สังคมไร้เงินสด จะนำไปสู่ สังคมไร้บัตร หรือไม่ ?

สังคมไร้เงินสด จะนำไปสู่ สังคมไร้บัตร หรือไม่ ?

31 พ.ค. 2021
สังคมไร้เงินสด จะนำไปสู่ สังคมไร้บัตร หรือไม่ ? / โดย ลงทุนแมน
เป็นที่รู้กันว่า การใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสด กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยการไม่ใช้เงินสดก็มีช่องทางให้เลือกที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่บัตรเครดิตและบัตรเดบิต
จนมาถึงแอปพลิเคชันและกระเป๋าเงินดิจิทัลบนสมาร์ตโฟน
แล้วการใช้จ่ายแบบไม่ใช้บัตรเหล่านี้
จะมีโอกาสมาแทนที่บัตรแบบดั้งเดิมหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
การใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสด
ในช่วงแรกจะเป็น “ยุคบัตรพลาสติก”
โดยเริ่มมาจากบัตรเครดิตในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปลาย 1950s
และก็มีบัตรเดบิตตามมา ในอีกไม่กี่ทศวรรษ
ประเทศที่ใช้บัตรกันอย่างแพร่หลาย
จนกลายเป็นช่องทางหลักในการใช้จ่าย
ก็คือกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการเงินสูง
อย่างเช่น ประเทศต้นกำเนิดบัตรอย่างสหรัฐอเมริกา รวมถึงในทวีปยุโรป
หรือในเอเชีย ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และสิงคโปร์
ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ การใช้จ่ายผ่านบัตรได้รับความนิยมมานาน
จนในปัจจุบัน มีสัดส่วนประชากรที่มีบัตรเครดิตมากเป็นครึ่งหนึ่ง
ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในสมัยนั้น มีความก้าวหน้าทางการเงินที่ช้ากว่า
อย่างเช่นในจีน, อินเดีย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย
การใช้จ่ายผ่านบัตรจึงไม่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง สัดส่วนการใช้บัตรจึงยังมีน้อย
โดยเฉพาะบัตรเครดิต ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มคนที่มีบัตรเครดิต คิดเป็นไม่ถึง 10% ของประชากร
นั่นอาจเป็นเพราะว่า การสมัครบัตรเครดิต จะมีเงื่อนไขบางอย่าง
อย่างเช่น หลักฐานการได้รับเงินเดือนย้อนหลัง
หรือเกณฑ์เงินฝากในบัญชีขั้นต่ำ
รวมไปถึงมีการคิดค่าธรรมเนียมด้วย
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ช่วงที่อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาปฏิวัติโลก
โดยเฉพาะยุครุ่งเรืองของดอตคอมในช่วง 1990s
ช่องทางในการซื้อขาย ได้เพิ่มจากทางหน้าร้าน มาเป็นผ่านหน้าเว็บไซต์ออนไลน์ด้วย เช่นกัน
จุดนี้เอง ก็ได้กลายเป็นตัวเร่งให้มีการใช้บัตรจนกลายมาเป็นที่นิยมมากขึ้น
และไม่กี่ปีหลังจากนั้น ก็ได้มีทางเลือกใหม่ สำหรับใครที่ไม่ใช้บัตร
นั่นก็คือ PayPal ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์รายแรก ๆ ของโลก
ซึ่งบัญชีของ PayPal จะผูกกับบัญชีธนาคาร และใช้ PayPal เป็นช่องทางโอนและรับเงินที่ทำได้ทั้งในประเทศไปจนถึงระหว่างประเทศ
มาถึงตรงนี้ การใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสด จึงเริ่มเข้าสู่ “ยุคไร้บัตร”
และเมื่อมาถึงยุครุ่งเรืองของสมาร์ตโฟน
ก็ได้มีการพัฒนาระบบใช้จ่ายแบบไร้บัตรในอีกรูปแบบหนึ่งเพิ่มเข้ามา
นั่นก็คือการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งจะคล้ายกับการจ่ายด้วยแอปพลิเคชันของธนาคารไทยที่เราคุ้นเคย
