หากร้านอาหารทำระบบ Delivery เอง จะคุ้มไหม ?

หากร้านอาหารทำระบบ Delivery เอง จะคุ้มไหม ?

24 พ.ค. 2021
หากร้านอาหารทำระบบ Delivery เอง จะคุ้มไหม ? /โดย ลงทุนแมน
ช่วงที่ผ่านมา ค่า GP 30-35% หรือ Gross Profit ที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้แก่บรรดาแอปส่งอาหาร ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง
เพราะในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ที่ถือว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดกว่าทุกครั้ง
และทำให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ร้านอาหารทั่วประเทศงดให้ลูกค้านั่งทานในร้าน
นั่นแปลว่าร้านอาหารต่าง ๆ ต้องพึ่งพาช่องทางแอปส่งอาหารเพิ่มมากขึ้นแบบมีนัยสำคัญ นอกเหนือจากการขายหน้าร้านแบบ Take Away ก็เลยเกิดข้อเรียกร้องให้บรรดาแอปส่งอาหาร ช่วยลดค่า GP ที่ส่วนใหญ่เรียกเก็บ 30-35%
แต่รู้ไหมว่า ถ้าไม่นับรวม Robinhood ที่ใช้งบ CSR ของ SCB ในการเก็บ GP ที่ 0%
เมื่อไปดูงบการเงินของ แอปส่งอาหารรายใหญ่ในตลาด อย่าง Grab, Foodpanda หรือ LINE MAN
แม้แต่ละเดือนพวกเขาจะมีจำนวนออร์เดอร์มหาศาล แต่ก็ยังมีผลประกอบการที่ขาดทุนเป็นหลักพันล้านบาทแทบทุกราย
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
การระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ ทำให้ร้านอาหารหลายร้านต้องถูกปิดไม่ให้ทานอาหารในร้าน และให้ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น
ถึงแม้ว่าล่าสุด ภาครัฐได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและให้ลูกค้าสามารถนั่งทานในร้านได้ถึง 21.00 น.
อย่างไรก็ตามภาครัฐได้จำกัดจำนวนลูกค้าที่นั่งทานในร้าน
เรื่องนี้ทำให้ลูกค้ายังเข้าร้านน้อยลงกว่าในช่วงเวลาก่อนการระบาดรอบนี้อยู่ดี
เพราะหลายคนยังระแวงการนั่งทานในร้าน และพร้อมจ่ายค่าบริการเพื่อไม่ต้องเดินทาง
แล้วถ้าเป็นแบบนี้ไปอีกสักระยะ ก็คงมีบางร้านอาหารเกิดคำถามว่า
จะทำระบบ Delivery เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาแอปส่งอาหาร ดีหรือไม่
แน่นอนเรื่องนี้ย่อมมีทั้งข้อดี และข้อเสีย
ก่อนอื่นเรามาดูโมเดลธุรกิจ Food Delivery ในแบบเข้าใจง่าย ๆ
ก็คือการมีบริษัทหนึ่งลงทุนสร้างแพลตฟอร์มซึ่งเป็นเสมือน “คนกลาง”
เพื่อให้ลูกค้าและคนขับส่งอาหารได้เจอกัน
จากนั้นบริษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มก็เก็บส่วนแบ่งจากร้านอาหารและค่าบริการจากลูกค้า
ฟังดูก็น่าจะแฮปปีกันทุกฝ่าย เจ้าของแพลตฟอร์มมีรายได้, ร้านอาหารขายได้เยอะขึ้น
คนขับก็มีรายได้, ลูกค้าสะดวกสบาย
แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะแพลตฟอร์มนี้ อาจไม่ใช่ เสือนอนกิน อย่างที่ใครคิด
เพราะรู้หรือไม่ว่า แต่ละรายกว่าจะมาถึงจุดนี้ ต้องลงทุนเทคโนโลยีพัฒนาแอปตัวเอง
อีกทั้งแบกค่าใช้จ่ายทั้งส่วนแบ่งคนขับ, ค่าพนักงาน, ค่าโฆษณา และรายจ่ายอื่น ๆ
ผลลัพธ์คือทุกรายต่างขาดทุนกันหมด
Grab ขาดทุน 1,650 ล้านบาท (รวมธุรกิจเรียกรถและส่งอาหาร)
Foodpanda ขาดทุน 1,265 ล้านบาท
Gojek ขาดทุน 1,137 ล้านบาท
LINE MAN ขาดทุน 157 ล้านบาท
(ข้อมูลผลประกอบการในปี 2562)
ก็เลยเป็นเงื่อนปมปัญหาคือฝั่ง Food Delivery ไม่สามารถลดค่า GP ให้ต่ำกว่านี้
เพราะ ณ วันนี้นอกจากตัวเองยังไม่มีกำไรแล้วนั้น ก็ยังขาดทุนหนักหน่วง
ส่วนฝั่งร้านอาหารก็มองว่าค่า GP 30-35% ได้ทำลายกำไรจนแทบไม่เหลืออะไรเลย
ที่สำคัญหากผลักภาระตรงนี้ไปที่ลูกค้า ด้วยการปรับค่าส่งอาหารที่แพงขึ้น
แน่นอน ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้บริการ Food Delivery เจ้าอื่นในทันที
แล้วถ้าร้านอาหารจะหาทางออกเรื่องนี้ เพื่อให้ได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนขายหน้าร้าน
ก็จำเป็นต้อง “ตัดคนกลาง” อย่าง Food Delivery ออกไป
พร้อมกับสร้างระบบส่งอาหารเป็นของตัวเอง
หากทำอย่างนั้นจริง สิ่งที่ร้านอาหารจะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมีอะไรบ้าง ?

