หนี้นอกระบบ ตอยักษ์ ของสังคมไทย

หนี้นอกระบบ ตอยักษ์ ของสังคมไทย

3 มิ.ย. 2021
หนี้นอกระบบ ตอยักษ์ ของสังคมไทย /โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน คือ ปัญหาหนี้นอกระบบ
รู้ไหมว่า วันนี้จำนวนครัวเรือนไทยที่มีหนี้นอกระบบนั้น มีมากกว่า 800,000 ครัวเรือน
ปัญหาของเรื่องนี้เกิดจากอะไร
และมีทางไหนบ้างที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าจะให้คำจำกัดความของคำว่า “หนี้นอกระบบ” ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก็คือ เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกันเองระหว่างประชาชน โดยไม่ผ่านสถาบันการเงิน
โดยเจ้าหนี้จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับลูกหนี้มากกว่า 28% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ปัญหานี้ เกิดขึ้นเพราะ ลูกหนี้ไม่สามารถกู้ในระบบได้
และความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน จึงจำใจต้องเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ
ส่วนทางฝั่งเจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ ก็จะมีกลุ่มที่พร้อมปล่อยสินเชื่อให้คนที่ต้องการเงินเหล่านั้น แล้วคิดดอกเบี้ยสูง ๆ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ผู้มากู้อาจผิดนัดชำระหนี้
สมมติถ้าเรากู้เงินนอกระบบมา 10,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี
โดยเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ย “เดือนละ 20%”
เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยโหดขนาดนี้ไม่ได้หวังว่าจะเอาเงินต้นคืน
เจ้าหนี้คิดเพียงว่าตามเก็บดอกเบี้ยได้ 5 เดือนก็คืนทุน ที่เหลือเป็นกำไร
เมื่อคูณไปแล้ว ดอกเบี้ยขนาดนี้จะเท่ากับปีละ 240%
หมายความว่า ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายคืนทั้งหมดในหนึ่งปี จะเท่ากับ 24,000 บาท คิดเป็น 2.4 เท่าของเงินต้นที่เรากู้เลยทีเดียว
ในขณะที่ถ้าเรากู้ในระบบ ในจำนวน 10,000 บาทเท่ากัน เป็นเวลา 1 ปี
อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่เจ้าหนี้คิด จะอยู่ที่ไม่เกินปีละ 28%
หมายความว่า ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายคืนทั้งหมดจะเท่ากับ 2,800 บาท
จะเห็นว่า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนสถาบันการเงินในระบบ จะคิดเป็นเพียง 11% ของดอกเบี้ย ที่ต้องจ่ายคืนเจ้าหนี้นอกระบบ
อย่างไรก็ตาม แม้หนี้นอกระบบจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูง แต่สาเหตุที่คนบางกลุ่มนิยมใช้บริการกันเยอะก็เพราะ ได้เงินเร็ว สะดวก และไม่มีขั้นตอนในการกู้ที่ยุ่งยาก เมื่อเทียบกับการกู้เงินในระบบ
ซึ่งการที่ผู้กู้ไม่สามารถกู้เงินในระบบได้ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
- การติดเครดิตบูโร
- รายได้ไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่สถาบันการเงินกำหนด
- ไม่มีหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์เพื่อมาค้ำประกันเงินกู้
ปัญหาเหล่านี้ จึงผลักดันให้ลูกหนี้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ต้องแลกมาด้วยการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า การกู้หนี้ในระบบอย่างมาก
จนหลายครั้งเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้นอกระบบได้ จึงนำไปสู่ปัญหาหลายอย่างตามมา
เราลองมาดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2562 ที่จะช่วยให้เราเห็นภาพเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้น
ปี พ.ศ. 2554
- รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน 23,236 บาท
- ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน 17,403 บาท
ปี พ.ศ. 2562
- รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน 26,662 บาท
- ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน 21,329 บาท
ในช่วงเวลานี้ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้น 15% แต่ค่าใช้จ่ายนั้นเพิ่มขึ้น 23%
แสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเร่งตัวขึ้นเร็วกว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้
และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทย ในปี พ.ศ. 2562 นั้น คิดเป็นประมาณ 80% ของรายได้
อย่างไรก็ตาม คำนิยามของค่าใช้จ่ายจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ว่านั้น
เป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตพื้นฐานเท่านั้น
ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์ทุน เช่น การซื้อบ้าน ที่ดิน ของมีค่า ค่าเบี้ยประกัน และเงินสมทบกองทุนต่าง ๆ
นั่นหมายความว่า ที่จริงแล้ว ถ้าเรารวมค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในประเทศทั้งหมด หลายครัวเรือนอาจจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่หามาได้
ที่น่าสนใจคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบ ไม่เคยลดลงต่ำกว่า 800,000 ครัวเรือนเลย
สาเหตุสำคัญ เกิดจาก อัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบที่สูงมาก
ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากสภาพความเป็นหนี้ที่ตัวเองก่อขึ้นได้
เพราะลำพังแค่หาเงินมาใช้ดอกเบี้ยก็แทบจะไม่พอ ยังไม่ต้องพูดถึงการชำระเงินต้น

การแก้ปัญหาของหนี้นอกระบบนั้น ทำกันมาอย่างยาวนาน
ไม่ว่าจะเป็นการที่ภาครัฐพยายามจัดหาแหล่งเงินกู้ในระบบแก่ผู้กู้ให้มากขึ้นกว่าสมัยก่อน
รวมไปถึงการจัดการเจ้าหนี้นอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
ยิ่งปัจจุบัน การระบาดของโควิด 19 กลับยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจย่ำแย่ไปอีก
ลูกหนี้หลายคนไม่สามารถประกอบธุรกิจได้เหมือนช่วงเวลาปกติ ทำให้ยิ่งไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือเท่าไร
มีการจัดการขบวนการปล่อยกู้นอกระบบมากแค่ไหน
แต่สิ่งสำคัญที่สุดไม่แพ้กันในการแก้ปัญหานี้ ก็อยู่ที่ ตัวของผู้ที่จะเป็นหนี้เอง
ซึ่งตรงนี้ เข้าใจได้ว่า แต่ละคนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และมีข้อจำกัดในการกู้ที่แตกต่างกันไป
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของ “วินัย” ในการใช้จ่ายและการกู้ยืม
ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้ปัญหานี้ ค่อย ๆ ลดลงจากสังคมไทยได้ในที่สุด..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/LawsAndRegulations/Documents/SUMLAW12.pdf
-http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
-https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/tips-for-you/informal-debt.html
-https://www.thairath.co.th/business/finance/2044923
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Highlights/FSMP2/FinancialAccessSurveyOfThaiHouseholds_2018.pdf
-http://www.cusri.chula.ac.th/backup/download/cluster6.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.