ความท้าทายที่รออยู่ หลังวิกฤติ ในมุมมองของ dtac

ความท้าทายที่รออยู่ หลังวิกฤติ ในมุมมองของ dtac

7 มิ.ย. 2021
ความท้าทายที่รออยู่ หลังวิกฤติ ในมุมมองของ dtac
dtac x ลงทุนแมน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคระบาดโควิด 19 สร้างผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก
โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่กินระยะเวลานานกว่าที่ใครหลายคนคาดการณ์เอาไว้
ทั้งนี้ โควิด 19 ได้กลายมาเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดทั้งในระยะสั้น
รวมถึงในระยะยาวเพื่อให้บริษัทมีความพร้อมต่อการฟื้นตัวและการเติบโตต่อไปในอนาคต
สำหรับวันนี้ เรามาดูมุมมองของ dtac หนึ่งในผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ในประเทศไทย
ที่มีฐานผู้ใช้งานราว 19 ล้านบัญชี ในเรื่องความท้าทายจากวิกฤติที่ผู้ประกอบการไทย
ต้องก้าวตามให้ทัน
dtac มองวิกฤติในปีที่ผ่านมาอย่างไร ?
จากผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นตรงต่อธุรกิจในประเทศไทย
dtac เห็นถึง 3 แนวโน้มสำคัญ
ที่จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
สภาพสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ในระยะยาวต่อจากนี้
แนวโน้มแรก ก็คือ โครงสร้างธุรกิจประหยัดต่อขนาด หรือ “Economies of Scale”
ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ตรงนี้สะท้อนให้เห็นจากบริษัทเทคโนโลยี ในระดับภูมิภาค เช่น Sea Limited เจ้าของ Shopee และ Garena ที่ได้ประโยชน์จากความประหยัดต่อขนาดในช่วงวิกฤติปีที่ผ่านมา
ในที่นี้ก็คือ การลงทุนในโครงสร้างธุรกิจให้พร้อมต่อความต้องการของผู้ใช้งาน
ทั้งสำหรับผู้ขายและผู้ซื้อ โดยเฉพาะ Shopee ที่สามารถรองรับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ Sea Limited เป็นเพียงไม่กี่บริษัท ที่สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เป็นปกติ
นอกจาก Sea Limited แล้ว อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็ยังมี Grab
แพลตฟอร์มผู้ให้บริการเรียกรถและส่งอาหาร ที่ได้รับประโยชน์ต่อความประหยัดต่อขนาด
โดยบริษัทก็ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดและกำลังจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เร็ว ๆ นี้
แนวโน้มดังกล่าว ถือเป็นกรณีศึกษาที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้
แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยตรง
แต่เราก็สามารถหาตัวช่วยทางธุรกิจ เช่น ซอฟต์แวร์ทางบัญชีหรือระบบบริหารคงคลัง
เพื่อมาสนับสนุนกิจกรรมที่ทำซ้ำ ๆ ในแต่ละวัน ให้มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ นอกจากจะทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ก็ยังจะน้อยลงไปอีกด้วย
แนวโน้มถัดมา dtac มองว่าแม้วิกฤติจะทำให้เราหันเข้าหาดิจิทัลมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม
มันก็ได้ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ที่เข้าถึงและผู้เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตกว้างขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว มันจะนำไปสู่ “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล”
ปัญหาดังกล่าว dtac ได้มองว่าเป็นความรับผิดชอบของทางบริษัท
และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางบริษัทก็ได้ร่วมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ตั้งแต่การสร้าง Digital Ecosystem สำหรับผู้ใช้งาน
การพัฒนาโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 700 MHz เพื่อให้บริการกับชุมชนที่อยู่ในละแวกห่างไกล
รวมถึงโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก ให้ปรับธุรกิจเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น
นอกจากทั้ง 2 เรื่องนี้แล้ว
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่คนไทยเผชิญกันมาอย่างต่อเนื่อง
ก็คือ “ภาวะโลกร้อน” ที่ปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการเกษตร
และในระยะยาว ก็มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อระบบซัปพลายเชนเชิงธุรกิจในประเทศได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554 ที่ภาวะโลกร้อน
เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย
ที่ส่งผลกระทบรุนแรงตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงการส่งมอบในหลายอุตสาหกรรม
ในมุมที่กว้างกว่านั้น หลายธุรกิจทั่วโลกก็กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ที่เห็นได้ชัดก็คือ Tesla
ผู้พัฒนารถไฟฟ้าที่ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
รวมไปถึงธุรกิจการพัฒนาอาหารจากพืช เพื่อลดปริมาณการเลี้ยงสัตว์ สำหรับการนำไปประกอบอาหาร ซึ่งถือเป็นวิธีที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมากกว่า
จากเรื่องราวดังกล่าว dtac จึงได้นำมาปรับเป็นแผนธุรกิจระยะยาวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เริ่มตั้งแต่การลดการใช้พลังงานเพื่อรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อน