แน่นอนเรื่องการจะให้ร้านอาหารลงทุนเพื่อสร้างแอปพลิเคชัน ประเด็นนี้ตัดออกไปได้เลย
เพราะเป็นการลงทุนที่สูงและไม่คุ้มค่า ถ้าร้านอาหารยังมีสาขาไม่มากพอ และจะทำให้เสียโฟกัสในธุรกิจไป
โมเดลที่ง่ายที่สุดก็คือ การรับออร์เดอร์ทางโทรศัพท์หรือทางแช็ต LINE
สิ่งที่ตามมาก็คือ ร้านอาหารอาจต้องจ้างพนักงานอีก 1 ตำแหน่ง เพื่อทำหน้าที่นี้
สิ่งต่อมาคือ การจ้างคนขับส่งอาหาร หากจ้างประจำก็ต้องยอมจ่ายเงินเดือนสูง
เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบัน คนขับส่งอาหาร มีตัวเลือกในการหารายได้มากมาย
ทั้งขับให้ Food Delivery, ขับวินมอเตอร์ไซค์, ขับส่งสินค้าให้บริษัทขนส่ง
หรืออีกตัวเลือกคือ จ้างวินมอเตอร์ไซค์แถวร้าน แต่ปัญหาก็คือการควบคุมค่าส่งเป็นไปได้ยาก
เพราะวินมอเตอร์ไซค์คิดค่าบริการตามเรตที่กำหนดไว้
หากต้องส่งระยะไกล ๆ ค่าบริการอาจแพงกว่า Food Delivery ก็เป็นได้
นอกจากนั้นในช่วงเวลาเร่งรีบ อาจไม่มีวินมอเตอร์ไซค์คนไหน รับงานส่งอาหาร ซึ่งก็ยากต่อการควบคุมเวลาส่งอาหารไปถึงมือลูกค้า
เรื่องสุดท้ายคือ หากอยากให้ร้านอาหารเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ก็ต้องควักเงินซื้อโฆษณาสื่อต่าง ๆ
ซึ่งก็อาจต้องลุ้นว่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายและช่วยสร้างยอดขายให้กับทางร้านได้หรือไม่
ทีนี้ เราลองมาดูแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่ร้านอาหารจำเป็นต้องแลกด้วยการจ่ายส่วนแบ่ง 30-35%
ให้แก่บรรดาแอปพลิเคชันต่าง ๆ สิ่งที่ร้านอาหารได้คืนกลับมานั้น มีอะไรบ้าง
เรื่องแรกคือ ไม่ต้องยุ่งยากหาคนรับออร์เดอร์และหาคนขับส่งอาหารเอง
เพราะแอปส่งอาหารจะมีระบบรับออร์เดอร์พร้อมคำนวณบิล ระบุที่อยู่จัดส่งของลูกค้า
โดยร้านอาหารสามารถรอรับเงินโอนจากแพลตฟอร์ม
ไม่ต้องวุ่นวายหากลูกค้าจะจ่ายผ่านบัตรเครดิต
แอปส่งอาหารยังมีข้อได้เปรียบคือการมีฐานคนขับส่งอาหารคอย Standby อยู่ตลอดเวลา
นอกจากตัดปัญหาในเรื่องการหาคนขับในช่วงเวลาเร่งด่วนแล้ว ก็ไม่ต้องวุ่นวายกับการจัดการในค่าบริการส่งอาหารกับลูกค้า เพราะแต่ละเจ้ามีอัตราค่าส่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดไว้อยู่แล้ว
ข้อได้เปรียบสุดท้าย ก็คือการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมหาศาล
และทำให้คนรู้จักร้านอาหารในวงกว้าง โดยในบางแอปร้านค้าสามารถเข้าถึงลูกค้าเพิ่มเติมด้วยการโฆษณาในแอปอีกด้วย
สรุปแล้ว โมเดลไหนดีกว่ากัน ระหว่างร้านอาหารทำระบบ Delivery เองหรืออยู่บนแพลตฟอร์ม Food Delivery ซึ่งเชื่อว่าแต่ละร้านก็คงมีคำตอบแตกต่างกันออกไป
ทางออกของเรื่องนี้ก็คือทุกคนที่เกี่ยวข้องควรมองถึงความจริงของแต่ละฝ่าย
เจ้าของแพลตฟอร์ม Food Delivery แม้เกือบทุกรายยังขาดทุน
แต่ลึก ๆ ทุกรายต้องการทำธุรกิจให้มี กำไร
ฝั่งร้านอาหารก็ต้องการเห็นกำไรสมน้ำสมเนื้อในการขาย Delivery
ส่วนคนขับส่งอาหารก็ต้องการรายได้ที่คุ้มค่ากับเวลาทำงานที่เสียไปในแต่ละวัน
ผู้บริโภคก็อยากที่จะจ่ายค่าบริการส่งอาหาร ในราคาสมเหตุสมผล
สุดท้ายแล้วก็ต้องทำให้ทุกฝ่าย ได้รับผลประโยชน์ ในขนาดที่สมดุลกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-https://www.thairath.co.th/business/economics/2086451
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.