ประเทศไทยมีพันธบัตรรัฐบาลประเภท Sustainability เพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นครั้งแรก

ประเทศไทยมีพันธบัตรรัฐบาลประเภท Sustainability เพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นครั้งแรก

20 พ.ค. 2021
ประเทศไทยมีพันธบัตรรัฐบาลประเภท Sustainability เพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นครั้งแรก
ถ้าให้อธิบายว่า พันธบัตรรัฐบาลคืออะไร?
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ตราสารที่ผู้ถือ มีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ของรัฐบาล
โดยรัฐบาลจะนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรไปใช้ในโครงการต่าง ๆ
และรัฐบาลจะคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ ตามเวลาที่กำหนด
แล้วรู้หรือไม่ เวลานี้ประเทศไทยก็มีสิ่งที่เรียกว่า “Sustainability Bond” หรือ “พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน” แล้ว
แล้ว Sustainability Bond ที่ว่านี้คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?
Sustainability Bond หรือ “พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน”
เป็นพันธบัตรที่ใช้ในการระดมทุนจากบริษัท สถาบันการเงิน และนักลงทุนรายใหญ่
โดยเงินที่ได้ จะถูกนำไปใช้เฉพาะแค่ด้าน “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคม”
ต่างจากพันธบัตรรัฐบาลที่เราคุ้นเคย ที่เป็นการระดมเงินไปลงทุนในหลากหลายด้าน
โดย Sustainability Bond จะแตกต่างจากพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)
และพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ตรงที่เป็นการระดมทุนเพื่อไปลงทุน
ทั้งในโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเพื่อสังคม
Sustainability Bond มีการออกครั้งแรก โดย Lloyds Bank ในประเทศอังกฤษ ในปี 2557 มูลค่ารวม 250 ล้านปอนด์
โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ ถูกนำไปสนับสนุนธุรกิจ SMEs ในกลุ่มเกษตรกรรมและธุรกิจให้บริการสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ เช่น สถานบริการสุขภาพ และการผลิตพลังงานทดแทน
ซึ่งผลคือ ธุรกิจ SMEs ในอังกฤษเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และมีส่วนช่วยให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
จากการพัฒนาของตลาดตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเพื่อสังคม
หลาย ๆ ประเทศเองก็ได้เริ่มออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)
โดยในปี 2559 ประเทศโปแลนด์ออก Green Bond เป็นประเทศแรก
ตามมาด้วยอีกหลากหลายประเทศ โดยในปี 2563 ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่ออก Sustainability Bond
ในเดือน มิถุนายน 2563
ส่วนประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีมูลค่าคงค้างของ Green Bond สูงที่สุด 35,900 ล้านยูโร
หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.36 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ การระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรในลักษณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับโลก โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 มีจำนวนมากกว่า 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับทั้งปี 2562 ที่มีมูลค่า 341 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
และในเดือนสิงหาคม 2563 ประเทศไทยก็มีการออกพันธบัตรประเภทนี้เช่นกัน
โดยการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ของประเทศไทยถือเป็นครั้งแรก
ในภูมิภาคอาเซียนที่มีพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนที่ออกโดยภาครัฐ ซึ่งมีกระทรวงการคลัง
โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นผู้ดำเนินการและดูแล
พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนรุ่นแรกนี้ มีอายุ 15 ปี และมีการเสนอขายครั้งแรกที่วงเงิน 30,000 ล้านบาท
โดยพันธบัตรดังกล่าวมีผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันชีวิต รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญต่าง ๆ ให้ความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง โดยมียอดแสดงความจำนงลงทุนรวมกว่า 60,911 ล้านบาท และ
สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ที่ 1.585% ซึ่งต่ำกว่า Yield ของพันธบัตรรัฐบาลแบบปกติ
ที่รุ่นอายุ 15 ปี ณ ขณะนั้น
ผลตอบรับที่ดีดังกล่าว ทำให้ สบน. ได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีวงเงินคงค้าง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท และมีแผนที่จะออกพันธบัตรรุ่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องให้เพื่อสร้างสภาพคล่องและพัฒนาตลาดตราสารหนี้
เหตุผลหลักที่พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนได้รับความนิยมอย่างสูง
เนื่องมาจากพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก
และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เราสามารถติดตามได้ว่าเงินที่เราซื้อพันธบัตรไปนั้น ถูกนำไปใช้ตามเป้าหมายของโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อสังคมหรือไม่
เพราะรายละเอียดของการใช้เงินจะถูกเก็บบันทึกไว้โดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีการจัดทำข้อมูลการเบิกจ่ายและยอดเงินคงเหลือภายใต้การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ทำให้มั่นใจได้ว่าเงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า เม็ดเงินขนาดใหญ่ที่ได้จากการระดมทุนผ่านพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) นี้ ถูกนำไปใช้ในโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมใดบ้าง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร
เงินระดมทุนที่ได้จากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond)
จะถูกนำไปใช้ในโครงการเพื่อสังคม (Social Project) และสิ่งแวดล้อม (Green Project)
โดยมีตัวอย่าง เช่น
- การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19
- การลงทุนพัฒนาพื้นที่และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
- การลงทุนจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- การสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาด้านการศึกษา
- การลงทุนในโครงการที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน
โดยวงเงิน 100,000 ล้านบาท ที่ระดมทุนได้มาจาก Sustainability Bond รุ่นปัจจุบัน ได้ถูกนำไปใช้ใน
1) โครงการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ
เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” วงเงิน 70,000 ล้านบาท ซึ่งจัดเป็น
โครงการเพื่อสังคม ประเภทส่งเสริมการสร้างงาน (Employment Generation) และ
2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
วงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งจัดเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ประเภทการขนส่งพลังงานสะอาด
(Clean Transportation) เพราะมีวัตถุประสงค์หลักในการลดการจราจรติดขัดจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ชุดนี้ได้จดทะเบียนและขึ้นแสดงใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Stock Exchange: LuxSE) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่แสดงข้อมูลตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, ตราสารหนี้เพื่อสังคม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ผู้ลงทุนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก
ซึ่งเป็นการจดทะเบียนตราสารครั้งแรกใน LuxSE ของประเทศไทยและแสดงให้เห็นถึงการยอมรับและความเชื่อมั่นที่ได้รับจากระดับสากล
สำหรับในต่างประเทศ พันธบัตรประเภทนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่รัฐบาลเป็นผู้ขายพันธบัตรเท่านั้น แต่จะมีรัฐวิสาหกิจเป็นผู้เสนอขายพันธบัตรประเภทดังกล่าว
รวมถึงภาคเอกชนเองที่ออกหุ้นกู้เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนี้อีกด้วย
การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยจึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ที่พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนได้ถูกนำเสนอให้เป็นที่รู้จัก เพื่อนำเงินไปใช้ประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
จนถึงเป็นการสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจรวมถึงภาคเอกชนให้ความสำคัญกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
- http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2019/25012019.asp
- ข้อมูลสำหรับการใช้ทำสื่อประชาสัมพันธ์ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
- เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.