DoorDash แอปส่งอาหาร ที่นิยมสุดในอเมริกา

DoorDash แอปส่งอาหาร ที่นิยมสุดในอเมริกา

27 พ.ค. 2021
DoorDash แอปส่งอาหาร ที่นิยมสุดในอเมริกา / โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงธุรกิจ Food Delivery
เชื่อว่าคนไทย คงคุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น Grab, LINE MAN, foodpanda หรือ Gojek
แต่รู้ไหมว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ก็มีผู้ให้บริการ Food Delivery เจ้าใหญ่อยู่หลายราย
แต่แอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ คือ “DoorDash”
ทำไม DoorDash ถึงครองตลาดสั่งอาหารออนไลน์ของสหรัฐอเมริกาได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
DoorDash เป็นแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์
เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2013 หรือ 8 ปีที่แล้ว
ผู้ที่ร่วมก่อตั้งบริษัทและดำรงตำแหน่ง CEO ในปัจจุบัน คือ คุณ Tony Xu
เขาเป็นชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ครอบครัวไม่ได้มีฐานะร่ำรวย
ทำให้ต้องคอยช่วยคุณแม่ ทำงานพิเศษที่ร้านอาหารจีน มาตั้งแต่เด็ก
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวก็เก็บออมเงิน จนสามารถส่งเขาเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัย Stanford ได้สำเร็จ
ซึ่งต่อมา คุณ Tony Xu ได้มีโอกาสทำโปรเจกต์ธุรกิจร่วมกับ คุณ Stanley Tang, คุณ Andy Fang และ คุณ Evan Moore
และเนื่องจากเขามีประสบการณ์เกี่ยวกับร้านอาหาร จึงเสนอไอเดียสร้างผลิตภัณฑ์ ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย
โดยพวกเขาสำรวจข้อมูลพบว่า
ความจริงแล้ว ผู้บริโภคมีความต้องการสั่งอาหารจากร้านเล็ก ๆ ในท้องถิ่นสูงมาก
แต่ทางฝั่งร้านอาหารนั้น ไม่มีเงินทุนและกำลังคนมากพอ สำหรับจัดส่งอาหารให้ครบตามออร์เดอร์ได้
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเลือกพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยเริ่มแรก ได้เปิดเว็บไซต์ ชื่อว่า PaloAltoDelivery.com
ทดลองรวบรวมเมนูจากร้านบริเวณมหาวิทยาลัย และผลัดกันเป็นคนจัดส่งอาหาร
จนกระทั่งปี 2013 โปรเจกต์นี้ได้รับเงินทุนจาก Y Combinator สถาบันบ่มเพาะสตาร์ตอัปชื่อดัง
พวกเขาจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “DoorDash”
ซึ่งต่อมาก็มีนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ เช่น Sequoia Capital และ SoftBank เข้ามาถือหุ้นของบริษัทด้วย
โดย DoorDash ใช้กลยุทธ์การขยายธุรกิจ ที่มุ่งเน้นรวบรวมร้านอาหาร ทั้งแบรนด์ดังและร้านประจำท้องถิ่นต่าง ๆ มาไว้บนแพลตฟอร์มให้มากที่สุด
ปัจจุบัน มีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 450,000 แห่ง ครอบคลุม 4,000 เมือง ใน 50 รัฐ
และมีพาร์ตเนอร์คนขับรถส่งอาหาร ที่บริษัทเรียกว่า Dashers อยู่ราว 1 ล้านราย
ซึ่งทำให้ DoorDash มีเมนูที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ได้ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่
ต่างจากผู้เล่นรายอื่น ที่ส่วนใหญ่นำเสนอแต่ร้านดัง ๆ ในตัวเมืองใหญ่
ส่งผลให้แอปพลิเคชันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีผู้ใช้งานสูงถึง 20 ล้านราย
เรามาลองดูส่วนแบ่งตลาด Food Delivery ของสหรัฐอเมริกา ประจำเดือนมีนาคม 2021 จากการสำรวจของ Bloomberg Second Measure
- DoorDash ส่วนแบ่งตลาด 55%
- Uber Eats ส่วนแบ่งตลาด 22%
- Grubhub ส่วนแบ่งตลาด 17%
- Postmates ส่วนแบ่งตลาด 5%
จะเห็นได้ว่า DoorDash ครองตลาด แอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์ของสหรัฐอเมริกา แบบนำหน้าคู่แข่งอยู่พอสมควร
แล้วอย่างนี้ ผลประกอบการของ DoorDash เป็นอย่างไร ?
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มาสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น
ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลให้เจ้าตลาดอย่าง DoorDash เติบโตแบบก้าวกระโดด
ปี 2018 รายได้ 9,050 ล้านบาท ขาดทุน 6,400 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 27,500 ล้านบาท ขาดทุน 20,700 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 89,800 ล้านบาท ขาดทุน 14,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงขาดทุนหนัก เพราะต้องใช้งบประมาณและโปรโมชันจำนวนมาก แข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นอย่างดุเดือด เพื่อดึงดูดทั้งร้านอาหารและแย่งชิงผู้บริโภค ให้มาใช้งานแพลตฟอร์มตนเอง
ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า DoorDash จะสามารถครองตลาด Food Delivery ของสหรัฐอเมริกาไปได้นานเท่าไร และจะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุดได้หรือไม่ ในสมรภูมิที่ไม่มีใครยอมใครอย่างตลาด Food Delivery
ทั้งนี้ DoorDash จดทะเบียน IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020
โดยปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ราว 1.3 ล้านล้านบาท
ซึ่งใกล้เคียงกับ มูลค่าประเมินของ Grab ที่กำลังจะเข้าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ในเร็ว ๆ นี้
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
ในช่วงที่ทดลองเปิดให้บริการ เมื่อปี 2013
คุณ Tony Xu และเพื่อน ๆ ต้องนั่งรอคำสั่งซื้ออาหารอยู่หลายชั่วโมง
จนสุดท้าย ก็มีออร์เดอร์แรกเข้ามา
เมนูนั้นคือ “ผัดไทยกุ้ง”..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.