รู้จักแม่ฮ่องสอน จังหวัดที่รายได้ต่อประชากรน้อยที่สุด

รู้จักแม่ฮ่องสอน จังหวัดที่รายได้ต่อประชากรน้อยที่สุด

30 พ.ค. 2021
รู้จักแม่ฮ่องสอน จังหวัดที่รายได้ต่อประชากรน้อยที่สุด / โดย ลงทุนแมน
“เมืองสามหมอก” ถูกตั้งให้เป็นฉายาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เพราะจังหวัดเล็ก ๆ ติดชายแดนเมียนมาแห่งนี้ มีสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูง
สลับซับซ้อน ขณะที่สภาพอากาศมีหมอกปกคลุมตลอดเวลา
จนกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายให้มาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว
แต่รู้หรือไม่ว่า แม่ฮ่องสอนถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่มีอัตราความยากจนมากที่สุดในประเทศไทย..
เรื่องราวของแม่ฮ่องสอนเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 12,765 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของประเทศ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 87% ของพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัด
เป็นป่าไม้ และมีประชากรอยู่เพียง 284,000 คน
ในแง่เศรษฐกิจ ปี 2562 มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ของแม่ฮ่องสอน
อยู่ที่เพียง 15,021 ล้านบาท น้อยที่สุดในบรรดา 77 จังหวัดของประเทศไทย
และมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของมูลค่า GDP ทั้งประเทศ
โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัด ณ ราคาตลาดปัจจุบัน ถ้าแบ่งตามสัดส่วนจะมาจาก
ภาคบริการ 68%
ภาคเกษตรกรรม 26%
ภาคอุตสาหกรรม 6%
แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรจะอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่า GPP
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดนั้นทำอาชีพภาคเกษตรเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึง 81% ของประชากรทั้งหมด
โดยผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ของแม่ฮ่องสอนที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว กระเทียม ข้าวโพด กะหล่ำปลี และถั่วเหลือง

ปัญหาของชาวเกษตรกรที่แม่ฮ่องสอนประสบมักคล้ายๆ กับเกษตรกรไทยส่วนใหญ่นั่นคือ ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกัน ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรมีความไม่แน่นอน จนส่งผลต่อการบริโภคของครัวเรือน
รวมทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่ได้มีพื้นที่ถือครองเพื่อทำการเกษตรของตนเอง ทำให้มีต้นทุนในการทำเกษตรกรรมที่สูง
อีกด้านหนึ่ง แม้ว่าภูมิประเทศของแม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่เป็นธรรมชาติเหมาะกับการท่องเที่ยว และยังเคยได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 อันดับ จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทย
แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็นิยมเดินทางมาเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ หรือเพียงแค่ประมาณ 4 เดือนที่เป็นช่วง High Season เท่านั้น
ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่อำเภอปายซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 61% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมาที่แม่ฮ่องสอน จึงทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวยังมีจำนวนน้อยและกระจุกตัวเพียงบางพื้นที่
เมื่อรายได้จากภาคเกษตรกรรมที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวมีเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปไม้ และแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร
จึงทำให้มูลค่าเศรษฐกิจและรายได้ของประชากรที่แม่ฮ่องสอนนั้นน้อย
สวนทางกับค่าใช้จ่ายและหนี้สิน
รายได้เฉลี่ยต่อคนของชาวแม่ฮ่องสอนเท่ากับ 63,370 บาทต่อปี อยู่อันดับที่ 74 ของประเทศไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายได้เฉลี่ยต่อคนของคนไทยทั้งประเทศที่ 243,787 บาท เกือบ 4 เท่า
รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่แม่ฮ่องสอนเท่ากับ 13,097 บาท ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของประเทศ
และถึงแม้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 11,242 บาท ที่แม่ฮ่องสอนจะน้อยกว่าในจังหวัดอื่น แต่ก็คิดเป็นสัดส่วน 86% ของรายได้ต่อครัวเรือน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่เท่ากับ 77%
รวมไปถึงหนี้สินต่อครัวเรือนของชาวแม่ฮ่องสอนเท่ากับ 74,586 บาท สูงกว่ารายได้ต่อเดือนเกือบ 6 เท่า
พอเรื่องเป็นแบบนี้ แม่ฮ่องสอนจึงถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่มีอัตราความยากจนมากที่สุด
ในประเทศไทย
อุปสรรคอย่างหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดแห่งนี้ คือ การที่มีสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง ไม่เพียงแต่เป็นข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคสำหรับภาครัฐในการพัฒนาและลงทุนสาธารณูปโภคในแต่ละพื้นที่ เช่น ถนน ประปา ไฟฟ้า การศึกษา และสาธารณสุข
นั่นจึงทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงในการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประชาชนที่แม่ฮ่องสอนมานาน
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐพยายามออกมาตรการหลายอย่างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของแม่ฮ่องสอนให้เติบโตก้าวหน้าขึ้นจากปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น
การส่งเสริมประชาสัมพันธ์และเสนอจุดขายให้แก่นักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวเมืองรองอย่างแม่ฮ่องสอนมากขึ้น ทั้งทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดได้มากขึ้น
มาตรการช่วยเหลือและปรับปรุงสินค้าเกษตรซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของประชาชนที่นี่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรที่แม่ฮ่องสอนให้ดีขึ้น
พัฒนาเส้นทางคมนาคม เพื่อยกระดับด่านชายแดนแม่ฮ่องสอนกับเมียนมา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ก็เป็นที่น่าติดตามว่า การพัฒนาต่าง ๆ จะช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชากรที่แม่ฮ่องสอนให้ดีขึ้นกว่าวันนี้ได้หรือไม่
แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าแม่ฮ่องสอนจะเป็นจังหวัดที่อัตราความยากจนมากที่สุด
แต่จังหวัดนี้เคยถูกสำรวจว่าเป็นจังหวัดที่ผู้คนมีความสุขมากที่สุดในประเทศไทย
จากการสำรวจของเอแบคโพล ในช่วงวันที่ 1-19 มีนาคม 2556
การสำรวจนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
จำนวน 12,429 คน ผลการจัดอันดับค่าร้อยละของประชาชนที่อาศัยอยู่ในแต่ละจังหวัด
พบว่าจังหวัดที่ประชาชนอยู่แล้วมีความสุขมากที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน ได้ร้อยละ 60.9
ทั้งนี้ก็เพราะว่า แม้ว่าประชาชนที่นี่จะมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งทำให้มีประเพณี วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่คนเหล่านั้นก็สามารถอาศัยอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมเกลียว
มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คดีอาชญากรรมต่ำ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสูง
อีกทั้งยังแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่เงียบสงบนั่นเอง
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
จากการสำรวจเดียวกัน จังหวัดที่ประชาชนมีความสุขน้อยที่สุดในประเทศไทย
ก็คือ กรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนมีความสุขเพียง 20.8%..

References:
-https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=gross_regional
-https://en.wikipedia.org/wiki/Provinces_of_Thailand
-https://en.wikipedia.org/wiki/Mae_Hong_Son
-http://www.maehongson.go.th/index.php/th/province-info/general-info/product/11-province-info/districts-\info.html
-https://www.youtube.com/watch?v=QqGsBPTZe4o
-http://osthailand.nic.go.th/masterplan_area
-https://www.tnnthailand.com/news/wealth/30943/
-แผนพัฒนาจังหวัด (พ.ศ. 2561-2565), สํานักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน
-https://www.thebangkokinsight.com/news/lifestyle/wellness/484069/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.