สรุปวิธีโกง ทุกรูปแบบ ในวงการ การเงิน

สรุปวิธีโกง ทุกรูปแบบ ในวงการ การเงิน

27 พ.ค. 2021
สรุปวิธีโกง ทุกรูปแบบ ในวงการ การเงิน / โดย ลงทุนแมน
ในปี 1821 หรือย้อนกลับไป 200 ปีก่อน
อดีตทหารและนักสำรวจดินแดนชาวสกอตแลนด์
นามว่า “Gregor MacGregor” ได้อ้างว่าตนเองได้ค้นพบประเทศ Poyais (โปเยส)
ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และได้นำสิทธิ์การเป็นเจ้าของพื้นที่ในประเทศ
ไปเสนอขายแก่นักลงทุนชาวอังกฤษและฝรั่งเศส
แต่ท้ายที่สุดแล้วประเทศ Poyais นั้น กลับไม่มีอยู่จริง..
และแม้ว่าวันเวลาได้ล่วงเลยผ่านไป กลโกงเหล่านี้กลับไม่ได้หายไป
แต่กลับวิวัฒนาการตามยุคตามสมัย เปลี่ยนจากประเทศเป็นสินค้า
เปลี่ยนจากสินค้าเป็นผลตอบแทนที่สวยหรูจากการลงทุน
เมื่อไม่นานมานี้ Netflix ได้ออกสารคดีเกี่ยวกับการเงิน “Money, Explained”
โดยมีตอนย่อยที่ชื่อว่า Get Rich Quick ซึ่งก็ได้เล่าถึงกลโกงทางการเงิน
ในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แล้วทุกวันนี้ เรากำลังเผชิญกับกลโกงอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
“เพียงแค่ฝากเงินกับเรา การันตีผลตอบแทนถึง 20% ต่อเดือน”
“นี่คือสินทรัพย์รูปแบบใหม่ ที่มีเทคโนโลยีอยู่เบื้องหลัง ผู้ที่ไม่ลงทุนคือคนล้าหลัง”
นับเป็นหลายศตวรรษแล้ว ที่คำโฆษณาเกินจริงเหล่านี้อยู่กับเรามาโดยตลอด
ตั้งแต่การบอกปากต่อปากวิวัฒนาการมาเป็นโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน
รู้ไหมว่า โดยปกติแล้วคนเรามักจะคิดว่าตัวเองรู้ทันคำโกหกของคนอื่นเสมอ
ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว เราเองอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น
หากย้อนดูเฉพาะประเทศไทยที่ผ่านมา
จะเห็นได้ว่าเจอการฉ้อโกงมาตลอด
แม้จะมีเปลี่ยนรูปแบบที่ต่างกันออกไป
แต่ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันก็คือ ผู้เสียหายที่ยังคงติดกับดักจำนวนมากอยู่เสมอ
ตั้งแต่เหตุการณ์ แชร์แม่ชม้อย, แชร์ชาร์เตอร์, แชร์แม่มณี, Forex 3D, ซินแสโชกุน
และล่าสุดก็น่าจะเป็น “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” ที่หลอกลวงในรูปแบบของทัวร์
หากนับมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รวมกันก็น่าจะเกินกว่าหมื่นล้านกว่าบาท
ซึ่งก็เป็นหลักฐานสำคัญว่า
สุดท้ายแล้วคนเราก็ยังไม่สามารถตามทันคำโกหกของผู้อื่น
ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาท เราจึงควรรู้จักกับการโกงในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น
วิธีที่หนึ่งคือ “Advance Fee”
กลวิธีจ่ายเงินก่อน เพื่อแลกกับเงินก้อนใหญ่ทีหลัง
เป็นวิธีหลอกลวงเอาเงินก้อนหนึ่ง และหลังจากนั้นก็จะหายไปเลย
มักพบทางสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook หรือตามอีเมลที่ส่งมา
เราอาจเคยเจอกับประโยคว่า
“คุณได้รับรางวัลเงินล้าน เพียงแค่โอนเงินค่าธรรมเนียมมา รับทันที”
หรือ “คุณโอนเงินมาให้ก่อน แล้วเราจะส่งใบแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ให้ภายหลัง”
สิ่งเหล่านี้ก็คือ กลโกงแบบ Advance Fee นั่นเอง
รู้หรือไม่ว่าถึงกลวิธีนี้จะดูแสนเชยก็ตาม แต่ยังสามารถกอบโกยได้มหาศาลทั่วทุกมุมโลก
