สรุป ความเหลื่อมล้ำประเทศไทย ในมุมมองเกียรตินาคินภัทร

สรุป ความเหลื่อมล้ำประเทศไทย ในมุมมองเกียรตินาคินภัทร

12 พ.ค. 2021
สรุป ความเหลื่อมล้ำประเทศไทย ในมุมมองเกียรตินาคินภัทร /โดย ลงทุนแมน
แม้ว่าทั่วโลกโดยรวม ความเหลื่อมล้ำจะมีทิศทางที่ลดลงมาโดยตลอด
แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย กลับไม่เป็นไปเช่นนั้น
จากข้อมูลของธนาคารโลกช่วงระหว่างปี 2015 ถึง 2018 พบว่าประชากรไทย
ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มจาก 4.9 ล้านคนเป็น 6.7 ล้านคน
ในขณะที่ปีที่แล้ว ธนาคารโลกก็ได้คาดการณ์ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
อีก 1.5 ล้านคน ซึ่งจะกินสัดส่วนเกินกว่า 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP
ก็ได้ออกรายงาน “เจาะลึกความเหลื่อมล้ำไทย แก้ได้ไหม แก้อย่างไร ?”
ที่ได้กล่าวถึงสถานการณ์และความท้าทายเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
พร้อมเสนอกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
แล้วรายงานฉบับนี้ มีอะไรน่าสนใจบ้าง ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรามาเริ่มกัน ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอยู่ตรงไหน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก
ตรงนี้เราสามารถอ้างอิงได้จากดัชนี Gini ที่ใช้วัดการกระจายรายได้ของประชากรในประเทศ
โดยรวมแล้ว ประเทศไทยจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำระดับกลางค่อนไปทางสูง
ซึ่งก็จะไม่ได้เหลื่อมล้ำมากเหมือนกับประเทศอินเดียและจีน
แต่ก็จะไม่ได้น้อยแบบประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป
ทีนี้ เรามาเริ่มจากมุมมองแรก
นั่นก็คือ “ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้”
รู้หรือไม่ว่ากลุ่มผู้ที่มีเงินเดือนสูงที่สุดในประเทศไทย กำลังมีสัดส่วนที่น้อยลง
ในขณะที่กลุ่มผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงระดับต่ำ มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น
หากดูจากตรงนี้ เราก็อาจจะตีความได้ว่า
เรากำลังจะมีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ลดลง
แต่จริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น เพราะว่าสาเหตุที่กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย
มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐ ที่มีการอัดฉีดเงินลงไป และเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เข้ามาทำงานในเมืองที่ได้โอนเงินกลับไปยังชนบท
แม้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในประเทศไทยจะดูดีขึ้น แต่เป็นการดีขึ้นแบบไม่ได้ยั่งยืนในระยะยาว
ต่อมา เรามาดูกันที่ “ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง”
ส่วนนี้เป็นการวัดการถือครองสินทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ
เช่น เงินฝากในธนาคาร หุ้น หรือที่ดิน
หัวข้อนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากในประเทศไทย
เพราะ Credit Suisse หนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่จากยุโรปได้ประเมินว่า
กลุ่มคนที่มั่งคั่งที่สุด 10% ของประเทศไทยมีสินทรัพย์มากกว่า 77% ของประชากรทั้งประเทศ
ในขณะเดียวกัน กลุ่มคน 1% ของประเทศไทย เฉลี่ยแล้วมีทรัพย์สินคนละ 33 ล้านบาท
ซึ่งต่างกันถึง 2,500 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคน 20% ที่จนที่สุดในประเทศ..
นั่นจึงทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านการถือครองสินทรัพย์สูงที่สุดในโลก โดยสาเหตุสำคัญที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำนับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997
ในขณะที่ ตลาดหุ้นไทยมีการฟื้นตัวจากช่วงวิกฤติได้ดีกว่าเศรษฐกิจในประเทศ
นั่นจึงทำให้กลุ่มคนที่มีทรัพย์สินที่อิงมูลค่าจากตลาดหุ้น มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเร็วกว่า
นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เป็นไปแบบไม่ทั่วถึง
และกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมีอัตราการเติบโตที่ดี แต่กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางจนถึงต่ำ
แทบจะไม่มีการเติบโตเลยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
คำถามที่ตามมาก็คือทำไมประเทศไทยยังเหลื่อมล้ำสูง ?
เราสามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก
1. ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้
2. ปัจจัยภายในที่เกิดจากนโยบายในประเทศ
มาเริ่มกันที่อะไรที่ประเทศไทยควบคุมไม่ได้ ?
