“Scuttlebutt” กลยุทธ์หาหุ้นเด้ง จากคำซุบซิบนินทา

“Scuttlebutt” กลยุทธ์หาหุ้นเด้ง จากคำซุบซิบนินทา

24 พ.ค. 2021
“Scuttlebutt” กลยุทธ์หาหุ้นเด้ง จากคำซุบซิบนินทา /โดย ลงทุนแมน
ข้อมูล Inside หรือข้อมูลวงในของหุ้น เป็นสิ่งที่ใครหลายคนต้องการ
เพราะหากข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง มันก็จะทำให้เราได้เปรียบ
ในการลงทุนซึ่งนำไปสู่โอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดี
และถ้าถามว่าใครมีข้อมูลเหล่านี้มากที่สุด
ก็คงไม่พ้นมาจากเหล่าผู้บริหารและนักบัญชีของบริษัท
แต่ข้อมูลจากกลุ่มคนเหล่านี้ หากยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
ก็จะถือว่ามีความผิดต่อกฎของ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม มีวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถหาข้อมูลวงในได้โดยไม่ผิดกฎ
โดยวิธีนี้มีชื่อว่า “Scuttlebutt” หรือแปลเป็นไทยคือ คำซุบซิบนินทา
คำนี้ถูกคิดโดยคุณฟิลลิป ฟิชเชอร์ ผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่งหุ้นเติบโต
และเป็นต้นตำรับในการหาหุ้นที่สร้างผลตอบแทนหลายเด้ง
และรู้หรือไม่ว่าเขาคนนี้ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์
เปลี่ยนแนวทางการลงทุนจากที่แต่เดิมหาเฉพาะหุ้นราคาถูก
ให้หันมาลงทุนในหุ้นที่มีกิจการที่แข็งแกร่งอีกด้วย
แล้วเราจะไปหา Scuttlebutt ได้จากที่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Scuttlebutt หรือ คำซุบซิบนินทา เป็นวิธีการหาข้อมูลวงในจากการตามแกะรอยกิจการ
โดยแกะรอยในที่นี้ ก็คือการที่เราเข้าไปหามุมมองต่อสินค้าหรือบริการทั้งจากบริษัทที่เราสนใจ
หรือแม้แต่ไปตามหาเอาจากบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ซึ่งเราก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการดูงบการเงิน เสพข่าว หรือการฟังการรายงานจากผู้บริหาร เพื่อนำไปตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านี้ เป็นจริงมากน้อยเพียงใด
คำถามที่ตามมาก็คือ
แล้วเราจะไปฟังคำซุบซิบนินทา
หรือไปสืบข้อมูลเหล่านี้ จากใครได้บ้าง ?
วิธีที่ 1 สืบเสาะผ่านการซุบซิบกับพนักงานบริษัท
นั่นก็เพราะว่า พนักงาน คือผู้ที่อยู่หน้างาน
ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเห็นพฤติกรรมของลูกค้าโดยตรงเสมอ
และพอคาดการณ์ได้ว่ายอดขายของสินค้าหรือบริการกำลังไปทิศทางใด
นอกจากนี้ เรายังสามารถล้วงไปจนถึงกระบวนการทำงานภายในขององค์กรอีกด้วย
และแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เราไม่มีวันหาอ่านได้จากงบการเงิน
ในขณะที่ข้อมูลจากอดีตพนักงานที่เคยทำงานในบริษัทที่เราสนใจก็ถือว่าเป็นประโยชน์ เช่นกัน
ดังนั้น เราจึงควรหาคนรู้จักที่เป็นพนักงาน หรือไม่ก็สร้างความสัมพันธ์กับเหล่าพนักงาน
เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลชั้นยอด
ที่มีโอกาสสร้างความได้เปรียบให้กับการลงทุนของเรา
วิธีที่ 2 สืบเสาะผ่านคู่ค้า
แหล่งข้อมูลชั้นดีอีกหนึ่งแห่ง คือ คู่ค้าของกิจการ
เพราะผลประกอบการของบริษัทเอง มักจะสะท้อนไปยังคู่ค้าเช่นกัน
เช่น บริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่ม สามารถรู้แนวโน้มผลประกอบการได้
จากพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง หรือก็คือร้านค้าปลีกและค้าส่ง
เซเว่น อีเลฟเว่นในบ้านเรา เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ที่เราสามารถเช็กว่าสินค้าใดบ้างที่ขายดี
โดยการดู “ป้ายสินค้าตรงมุมขวาล่าง”
ซึ่งมีสัญลักษณ์ตั้งแต่ T1, T2, T3 หรือ T4
โดยสินค้าที่ขายดีมากมีสัญลักษณ์คือตัว T1
และไล่ลงมาจนขายไม่ดี คือไม่มีตัวอักษรเลย
จุดนี้ ก็สามารถช่วยให้เรานำไปประกอบการวิเคราะห์และนำไปคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้
ยกตัวอย่าง เช่น เครื่องดื่มของบริษัทไหนถ้ามีสัญลักษณ์ T1 เราก็อาจจะคาดเดาได้ว่าเครื่องดื่มของบริษัทนั้นขายดี
หรือแม้แต่เหล่าร้านจัดจำหน่ายสมาร์ตโฟน ที่นอกจากเราจะดูได้จากปริมาณลูกค้าในร้านแล้ว
เราก็ยังสามารถสอบถามพนักงานได้ว่าสินค้าไหนที่ขายดี
และแตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร
จากข้อมูลดังกล่าว ก็จะยิ่งทำให้เราตัดสินใจได้ว่าผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายไหน เช่น Apple, Xiaomi หรือ Samsung มาแรงกว่ากัน
วิธีที่ 3 สืบเสาะผ่านคู่แข่งในอุตสาหกรรม
เป็นธรรมดาที่การทำธุรกิจ เราต้องทำการวิเคราะห์คู่แข่ง
ซึ่งนอกจากเราจะดูภาพในเชิงตัวเลขอย่างส่วนแบ่งการตลาด
หรือแนวโน้มการเติบโตของแต่ละแบรนด์ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ผ่านมาแล้ว
เราก็สามารถใช้ข้อมูลของผู้เล่นรายอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
มาประกอบการตัดสินใจในธุรกิจที่เรากำลังสนใจได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทไหนมีปัญหาในการขนส่งล่าช้า เราก็อาจไปสอบถามจากพนักงานของแต่ละร้านว่าสินค้าตัวเดียวกันของบริษัทอื่นมีของในสต็อกพร้อมไหม
ซึ่งเราก็สามารถนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ความพร้อมของแต่ละบริษัท หรือการบริหารคลังสินค้าเบื้องต้นได้ เช่นกัน
หรือแม้แต่ในการรายงานผลประกอบการของผู้บริหารในประเทศไทย
หรือที่รู้จักกันในชื่อ Oppday ที่มีช่วงที่ให้ผู้เข้าฟังสอบถามผู้บริหาร
ที่เป็นคู่แข่งกับบริษัทที่เราสนใจ เราก็สามารถยิงคำถาม
เกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละบริษัท เมื่อเทียบกับคู่แข่งได้
ข้อดีของวิธีการนี้ คือส่วนใหญ่บริษัทคู่แข่งจะระบุข้อเสียของบริษัทอื่นได้ดีกว่าที่บริษัทบอกเอง
หรือหากคู่แข่งยอมรับในจุดแข็งของบริษัทอื่นที่เราสนใจ จุดแข็งนั้นจะถือว่ามีความน่าเชื่อถือ
วิธีที่ 4 สืบเสาะผ่านกลุ่มลูกค้า
หากเป็นสมัยก่อน
การหารีวิวจากกลุ่มลูกค้าอาจจะค่อนข้างทำได้ยาก
หรือไม่ก็สอบถามได้จากเพียงแค่คนรู้จักหรือคนกลุ่มน้อยเท่านั้น
แต่ปัจจุบันเราสามารถค้นหาความคิดเห็นของลูกค้านับหมื่นคน ได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ
เช่น รีวิวสินค้าตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง Amazon, Lazada หรือ Shopee
ในขณะที่รีวิวโรงแรม เราก็สามารถดูได้จากรีวิวบน Agoda
หรือร้านอาหาร ก็ Wongnai และ Tripadvisor
ซึ่งรีวิวของคนกลุ่มนี้ก็ทำให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้บริหารคิดกับเรื่องที่จะเกิดขึ้นจริง
มีโอกาสเป็นไปได้และเป็นความจริงมากน้อยขนาดไหน