ตัวอย่างเช่น Venmo ที่ในภายหลัง PayPal ได้เข้ามาซื้อกิจการไป
หรือ Cash App แอปพลิเคชันของบริษัท Square ฟินเทคที่มีผู้ก่อตั้งคนเดียวกับ Twitter
ซึ่งทั้งคู่ต่างใช้วิธีเดียวกัน นั่นคือการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร
ส่วนกระเป๋าเงินดิจิทัล เกิดมาจากการที่เหล่าผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม
ต่างต้องการสร้าง Ecosystem เพื่อใช้จ่ายในเครือข่ายแพลตฟอร์มทั้งหมดของตัวเอง
อย่างเช่น Apple Pay และ Google Pay
แต่ในกลุ่มประเทศที่บัตรเป็นที่นิยมมานาน
แม้ว่าจะมีช่องทางการชำระเงินออนไลน์แบบอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา และมีอัตราการเติบโตที่สูง แต่บัตรก็ยังเป็นที่นิยมมากที่สุดอยู่ดี
ซึ่งส่วนหนึ่งก็สะท้อนได้จาก บริษัทฟินเทคที่ยังให้ความสำคัญกับบัตรอยู่
อย่างในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศที่ใช้เงินสดน้อยเป็นอันดับ 5 ของโลก
ฟินเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Square ที่แม้จะมี Cash App แต่ผลิตภัณฑ์หลักก็เริ่มมาจาก Square Reader
ที่เป็นอุปกรณ์สี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนเพื่อรับชำระเงินด้วยบัตร
ไปจนถึงเครื่องรับบัตรตามร้านค้า ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าเครื่องรับบัตรของธนาคาร
หรืออย่างเกาหลีใต้ ประเทศที่ใช้เงินสดน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
แม้กระเป๋าเงินดิจิทัลของแอปพลิเคชันแช็ตอันดับหนึ่งอย่าง KakaoPay จะได้รับความนิยมสูงมาก จนเป็นรองเพียงบัตรของธนาคารใหญ่ไม่กี่เจ้า
แต่ด้วยความที่คนเกาหลีใต้ยังนิยมใช้บัตร KakaoPay จึงออกบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชี KakaoPay ควบคู่ไปด้วย
ถ้าอย่างนั้น เจ้าตลาดในยุคไร้บัตร คือใคร ?
คำตอบก็คือกลุ่มประเทศที่สัดส่วนประชากรที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร
หรือมีบัญชีธนาคารแต่ไม่เคยใช้บริการด้านอื่น ยังมีอยู่มาก
เลยทำให้จำนวนคนที่ใช้บัตรมีน้อย
ซึ่งเมื่อโลกได้มุ่งสู่การใช้จ่ายแบบออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อไม่มีบัตร
ช่องทางการชำระเงินที่เลือกใช้ จึงเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลและแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน
ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ก็เช่น จีน, อินเดีย รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเฉพาะจีนและอินเดีย เป็นสองประเทศที่มีสัดส่วนของกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงธนาคาร มากที่สุดในโลก
ในขณะเดียวกัน ก็มีสัดส่วนการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลสูงที่สุด
และแม้ว่าจีนจะยังไม่ใช่ประเทศที่ใช้เงินสดน้อยที่สุดในเอเชีย
แต่จีนก็ได้กลายเป็นเจ้าตลาดการใช้จ่ายแบบไร้บัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว
ซึ่งจุดเริ่มต้น เกิดขึ้นหลังจากที่ฝั่งตะวันตกได้รู้จัก PayPal ไปประมาณ 5 ปี
คนจีนก็ได้รู้จักกับ Alipay ที่เป็นต้นตำรับของกระเป๋าเงินดิจิทัล