คำตอบก็คือ “ราคาน้ำมัน”
ในความเป็นจริงแล้ว ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
แต่ในปี 2015 ก็ได้เกิดวิกฤติราคาน้ำมัน
ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบตกลงจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
เหลือเพียง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
วิกฤติครั้งนั้นส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงหนัก
หลังจากนั้นมา ราคาน้ำมันดิบก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับเดิมได้อีกเลย
ซึ่งภาคการเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญในประเทศของเรา
เพราะมีสัดส่วนแรงงานอยู่มากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ
แต่ GDP ที่ถูกสร้างขึ้นจากกลุ่มคนเหล่านี้ กลับทำได้เพียง 6%
นอกจากราคาน้ำมันดิบแล้ว อีกส่วนสำคัญก็คือคนไทยยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่จะช่วยให้ผลผลิตต่อเกษตรกรดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้วยเรื่องเงินทุนหรือความรู้ก็ตาม
แต่เมื่อหลายประเทศทั่วโลกสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง นั่นก็หมายความว่าราคาสินค้าเกษตรก็จะปรับตัวลดลง
ผลที่ตามมาคือ ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรที่ปกติรายได้น้อยอยู่แล้ว
จะยิ่งมีรายได้น้อยลงไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าหากไม่ใช่เกษตรกร จะสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้หรือไม่
เรื่องนี้เราก็ต้องมาย้อนดูตั้งแต่เรื่องของ “โอกาสทางการศึกษา”
รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีการใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา ที่ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่คุณภาพการศึกษากลับวิ่งไปในทางตรงกันข้าม
ผู้คนที่ร่ำรวยสามารถส่งเสริมให้ลูกเข้าเรียนกวดวิชาและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
ในขณะที่ผู้มีรายได้ต่ำไม่สามารถทำได้
เมื่อการเข้าถึงโอกาสแตกต่างกัน เด็กแต่ละคนจึงมีข้อจำกัด
ในการดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้ไม่เท่าเทียมกัน
สะท้อนให้เห็นได้จากผลสอบ O-NET ของสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในเมืองและในกรุงเทพฯ
มีค่าเฉลี่ยคะแนนที่สูงกว่าโรงเรียนอื่น ๆ ในทุกสาขาวิชา อย่างมีนัยสำคัญ
สะท้อนว่ารัฐยังไม่สามารถกระจายคุณภาพการศึกษาให้ทั่วถึง
เมื่อจบการศึกษา สิ่งที่ตามมาก็คือการเข้าไปเป็นแรงงาน
มันก็กลับไปที่เรื่องเดิมที่ว่าแรงงานมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ต่ำมาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง
โดยมีอัตราการเติบโตเพียง 0 ถึง 3% ต่อปีเท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอกับการออม
เพราะอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่เท่า ๆ กัน
หรือหากเราจะเลือก ก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง
ในประเทศไทยก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย
เพราะว่าเรายังขาดกฎหมายกำกับการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นระบบ
ซึ่งไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ต้องการพื้นที่ในการเติบโตมากนัก
รู้หรือไม่ว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุดเพียง 5% แรกของประเทศไทย
สร้างรายได้มากถึง 46% ของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งในประเทศไทยรวมกัน..
ปัญหานี้ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด 19
ที่ดูเหมือนจะซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลงอีก
เพราะในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินสะดวกใจที่จะช่วยเหลือกลุ่มบริษัทใหญ่มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย เพราะมีความน่าเชื่อถือและฐานะการเงินที่ดีกว่าอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ปกติมีเนื้องานที่ไม่สามารถทำจากที่ห่างไกลหรือจากที่บ้าน
ก็ได้รับผลกระทบหนักกว่ากลุ่มคนรายได้ระดับอื่น ๆ
จึงทำให้ในช่วงโรคระบาดโควิด 19 กลายเป็นอีกตัวเร่งสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 ล้านคน
ในขณะเดียวกัน การที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ก็ถือเป็นตัวเร่งความเหลื่อมล้ำเช่นกัน
เพราะเมื่อเราแก่ตัวแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยากที่จะสามารถสร้างรายได้คงเดิมต่อไป
แน่นอนว่าเมื่อรายได้ลดลง สิ่งที่ตามมาก็คือหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะที่ประชาชน
จะแก่ก่อนรวยและเป็นการสร้างช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างยิ่งกว่าเดิม
แล้วแก้ไขยังไงดี ?
แม้เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้
แต่ในรายงานก็มีการนำเสนอ “กลไกลดความเหลื่อมล้ำ”
ซึ่งก็ได้แบ่งออกเป็น 5 หัวข้อ ดังนี้
1. กลไกทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขัน
เริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมและต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการผูกขาด หากทำได้สำเร็จ ก็น่าจะทำให้การกระจุกตัวของทรัพยากรทางเศรษฐกิจเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
2. กลไกทางภาษี โดยใช้ระบบภาษีในอัตราก้าวหน้าและภาษีที่เก็บบนฐานความมั่งคั่ง เช่น ภาษีที่ดินและภาษีมรดก
3. กลไกสวัสดิการของรัฐ ที่ต้องทำให้คนเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุขขั้นพื้นฐาน และสินเชื่อ มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
4. กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อป้องกันการทุจริต
5. กลไกกระจายอำนาจการเมืองและการคลัง ควรมีการปรับนโยบายการจัดสรรอำนาจไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อให้ครอบคลุมการกระจายรายได้สู่ทุกพื้นที่ในประเทศ
ถึงตรงนี้ เราก็สามารถสรุปได้ว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
เกิดขึ้นจากส่วนประกอบหลายอย่าง ซึ่งก็มีทั้งที่เราควบคุมไม่ได้
และที่เราสามารถควบคุมได้โดยใช้นโยบายในการผลักดันให้ดีขึ้นได้
จากกลไกการลดความเหลื่อมล้ำทั้ง 5 ข้อ
ที่ทางกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้ทำการนำเสนอเอาไว้
หากทำได้ข้อใดข้อหนึ่งจากตรงนั้น ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ แล้ว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/inequality-situation-in-thailand
-https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/34496/9781464816024.pdf
-http://documents1.worldbank.org/curated/en/841701595602517692/pdf/Executive-Summary.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.