รู้จัก Asiasoft บริษัทเกมไทย ที่โด่งดัง ในต่างประเทศ

รู้จัก Asiasoft บริษัทเกมไทย ที่โด่งดัง ในต่างประเทศ

30 พ.ค. 2021
รู้จัก Asiasoft บริษัทเกมไทย ที่โด่งดัง ในต่างประเทศ /โดย ลงทุนแมน
ถ้าใครที่ชื่นชอบการเล่นเกม โดยเฉพาะเกมออนไลน์ในยุค 2000-2010
ก็คงจะคุ้นเคยกับเกมอย่าง Ragnarok, Yulgang, MapleStory และ Audition
บริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เกมดังเหล่านี้ในไทยคือบริษัทที่ชื่อว่า เอเชียซอฟท์ (Asiasoft)
ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ของไทย และหลาย ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัทเกมรายนี้ มีความน่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เอเชียซอฟท์”
ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ทำธุรกิจให้บริการเกมออนไลน์ ทั้งบนคอมพิวเตอร์และบนมือถือ
ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดย เอเชียซอฟท์ มีโมเดลธุรกิจคือการไปซื้อลิขสิทธิ์เกมจากผู้จัดจำหน่ายหรือผู้พัฒนาเกม เพื่อมาให้บริการแก่ผู้เล่นเกมในพื้นที่ที่ตัวเองทำธุรกิจ
โดย 2 ปีหลังจากก่อตั้ง บริษัทเริ่มธุรกิจให้บริการเกมออนไลน์ในประเทศไทย โดยเปิดตัวเกมที่ชื่อว่า “Ragnarok Online” ซึ่งในตอนนั้น เอเชียซอฟท์ ไปซื้อลิขสิทธิ์เกมดังกล่าวมาจากบริษัท Gravity Co., Ltd. ของประเทศเกาหลีใต้ แล้วนำมาดัดแปลงเป็นภาษาไทย
ผลปรากฏว่า เกมนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนเล่นเกมในประเทศ จนประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งนั่นก็ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เอเชียซอฟท์ ได้กลายเป็นบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำในวันนี้
ในอดีตนั้น ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ทั่วไป จะมีรายได้จากการขายแพ็กเกจ ซึ่งจะได้เพียงครั้งเดียว หรืออาจเก็บค่าเข้ามาเล่นเกมตามเวลา (Air Time Sale)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรูปแบบการให้บริการเกมออนไลน์ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นการให้เข้ามาเล่นฟรีก่อน เพื่อดึงดูดให้มีผู้เข้ามาเล่นจำนวนมาก หลังจากนั้นเมื่อเกมได้รับความนิยมจึงเริ่มทำการขายไอเทมจากเกมเพื่อหารายได้ หรือที่เรียกว่า การขายไอเทมภายในเกม (In-App Purchase)
ซึ่งไอเทมพวกนี้ เช่น อาวุธ เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ โดยราคาไอเทม ก็มักขึ้นอยู่กับประเภท และความนิยมของไอเทมชิ้นนั้นภายในเกม
แม้ว่าผู้เล่นเกม จะมีสิทธิ์ที่จะซื้อหรือไม่ซื้อไอเทมก็ได้ แต่เมื่อมีเพื่อนเข้ามาเล่นกันมาก การแข่งขันในเกมที่สูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นอยากซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกมมากขึ้นไปด้วย
โดยรูปแบบการทำธุรกิจเกมออนไลน์ของเอเชียซอฟท์
จะเริ่มจาก การจัดหาเกมออนไลน์ คือเมื่อเจอเกมที่น่าสนใจแล้ว บริษัทก็จะเจรจาและทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์การให้บริการเกมออนไลน์ เพื่อให้บริษัทเป็นผู้ให้บริการเกมในระยะเวลาที่กำหนด
หลังจากนั้น บริษัทจะทำการเตรียมระบบเซิร์ฟเวอร์ และเปิดให้บริการเกมออนไลน์
ในช่วงแรก ๆ เอเชียซอฟท์ เน้นให้บริการเกมออนไลน์ที่เล่นผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
แต่ระยะหลังที่เกมเล่นบนสมาร์ตโฟนเริ่มมาแรง เอเชียซอฟท์ ก็ได้เริ่มเข้าสู่การให้บริการเกมสำหรับเล่นบนสมาร์ตโฟนเช่นกัน ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2557
โดยปัจจุบัน เอเชียซอฟท์ให้บริการเกมออนไลน์ใน 5 ประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 บริษัทมีการให้บริการเกมออนไลน์แก่ลูกค้ารวมทั้งหมด 34 เกม
โดยสถิติที่น่าสนใจของตลาดเกมออนไลน์ในประเทศไทย
คือตลาดเกมออนไลน์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 24,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 มาอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2563 คิดเป็นการเติบโต 16% สวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศที่ติดลบในปีที่ผ่านมา