ในตอนนั้นอีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba ได้พัฒนา Alipay เพื่อเป็นแพลตฟอร์มใช้จ่าย
สำหรับซื้อของออนไลน์แบบไม่ต้องใช้บัตร จนต่อยอดมาเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล
รวมถึงแอปพลิเคชันเพื่อใช้จ่ายผ่านสมาร์ตโฟนด้วย
จนในปี 2013 Alipay สามารถแซง PayPal ขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินบนสมาร์ตโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้สำเร็จ
โดยในแถบเอเชียนั้น นอกจากเหตุผลเรื่องคนเข้าถึงบริการจากธนาคารไม่มากแล้ว
การใช้จ่ายแบบไร้บัตรยังเติบโตได้อย่างรวดเร็วตามการเติบโตของแพลตฟอร์ม
อย่างอีคอมเมิร์ซ, แช็ต, เรียกรถ หรือสั่งอาหาร
ในประเทศจีน เช่น Alipay และ WeChat Pay
ในประเทศอินเดีย เช่น Paytm
ในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น GrabPay, ShopeePay และ GoPay
ทำให้ในปัจจุบัน เอเชียแปซิฟิก ได้กลายเป็นภูมิภาคเดียวในโลก
ที่สัดส่วนการใช้จ่ายเมื่อซื้อของออนไลน์
มาจากช่องทางกระเป๋าเงินดิจิทัลมากที่สุด
และได้แซงการใช้บัตรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งการเติบโตของการใช้จ่ายแบบไร้บัตร ก็ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามว่า
หรือ Cashless Society จะกลายเป็น Cardless Society ไปด้วย
สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ ถ้ามาดูในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสดน้อยสุดในโลก
จะพบว่าในประเทศเหล่านั้น บัตรยังคงเป็นช่องทางหลักในการใช้จ่ายอยู่
หรือถ้าลองหาคำตอบจากเรื่องใกล้ตัว จะพอเห็นได้ว่า
การใช้จ่ายแบบไร้บัตร ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง
อย่างเช่นเวลาจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนแบบตัดเงินอัตโนมัติ
หรือการซื้อขายของแบบข้ามประเทศ ก็ยังต้องใช้บัตรอยู่
แม้จะมี PayPal ที่เป็นช่องทางไร้บัตรแบบสากล
แต่ในแถบบ้านเราก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก
และยังรวมไปถึงบางคนที่ถ้าต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ การใช้บัตรยังรู้สึกปลอดภัยมากกว่า เช่นกัน
นอกจากนั้นบัตรเครดิต ยังมีโมเดลธุรกิจที่จะหักเงินส่วนหนึ่งจากร้านค้า
เพื่อให้ธนาคารผู้ออกบัตรมาทำส่วนลดโปรโมชัน เพื่อให้ผู้ใช้บัตรรู้สึกคุ้มค่า
และในมุมมองของผู้บริโภค การจ่ายด้วยบัตรเครดิต จะเป็นการได้สินค้าหรือบริการมาก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินทีหลังในวันที่ครบกำหนด
ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีบัตรเครดิต ก็มักเลือกที่จะใช้บัตรเครดิตก่อนช่องทางอื่น ๆ เพราะมีสิทธิประโยชน์มากกว่า
นั่นคงทำให้เราพอสรุปได้ว่า สังคมไร้เงินสด จะยังไม่ได้กลายเป็นสังคมไร้บัตรในเร็ววันนี้
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การชำระเงินแต่ละช่องทาง ก็มีจุดเด่นที่ต่างกันไป
แถมยังคอยเสริมจุดอ่อนของกันและกันไปในตัว
แม้แต่ธนาคารเอง ที่ถึงจะโดนดิสรัปต์จากการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด
แต่แพลตฟอร์มเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่ ยังคงต้องผูกกับบัญชีธนาคารอยู่ดี..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.