“อูฐ” แนวทางสตาร์ตอัปช้าแต่ชัวร์ ขั้วตรงข้ามยูนิคอร์น

“อูฐ” แนวทางสตาร์ตอัปช้าแต่ชัวร์ ขั้วตรงข้ามยูนิคอร์น

2 มิ.ย. 2021
“อูฐ” แนวทางสตาร์ตอัปช้าแต่ชัวร์ ขั้วตรงข้ามยูนิคอร์น /โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในการวัดความสำเร็จของสตาร์ตอัป นั่นก็คือการได้เป็น “ยูนิคอร์น”
หรือการที่บริษัท ได้รับการประเมินมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือราว 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป
ยูนิคอร์นได้กลายเป็นเป้าหมายของเหล่าสตาร์ตอัป
โดยบริษัทเหล่านี้ต้องมีนวัตกรรมโดดเด่นมากพอ เพื่อดึงดูดนักลงทุน
เพราะยิ่งบริษัทได้เงินทุนมาก ก็ยิ่งเร่งการเติบโตของธุรกิจ
ให้เร็วขึ้นและบริษัทก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แม้ว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่สตาร์ตอัปส่วนใหญ่เติบโตมาจากผลการขาดทุนมหาศาล
แต่ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนรับได้ เพราะความสามารถในการทำกำไร ยังไม่สำคัญเท่าความเร็วในการเติบโต
แม้แนวทางแบบนี้จะใช้กันเป็นเรื่องปกติมานาน
แต่ในปีที่ผ่านมา ภาวะสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้ทำให้นักลงทุนรวมถึงผู้ประกอบการ
มองว่าแนวทางแบบยูนิคอร์นมีจุดอ่อนและเริ่มมองหาแนวทางการเติบโตอีกแบบ ที่เรียกว่า Camel หรือแปลว่า “อูฐ”
แล้วแนวทางการเติบโตแบบอูฐคืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
คุณ Aileen Lee เจ้าของบริษัทที่ลงทุนในสตาร์ตอัป หรือที่เรียกว่า Venture Capital
ซึ่งได้นำคำว่า “ยูนิคอร์น” มาใช้กับวงการสตาร์ตอัปครั้งแรก
ในปี 2013 ผ่านบทความที่เธอเขียน
โดยเธอใช้คำว่า ยูนิคอร์น เพื่อเรียกกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัป
ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
ในตอนนั้นมีเพียง 39 บริษัท ที่จัดเป็นยูนิคอร์น
คำดังกล่าวจึงเป็นเครื่องยืนยันถึง ความเป็นธุรกิจที่หาได้ยาก นั่นเอง
แต่ในปัจจุบัน สตาร์ตอัปที่เป็นยูนิคอร์น ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 500 บริษัท
นั่นก็เพราะว่าคำว่ายูนิคอร์น ไม่ได้เป็นเพียงแค่เกณฑ์ในการวัดความสำเร็จของสตาร์ตอัปเท่านั้น
แต่มันได้กลายเป็น “แนวทาง” ในการทำธุรกิจสตาร์ตอัปไปแล้ว
ซึ่งเป็นแนวทางที่เน้น “ความเร็วในการเติบโต”
มากกว่าความสามารถในการทำกำไร
แต่การจะเติบโตได้เร็ว โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ก็ต้องแลกมาด้วยเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก
ซึ่งหลัก ๆ ก็เพื่อขยายฐานลูกค้า ดึงลูกค้าให้มาใช้ผลิตภัณฑ์ให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่สั้นที่สุด
เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าการเติบโตเป็นไปได้ตามที่คาด มีฐานลูกค้าที่มากพอ
ก็จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าค่าใช้จ่าย
เมื่อผ่านจุดนั้นได้สำเร็จ
รายได้ส่วนที่เกินมาทั้งหมดนั้น ก็จะไหลลงมาเป็นกำไร
และจะทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในเวลาต่อมา
ตัวอย่างธุรกิจที่เคยเป็นสตาร์ตอัปแบบนี้มาก่อน ก็เช่น Facebook, Uber, Airbnb
อย่างไรก็ตาม มันก็มีบางสตาร์ตอัปที่ยังคงขาดทุนหนัก
เพราะบริษัทยังต้องแลกการเติบโตมาด้วยเงินทุนมหาศาล เช่น การนำเงินทุนไปเป็นเงินอุดหนุนให้ส่วนลด เพื่อกดราคาค่าบริการตัวเองให้ต่ำ เพื่อแลกกับยอดการเติบโตทางธุรกรรม
ธุรกิจประเภทนี้ก็เช่น อีคอมเมิร์ซและแอปพลิเคชันส่งอาหาร