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ โดยทั่วไปจำนวนผู้เล่นเกมออนไลน์จะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากเท่าไร ผู้เล่นเกมออนไลน์ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย
รู้ไหมว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรวมกันใน 5 ประเทศ (อ้างอิงจากเว็บไซต์ Internetworldstats) ที่เอเชียซอฟท์ให้บริการเกมออนไลน์ เติบโตกว่า 3,231% ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
ปี พ.ศ. 2543 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 11.2 ล้านคน
ปี พ.ศ. 2563 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 373.1 ล้านคน
นอกจากนั้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่พัฒนา ยังทำให้อินเทอร์เน็ตมีความเร็ว และมีความเสถียรมากขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัย ที่มีส่วนทำให้ตลาดเกมออนไลน์ในภูมิภาคนี้และทั่วโลก เติบโตสูงขึ้นไปด้วย
โดยหากมาดูโครงสร้างรายได้ของเอเชียซอฟท์ เมื่อแยกตามลักษณะของรายได้ บริษัทมีรายได้จากการให้บริการเกมออนไลน์ 98.1% และที่เหลือเป็นรายได้อื่น
ส่วนถ้าแบ่งโครงสร้างรายได้ตามตลาดที่ให้บริการ
- รายได้ที่เกิดจากประเทศไทย 40%
- รายได้ที่เกิดจากต่างประเทศ 60%
สรุปแล้ว รายได้เกือบทั้งหมดของบริษัทมาจากการให้บริการเกมออนไลน์ และรายได้เกินกว่าครึ่ง เป็นรายได้ที่มาจากตลาดต่างประเทศ
โดยผลประกอบการของ บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 642 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 768 ล้านบาท กำไร 4 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2563 รายได้ 1,356 ล้านบาท กำไร 307 ล้านบาท
รายได้และกำไรที่เติบโตระเบิดในปีที่ผ่านมา
นอกจากการที่บริษัทพยายามเปิดตัวเกมอย่างสม่ำเสมอแล้ว
อีกเรื่องที่เป็นปัจจัยเร่งสำคัญคือ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายคนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในที่พักอาศัย
ทำให้ผู้คนหันมาใช้เทคโนโลยีออนไลน์มากขึ้น และหนึ่งในกิจกรรมออนไลน์ที่สามารถช่วยให้หลายคนผ่อนคลายในช่วงเวลาแบบนี้ก็คือ การเล่นเกมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม จุดที่ถือว่า เป็นความท้าทายสำคัญของผู้ให้บริการอย่างเอเชียซอฟท์ก็คือ
การที่บริษัทต้องลงทุนจ่ายค่าซื้อลิขสิทธิ์เกม ระบบเซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาดไปก่อน และรายได้ที่บริษัทจะหาได้จากตัวเกมที่ลงทุนซื้อมาและทำการตลาดนั้น จะเกิดขึ้นตามมาทีหลัง
ซึ่งถ้าความนิยมของเกมที่ไปซื้อลิขสิทธิ์มาไม่มาก ก็อาจทำให้รายได้ดังกล่าวไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่บริษัทลงทุนไปก่อนก็ได้
ซึ่งตรงนี้ ก็ถือเป็นความท้าทายหลักของธุรกิจลักษณะนี้
ที่ทางบริษัทต้องทำการบ้านดี ๆ วิเคราะห์ตลาดและพฤติกรรมผู้เล่นเกม
เพื่อให้การลงทุนซื้อลิขสิทธิ์เกมมาแต่ละครั้ง คุ้มค่า กับสิ่งที่จ่ายไป..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน มูลค่าบริษัทของเอเชียซอฟท์ ประมาณ 5,100 ล้านบาท
ซึ่งหากนำไปเทียบกับมูลค่า ณ สิ้นปี พ.ศ. 2561 ที่ 320 ล้านบาท
มูลค่าตอนนี้ จะคิดเป็น 16 เท่าของเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เลยทีเดียว..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

References:
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563, บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2563, บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
-https://www.internetworldstats.com/stats3.htm
-https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/GameOnline-FB240420.aspx
-https://www.bangkokpost.com/business/2037967/asiasoft-spurred-by-boom-in-online-gaming
-https://www.asiasoft.net/th-th/about-us/game-portfolio/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.