สำหรับการรับมือภาวะโลกร้อนในประเทศไทยในภาพใหญ่
รัฐบาลได้มีการกำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 2 ระยะ
ภายในปี 2020 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7 ถึง 20%
ภายในปี 2030 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20 ถึง 25%
ทั้งนี้ dtac ขยายโครงข่ายสัญญาณตามการเติบโตของความต้องการเครือข่ายเป็น 3 เท่าตัว
เมื่อเทียบกับปี 2015
แต่ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2562 การใช้พลังงานไฟฟ้าจากเสาสัญญาณ สถานีฐาน เป็นกว่า 97% ของพลังงานทั้งหมดที่ dtac ใช้
พอเรื่องเป็นแบบนี้ dtac จึงทำการวิจัยและพบว่าทางบริษัทสามารถลด
การใช้งานสถานีฐานและลดการใช้พลังงานต่อสถานีได้ราว 32%
จากการปรับโครงสร้างระบบทำความเย็น เพื่อทำให้ใช้พลังงานลดลงได้สำเร็จ
นอกจากในมุมของโครงสร้างเครือข่ายแล้ว
dtac เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งจากการให้บริการโครงข่าย ลูกค้า และสำนักงาน
ตรงนี้ ทางบริษัทจึงให้ความสำคัญกับคู่ค้าทางด้านการกำจัดขยะ
ที่ต้องนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลตามมาตรฐานสากล เท่านั้น
ในปี 2563 ที่ผ่านมา สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ราว 180 ตัน เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
เทียบได้กับการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 9.9 ล้านกิโลกรัมคาร์บอน
นอกจากนี้ dtac ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและอาคารเพื่อนำไปใช้จริง
หากทำได้สำเร็จ วิธีนี้จะช่วยให้ทางบริษัทลดปริมาณการใช้พลังงานลงได้อีก
โดยทางบริษัทก็ได้ประกาศว่า จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ภายในปี 2573
อีกหนึ่งในเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว
เพื่อรับมือกับความท้าทายในระยะยาว
ก็คือ “ซัปพลายเชนที่ต้องรับมือให้ได้กับทุกวิกฤติเศรษฐกิจ”
อย่างในกรณีของ dtac ที่เป็นบริษัทเครือข่าย
ก็มีสายป่านการทำธุรกิจตั้งแต่บริษัทผลิตซิม
ไปจนถึงพาร์ตเนอร์ร้านจัดจำหน่ายซิมและสมาร์ตโฟน
อีกเกินกว่า 80,000 แห่งทั่วประเทศไทย
บริษัทได้ตั้งจุดกระจายสินค้า 1 จังหวัดต่อ 1 จุดกระจายสินค้า
และได้หันมาพัฒนาแอปพลิเคชัน dtac One
ซึ่งนอกจากจะสามารถรองรับการลงทะเบียนของพาร์ตเนอร์ทุกรายให้มาอยู่
บนแพลตฟอร์มเดียวกันแล้ว ทางผู้บริโภคก็สามารถเข้าถึงบริการของทางบริษัทได้ เช่นกัน
ปัจจุบัน dtac ยังคงมีมาตรการคุมเข้มสำหรับการทำงานในสำนักงานและดำเนินการ Work From Home อยู่ ซึ่งบุคลากรกว่า 95% ของทั้งบริษัทยังคงทำงานนอกสถานที่ แต่ก็ยังให้บริการได้เหมือนเดิม
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรนำ “Stakeholders” หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซัปพลายเชนทั้งหมดของบริษัทตั้งแต่ผู้ผลิตของเรา ไปจนถึงลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเราคลี่ออกมาเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องหาช่องโหว่ที่อาจกระทบต่อธุรกิจของเราได้
เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และพยายามหาวิธีรับมือตั้งแต่ตอนนี้
นอกจากภาวะโลกร้อนและระบบซัปพลายเชนแล้ว ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งานก็ถือเป็นอีกความท้าทายต่อทุกธุรกิจในอนาคต
จากผลสำรวจของ Cisco พบว่ากว่า 48% ของผู้บริโภคกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตมีความไม่ปลอดภัยและถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง
ตรงนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวัง
เพราะปัจจุบัน เราจะเห็นได้ชัดว่าทางรัฐบาลในหลายประเทศเริ่มมีการออกมาตรการ
ควบคุมแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี เช่น เฟซบุ๊ก เพราะสังคมเริ่มให้ความใส่ใจกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในยุคนี้จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาข้อมูลมากขึ้น
เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด
หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการควบคุมและแนวทางการบังคับใช้ข้อมูลของผู้บริโภคให้มีมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งธุรกิจและประเทศ
จากทุกเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด
ก็ถือเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม
นอกจากความท้าทายจะเกิดขึ้นในเชิงของธุรกิจแล้ว
มันก็ยังมาในรูปแบบปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างภาวะโลกร้อน
รวมไปถึงปัญหาทางสังคม เช่น ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน
ที่ล้วนแต่เป็นประเด็นที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
และเราต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้ ในระยะยาว..
#dtacResponsibleBusiness
Tag: dtac
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.