ซึ่งถ้านักลงทุนยังมองเห็นว่าในอนาคต
ธุรกิจนั้นยังมีโอกาสเติบโตเร็ว ก็จะยังให้เงินลงทุนต่อไป
จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสตาร์ตอัปเหล่านี้จึงยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะไม่เคยมีกำไรเลยก็ตาม
สำหรับความสำเร็จอีกขั้นของสตาร์ตอัปก็คือ การเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อทั้งเจ้าของบริษัทและผู้ที่มาให้เงินระดมทุน
เจ้าของบริษัทเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่มากขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง
ส่วนผู้ที่มาให้เงินระดมทุน ก็สามารถขายเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำกำไรได้
อย่างไรก็ตาม แนวทางแบบยูนิคอร์นที่ยอมให้สตาร์ตอัปขาดทุนหนักมาตลอด
และทำให้สตาร์ตอัปเติบโตได้เร็วจริง จะใช้ได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
แต่ในปีที่ผ่านมา โควิด 19 ที่ทำให้ทั่วโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจขาลง มีความไม่แน่นอนสูง
นักลงทุนจึงเริ่มมาทบทวนว่า แนวทางแบบยูนิคอร์น มีความเสี่ยงสูงเมื่อเกิดวิกฤติและไม่มีความยั่งยืน
นักลงทุน Venture Capital อีกคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า Alex Lazarow
ได้ศึกษาสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ
และพบว่ายังมีแนวทางการเติบโตอีกแบบหนึ่ง นอกเหนือไปจากยูนิคอร์น
เขาเรียกแนวทางนั้นว่า “Camel” หรือ “อูฐ”
สตาร์ตอัปแบบอูฐนั้น ยังคงจุดแข็งในเรื่องไอเดียนวัตกรรมเปลี่ยนโลกเหมือนเดิม
แต่เรื่องแนวทางในการดำเนินธุรกิจ จะมองภาพในระยะยาวมากขึ้น
โดยเน้นที่การเติบโตแบบมั่นคง ช้าแต่ชัวร์ เพื่อให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น
ผ่านพ้นได้ทั้งช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นขาลง และอยู่ต่อไปได้นานที่สุด
นั่นจึงทำให้ อูฐ ไม่ได้เน้นไปที่ความเร็วในการเติบโต
แต่จะหันมาใส่ใจ “ความสามารถในการทำกำไร” แทน
โดยเริ่มจากคอนเซปต์แรก ก็คือ การเพิ่มความสมดุลระหว่างเงินลงทุนกับรายได้
เป็นเรื่องปกติที่ตอนเริ่มต้นธุรกิจจะต้องใช้เงินลงทุนเยอะเกินกว่ารายได้ที่ทำได้
แต่สตาร์ตอัปต้องไม่ลงทุนหนักจนเกินไป หรือห้ามไม่คิดค่าบริการในตอนแรกเพื่อเร่งโกยฐานลูกค้า
แม้การยอมขาดทุนเพื่อชิงฐานลูกค้าจะเป็นสูตรสำเร็จในอดีต
และถือเป็นกลยุทธ์การเติบโตที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว
แต่นั่นก็ไม่ใช่กลยุทธ์เพียงอย่างเดียวที่ทำให้สตาร์ตอัปประสบความสำเร็จได้
สิ่งที่สตาร์ตอัปแบบอูฐทำก็คือ ตั้งราคาสินค้าและบริการที่เหมาะสมไปเลยตั้งแต่แรก
เพื่อให้ราคาสื่อไปถึงลูกค้า ทั้งในเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
เพราะแม้ว่าการยอมไม่คิดเงินในตอนแรกอาจดูดดึงลูกค้าได้มาก
แต่มันก็อาจจะเป็นผลดีในระยะสั้นและไม่ได้ทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานอยู่กับเราอย่างยั่งยืน
สำหรับมุมมองในเรื่องของการลงทุน
อูฐจะพิจารณาจากเรื่องที่จำเป็นและมีโอกาสสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจมากที่สุดเท่านั้น
อูฐจะมองที่ให้เงินที่ลงทุนไป งอกเงยกลับมาเป็นรายได้ที่มากกว่า
ไม่ใช่ลงทุนแบบสูญเปล่า ได้ไม่คุ้มเสีย
เรื่องแหล่งที่มาของเงินทุน อูฐจะนำกำไรมาลงทุนต่อยอดเป็นหลัก
ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงมีกำไรมาต่อยอดได้
ก็ต้องย้อนกลับไปที่การเลือกลงทุนได้ถูกจุดตั้งแต่แรก
หรือถ้าจะระดมทุน ก็จะทำเมื่อจำเป็นเท่านั้น
