร
ไปสู่โลกดิจิทัลที่ถูกดำเนินและควบคุมโดยเอกชนหลายราย
มันก็จะทำให้ธนาคารกลางจัดการกับวัฏจักรเศรษฐกิจได้ยากขึ้น
และโลกดิจิทัลที่ไม่มีการควบคุม ก็อาจเป็นช่องว่าง
ให้เกิดการฉ้อโกงรวมถึงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
อีกเหตุผลหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ Govcoins มีความเป็นไปได้มากขึ้น
ก็คือ การรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน
แม้ว่าเงินจะถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่กักเก็บความมั่งคั่งของเราเอาไว้ได้ดีที่สุด และยังเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
แต่เมื่อผู้ที่ถือกุมบัญชีของคนทั้งประเทศอยู่ยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชน
เวลาบริษัทเหล่านี้ประสบปัญหา เงินที่ควรจะกักเก็บความมั่งคั่งของประชาชนเอาไว้
อาจจะหายไปทั้งหมด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับ Lehman Brothers ที่ได้ล้มละลาย
ในช่วงวิกฤติซับไพรม์ในอดีต
ในขณะเดียวกัน ค่าธุรกรรมทางการเงินภายใต้ Govcoins มีแนวโน้มที่จะถูกลง
เพราะธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องสร้างกำไรเหมือนกับเหล่าสถาบันการเงินเอกชน
อีกหนึ่งความได้เปรียบก็คือธนาคารกลางและรัฐบาลร่วมมือกันได้ง่าย
สามารถร่วมมือกับรัฐบาลในการอัดฉีดเงินไปสู่ประชาชนได้ทันที
ซึ่งหาก Govcoins สำเร็จ มีการคาดการณ์กันว่า
จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมการเงินเฉลี่ย 11,000 บาทต่อคนต่อปี
และทำให้ผู้คนที่ยังไม่มีบัญชีเงินฝาก สามารถเข้าถึงได้อีกด้วยประมาณ 1.7 พันล้านคน
จากประโยชน์เหล่านี้ จึงทำให้ธนาคารกลางจาก 50 กว่าประเทศทั่วโลก
กำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง เช่น ประเทศจีนเปิดตัว e-yuan
โดยมีผู้ทดลองใช้แล้ว 500,000 คน
แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่กำลังสร้าง e-dollar
หรืออังกฤษเองก็เปิดองค์กรสำหรับศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ทำให้เราสรุปได้ว่าแนวคิดของ Govcoins
เป็นหนึ่งในไอเดียที่มีความเป็นไปได้และสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้ทันที
เพราะนับเป็นการนำความเชื่อมั่นของทั้งประเทศไปผูกเอาไว้กับสกุลเงิน
ทั้งนี้ Govcoins ก็อาจจะถูกนำไปใช้ในเรื่องของการควบคุมความประพฤติ
ของพลเมืองในประเทศในรูปแบบของค่าปรับอิเล็กทรอนิกส์ ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวคิดนี้ได้ลดทอนความสำคัญของ “ธนาคารพาณิชย์” ลง
มันก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาบางอย่างตามมาได้ในอนาคต เช่นกัน
เพราะหากว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมย้ายเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ไปยังธนาคารกลางมากขึ้น นั่นหมายความว่าแหล่งของเงินทุนที่ธนาคารเหล่านี้จะนำไปปล่อยกู้ก็จะมีปริมาณที่ลดลง เช่นกัน
และเมื่อการปล่อยเงินกู้สู่ระบบเศรษฐกิจลดลง
การเติบโตของเศรษฐกิจทั้งระบบก็อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย
เท่ากับว่าธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่เพื่อนำมาปล่อยกู้ให้ได้ตามเดิม
ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า แหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ จะเปลี่ยนจากเงินฝากของลูกค้า ไปเป็น การกู้เงินจากธนาคารกลางเป็นหลัก
ก็น่าติดตามกันต่อไปว่าแนวคิดของ Govcoins จะเป็นอย่างไร
ธนาคารกลางจะช่วยรักษาขั้วอำนาจเดิมได้หรือไม่ แล้วธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบขนาดไหน อีกไม่นาน เราก็น่าจะได้รู้ไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่ นิตยสาร The Economist บอกถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตกับหลายประเทศ แต่จริง ๆ แล้ว ในตอนนี้ กระเป๋ารับฝากเงินของรัฐ ได้เกิดในประเทศไทยแบบเนียน ๆ ไปเรียบร้อยแล้วแบบที่เราไม่รู้ตัว ลองหยิบสมาร์ตโฟน แล้วกดแอปนั้นขึ้นมา แอปนั้นมีชื่อว่า เป๋าตัง นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.economist.com/finance-and-economics/2021/05/06/will-going-digital-transform-the-yuans-status-at-home-and-abroad
-https://www.economist.com/special-report/2021/05/08/a-future-with-fewer-banks
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.