หากเป็นสินค้าหรือบริการสำหรับธุรกิจ หรือที่เรียกว่า B2B
สามารถสอบถามผ่านพนักงานของบริษัทนั้น ๆ แทนก็ได้
เช่น อุปกรณ์การแพทย์ แน่นอนว่าเราไม่สามารถถามผู้บริหารของบริษัทที่ซื้อได้ก็จริง
แต่เราสามารถรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้านี้ได้จากพนักงาน หรือแพทย์และพยาบาล
เพราะเป็นผู้ที่ใช้งานโดยตรง และข้อมูลนี้อาจดีกว่ามาจากผู้บริหารเอง
สำหรับวิธีสุดท้ายก็คือ สืบจากการใช้งานจริงของ “ตัวเราเอง” หรือบุคคลใกล้ชิด
ปีเตอร์ ลินซ์ ผู้จัดการกองทุนระดับโลก
ใช้วิธีการนี้ในการหาธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนหลายเด้ง
โดยการสังเกตจากสินค้าและบริการที่ครอบครัวตนเองใช้
อย่างเช่น ภรรยาของเขาที่ชอบใช้ถุงน่องแบรนด์ L'eggs
ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทที่ชื่อว่า HanesBrands
เขาก็ได้ทดลองนำถุงน่องคู่แข่งอีกแบรนด์มาให้ภรรยาเปรียบเทียบกัน
และได้ข้อสรุปว่าถุงน่องของคู่แข่งไม่สามารถมาแทนได้
เพราะใส่ไม่สบายเท่าแบรนด์ L'eggs
ซึ่งหลังจากทดลองไปไม่นาน
ผลประกอบการต่อมาก็เป็นไปตามคาด
ยอดขายถุงน่องแบรนด์ L'eggs เติบโตพุ่งทะยาน
ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นเป็นหลายเท่า
จากเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า หุ้นที่ดีอาจใกล้ตัวเรากว่าที่คิด
และบางธุรกิจอาจจะอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่เราคิด
เพียงแต่เราไม่ได้นึกถึง
ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเลยก็คงหนีไม่พ้น
Apple ที่บุกเบิกสมาร์ตโฟนเป็นเครื่องแรกของโลก
หากลงทุนตั้งแต่ที่ iPhone เริ่มเข้าประเทศไทยช่วงแรก
จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้ถึง 42 เท่า
หรือแม้แต่โปรแกรมแต่งภาพอย่าง Adobe
ที่เติบโตตามงานกราฟิก ที่ไม่ว่าเราจะทำคอนเทนต์อะไร
ก็มักจะต้องใช้โปรแกรมนี้สร้างขึ้นแทบจะทั้งนั้น
หากเราลงทุนตั้งแต่เราเริ่มใช้ Adobe ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาลเช่นกัน
แต่การใช้วิธีนี้ ต้องระวังอคติ
ที่เกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการที่เราใช้เองด้วย
เพราะบางครั้งเราอาจมองโลกในแง่ดีหรือร้ายจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์คำซุบซิบนินทา หรือ Scuttlebutt
ก็เป็นหนึ่งในไอเดียการหาข้อมูลประกอบการวิเคราะห์หุ้นที่น่าสนใจ
เพราะหากเราทำอย่างสม่ำเสมอ มันก็ถือเป็นวินัยที่ดีของนักลงทุน
ที่จะทำให้เรารู้ลึก รู้จริง และรู้มากกว่าตัวเลขรายได้กำไรในอดีต
ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ที่ไม่ว่าใคร ก็รู้เหมือน ๆ กับเรา..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-หนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits โดย ฟิลลิป ฟิชเชอร์
-หนังสือ One Up on Wall Street โดย ปีเตอร์ ลินซ์
-http://www.scuttlebuttinvestor.com/blog/2018/11/19/the-scuttlebutt-method
-https://finance.yahoo.com/quote/AAPL?p=AAPL&.tsrc=fin-srch
-https://finance.yahoo.com/quote/ADBE?p=ADBE&.tsrc=fin-srch
-https://finance.yahoo.com/quote/COM7.BK?p=COM7.BK&.tsrc=fin-srch
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.