และจะระดมทุนมาเท่าที่ต้องการใช้ ซึ่งต้องมีเป้าหมายและแผนงานชัดเจน
ว่าเอาเงินไปทำให้เกิดการเติบโตได้อย่างไร ไม่ใช่เร่งระดมทุนแบบยิ่งมากยิ่งดี
ตัวอย่างอูฐที่โดดเด่นในเรื่องนี้ก็คือ “Zoom”
Zoom เป็นบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์
ที่เริ่มมาจากสตาร์ตอัปและเพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่บริษัท ที่ทำกำไรได้มานานแล้ว
นอกจากนี้ ก่อนจะเข้าตลาด Zoom ยังผ่านการระดมทุนมาน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทส่วนใหญ่
โดย Zoom ระดมทุนไปเพียง 4,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับบริษัทที่มีมูลค่าใกล้เคียงกันอย่าง Snapchat
ที่ระดมทุนไปถึง 83,000 ล้านบาท และผลประกอบการยังคงขาดทุนอยู่จนถึงปัจจุบัน
คอนเซปต์ถัดมาของอูฐ ก็คือ การเพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจหรือกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจนั่นเอง
เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจมีขึ้นมีลง
แต่ละประเภทธุรกิจก็มีช่วงขาขึ้นและขาลงแตกต่างกันไป
บริษัทส่วนใหญ่จึงมักสร้างระบบนิเวศให้กับธุรกิจตัวเอง
โดยแตกธุรกิจออกไปหลายประเภท แต่ยังคงเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศด้วย
เพราะแต่ละประเทศก็มีช่วงขึ้นลงของเศรษฐกิจต่างกันไป
ตัวอย่างอูฐที่โดดเด่นในเรื่องนี้ก็คือ Amazon
Amazon ที่นอกจากจะลงทุนในระบบธุรกิจอื่น
ที่เกื้อหนุนธุรกิจหลักอย่างอีคอมเมิร์ซแล้ว
ยังขยายไปทำ Amazon Web Services หรือ บริการประมวลผลบนคลาวด์
ให้กับบริษัทต่าง ๆ ในหลากหลายประเภทธุรกิจ
จนปัจจุบัน ได้กลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญของ Amazon ไปแล้ว
และแม้ในช่วงที่ Amazon เพิ่งเริ่มต้น จะยังขาดทุนนาน
แต่ไม่ได้ขาดทุนแบบมหาศาล และเป็นการขาดทุน
เพราะนำเงินไปลงทุนวิจัยพัฒนา เพื่อต่อยอดการเติบโตของรายได้
ซึ่งสุดท้ายแล้ว ถ้าความสำเร็จของสตาร์ตอัป
วัดกันที่มูลค่าบริษัท ที่สะท้อนความคาดหวังของนักลงทุน
ทั้งแนวทางแบบยูนิคอร์นและอูฐ
ต่างพิสูจน์แล้วว่าทำให้บริษัทเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้บริษัทได้
อยู่ที่แนวทางการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการว่าต้องการใช้กลยุทธ์แบบไหน
ส่วนในมุมมองของนักลงทุน ก็คงต้องมาทบทวนอีกครั้งว่า
เราจะให้น้ำหนักกับการเติบโตอย่างรวดเร็วและยอมให้บริษัทขาดทุนก่อน
หรือการเติบโตไปช้า ๆ แต่ตั้งต้นมาจากความสามารถในการทำกำไร มากกว่ากัน
คำถามที่น่าสนใจปิดท้าย
หากเรามีแนวทางการเติบโตให้เลือก
ระหว่าง “อูฐ” และ “ยูนิคอร์น”
เราจะเลือกแนวทางอะไร ?
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://hbr.org/2020/10/startups-its-time-to-think-like-camels-not-unicorns#
-https://techcrunch.com/2013/11/02/welcome-to-the-unicorn-club/
-https://www.entrepreneur.com/article/347659
-https://marker.medium.com/the-new-hot-startups-will-be-camels-not-unicorns-53d480535916
-https://uxdesign.cc/camels-not-unicorns-are-the-new-darlings-of-silicon-valley-b438d1dd661a
-https://jeffreyleefunk.medium.com/only-6-of-73-unicorn-startups-are-profitable-and-none-did-recent-ipos-287d5c7ac8d0
-https://www.crunchbase.com/organization/zoom-video-communications
-https://www.crunchbase.com/organization/snapchat
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.