วิธีถัดมาก็คือ “Pump & Dump” หรือกลวิธีลากขึ้นไปเชือด
ซึ่งเป็นกลโกงยอดนิยมในปัจจุบันอย่างมาก
โดยวิธีนี้จะหลอกให้คนเข้าไปลงทุนในสิ่งที่ไม่มีค่าหรือไร้ค่า
หลังจากนั้นเหล่าคนที่อยู่เบื้องหลังการโกง จะคอยปั่นราคาให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
และทยอยขายเมื่อราคาเริ่มถึงจุดที่จะไปต่อไม่รอด
ปัจจุบันมักพบเจอกลวิธีนี้ในวงการซื้อขายหุ้นรวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยขั้นตอนคือจะมีคนส่งสัญญาณปั่นราคาเข้าไปในแอปส่งข้อความต่าง ๆ
เช่น Telegram เพื่อให้คนวงในเข้าไปซื้อสินทรัพย์ก่อน แล้วดันราคาให้พุ่งขึ้นสูง
หลังจากนั้นคนอื่นจะคิดว่าสินทรัพย์นี้กำลังเป็นที่นิยมและอยู่ในช่วงขาขึ้น
จึงตามเข้าไปซื้อด้วย และเวลาต่อมานี้เองที่เหล่าคนวงในจะขายทำกำไร วัฏจักรการโกงจึงสิ้นสุดลง
อีกวิธีซึ่งอยู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน
ก็คือ Ponzi Scheme หรือธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” แบบพอนซี
โดยชื่อนี้ตั้งตามชาร์ลส์ พอนซี ชาวอิตาลีที่อพยพมาสหรัฐอเมริกา ในปี 1920
ซึ่งเขาอ้างกับผู้ที่มาลงทุนด้วยว่า จะได้ผลตอบแทน 50% ภายใน 45 วัน
แต่ถ้ารอถึง 6 เดือน จะได้ผลตอบแทนถึง 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงคือ เขาแค่เอาเงินของนักลงทุน
รายใหม่มาจ่ายให้รายเก่าไปเรื่อย ๆ เช่น สมมติให้ A เป็นสมาชิกก่อน B
เมื่อ B นำเงินเข้ามาลงทุน เงินส่วนนั้นก็จะถูกกระจายไปยัง A
และเมื่อ C เข้ามาเป็นสมาชิกลำดับถัดมา เงินในส่วนนี้เองก็กระจายไปยัง A และ B
ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่หมุนเงินในระบบ
และสร้างผลตอบแทนให้กับคนที่เข้ามาลงทุนไม่ทัน
นั่นจึงทำให้แชร์ลูกโซ่ล้มลงไป
เป็นกรณีเดียวกับแชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ในปี 2008
Bernie Madoff ที่รับประกันว่านักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนปีละ 10-15%
ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วกองทุนของเขาไม่สามารถทำได้
แต่ใช้เงินจากนักลงทุนรายใหม่มาจ่ายรายเก่าเท่านั้นเอง
ซึ่งการฉ้อโกงส่วนใหญ่ในประเทศไทย ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทนี้
เช่น แชร์แม่ชม้อย หรือแชร์ชาร์เตอร์
อีกรูปแบบของแชร์ลูกโซ่
จะอยู่ในรูปแบบของ Pyramid หรือธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” แบบเครือข่าย
รูปแบบของกลโกงนี้จะแตกต่างจากพอนซีตรงที่ว่า
สมาชิกแต่ละคนจะเป็นคนหาลูกข่ายของตัวเอง
เมื่อเทียบกับพอนซีจะมีผู้บงการเพียงคนที่จัดระดมทุน
โดยสมาชิกในเครือจะแค่รอกำไรเข้ามา
ซึ่งทั้ง 2 วิธี จะเริ่มมีปัญหาเดียวกัน เมื่อไม่สามารถหาผู้เข้ามาร่วมในวงคนต่อไปได้
บางบริษัทที่ทำธุรกิจเครือข่ายหรือขายตรง
ก็ใช้วิธีการดึงคนเข้าแบบนี้เช่นกัน
จากตอนแรกโปรโมตขายสินค้า ต่อมาก็ชวนขายของด้วยกัน
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม MLM กลับเป็นธุรกิจถูกกฎหมาย
เพราะมันมีกติกาอยู่ว่าตราบใดที่เงินจากการขายสินค้ามากกว่าค่าธรรมเนียมการเข้า
จะยังไม่ถือเป็นแชร์ลูกโซ่นั่นเอง
กรณีในประเทศไทยคือ แชร์บลิสเชอร์
ที่ถูกจัดตั้งโดยบริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด
ซึ่งให้บริการที่พักสำหรับผู้ที่สมัครสมาชิกในราคาพิเศษ
และหากสมาชิกรายอื่นสามารถหาคนมาสมัครสมาชิกเพิ่มได้ จะมีค่าตอบแทนด้วย
แต่เหตุการณ์ก็ต้องจบลง
เมื่อพบว่าบลิสเชอร์ไม่มีที่พักของตนเองเลย
บัตรสมาชิกไม่สามารถใช้งานได้จริง
สุดท้ายแล้วแชร์ลูกโซ่รายนี้ก็ล่มสลายหายไป ซึ่งสร้างความเสียหาย 800 ล้านบาท
นอกจากนั้นการมีเฉพาะกลโกงอย่างเดียว จะไม่เพียงพอสำหรับหลอกล่อให้ผู้คนเข้ามา
คนฉ้อโกงเหล่านี้จึงทำการตลาดควบคู่กันไปด้วย
เช่น Fantastic Promise คำสัญญาที่สวยหรู
“คุณสามารถสร้างรายได้มหาศาล โดยไม่ต้องสร้างสินค้าสักชิ้น”
ทำให้คนเริ่มสนใจ ด้วยวิธีการที่ดูเรียบง่าย แต่ได้ผลตอบแทนที่สูง
Compelling Story นำเสนอเรื่องราวจากดินสู่ดาว
“จากพนักงานออฟฟิศ เงินเดือน 15,000 บาท สู่การเป็นนายของตัวเองที่มีเงินเดือนเป็นล้าน”
เพื่อสร้างความหวัง ซึ่งทำให้หลายคนคิดว่าตัวเองก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
Social Proof มีหลักฐานยืนยันจากสมาชิก
“แค่ผมทำตามที่เขาสอน ผมก็สามารถจับเงินล้านได้ภายในปีเดียวเท่านั้น”
เพราะพฤติกรรมคนส่วนใหญ่มักเชื่อรีวิวจากลูกค้ากันเอง
Sense of Urgency สร้างความรู้สึกรีบร้อน
“รับสมาชิกเพียง 30 คนเท่านั้น รอบครั้งก่อนเต็มเร็วมาก สมัครด่วนหากไม่อยากพลาดโอกาส”
คำโปรยที่ส่งผลให้การตัดสินใจของเราเน้นการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
Not a Scam การบอกว่าตัวเองไม่ใช่กลโกง
เพื่อเป็นการยืนยันให้เหล่าสมาชิกในเครือข่ายมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
แม้ความจริงจะรู้อยู่แล้ว ว่าตัวเองเป็น Scam
ซึ่งวิธีนี้นี่เอง OneCoin เคยใช้บอกกลุ่มผู้ถือเหรียญดิจิทัลของตน
ก่อนที่จะถูกจับได้ว่าเป็นเพียงแชร์ลูกโซ่เท่านั้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
งานวิจัยหนึ่งที่สำรวจกลุ่มผู้เสียหายจากการโดนฉ้อโกง
เพื่อหาลักษณะร่วมกันของกลุ่มคนเหล่านี้
ปรากฏว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีอะไรที่สัมพันธ์กันเลย
ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความฉลาด หรืออายุ
เรื่องนี้ถูกตอกย้ำจากความจริงที่ว่า แม้แต่ Stephen Greenspan ผู้เขียนหนังสือ Annals of Gullibility หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการจับผิดกลโกง ก็ยังเคยตกเป็นเหยื่อของ Bernie Madoff แชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา
แล้วถ้าหากถามว่า กลโกงเหล่านี้ทำไมมันยังอยู่
แถมยังสามารถวิวัฒนาการตามรูปแบบของสังคม
ที่เปลี่ยนไปได้มายาวนานเป็นร้อยปี
จากประเทศโปเยสยุคที่หลอกขายพื้นที่บนประเทศที่ไม่มีอยู่จริง
มาจนถึงยุคของเรา ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นเครื่องมือ
คำตอบข้อเดียว ก็คือ “ความโลภ” ของมนุษย์ที่ยังคงฝังอยู่ในทุกยุคสมัย
ทำให้มนุษย์เลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่สวยหรู แม้มันเป็นเรื่องหลอกลวง
ดังนั้น ก่อนที่เราจะเข้าไปลงทุนในอะไรก็ตาม
โปรดอย่าเริ่มต้นจากการดูว่าเราจะได้รับผลตอบแทนเท่าไร
จุดเริ่มต้นที่ควรจะเป็นก็คือ การลงทุนครั้งนี้
มันจะสร้างความเสียหายให้กับเรามากสุดได้เท่าไร ถ้ามันไม่เป็นความจริง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.