ยอดส่งออก หมากไทย กำลังสูงสุด เป็นประวัติการณ์

ยอดส่งออก หมากไทย กำลังสูงสุด เป็นประวัติการณ์

9 มิ.ย. 2021
ยอดส่งออก หมากไทย กำลังสูงสุด เป็นประวัติการณ์ / โดย ลงทุนแมน
คนไทยไม่ได้กินหมาก แต่ตัวเลข 216% คืออัตราการเติบโตของการส่งออก “หมาก” ของประเทศไทย
ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2564 เมื่อเทียบกับยอดการส่งออกในช่วงเดียวกันของปี 2563
ยอดส่งออกหมากเพียง 4 เดือนในปี 2564 คิดเป็นมูลค่าถึง 1,835 ล้านบาท
ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงระยะเวลา 4 เดือน
โดยจุดหมายปลายทางของการส่งออกหมากกว่า 91% อยู่ที่ “ประเทศเมียนมา”
เกิดอะไรขึ้นกับความต้องการหมากไทย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับไม้ผลชนิดนี้กันสักนิด..
หมาก เป็นไม้ยืนต้นที่จัดอยู่ในวงศ์ของปาล์ม มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมปลูกมากที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เมียนมา ไปจนถึงบังกลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา
ผลหมากมีสารจำพวกแอลคาลอยด์ ชื่อว่า สาร Arecoline ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มแรงดันเลือด ผู้ที่เคี้ยวหมากจึงรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า

คนไทยในอดีตนิยมเคี้ยวหมากกันมาก เพื่อเพิ่มความกระชุ่มกระชวยในการทำงาน
ในแต่ละคำของหมาก จะประกอบไปด้วย หมากสด หรือหมากแห้งชิ้นบาง ๆ ปูนแดง แล้วห่อด้วยใบพลู
ด้วยความคุ้นเคยมาเนิ่นนาน เราจึงพบว่าหมากได้แทรกซึมอยู่ในประเพณีและวัฒนธรรมไทยมากมาย ทั้งการแห่ขันหมาก การบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ
หรือแม้แต่ถ้อยคำสำนวนก็ยังพบคำว่าหมากปะปนอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้ง “ผลหมากรากไม้” ที่หมายถึงพืชพันธุ์ผลไม้และต้นไม้ต่าง ๆ หรือคำที่นิยามช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ว่า “ข้าวยากหมากแพง”..
การเคี้ยวหมากในสังคมไทย ถูกลดความสำคัญลงไปในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ในปี พ.ศ. 2485
รัฐบาลมีนโยบายรัฐนิยม ที่จะปรับปรุงประเทศให้มีอารยะตามแบบชาติตะวันตก จึงออกกฎระเบียบหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน หนึ่งในนั้นคือ การห้ามเคี้ยวหมาก และบ้วนหมากในที่สาธารณะ
โดยให้เหตุผลว่า การเคี้ยวหมากทำให้ปากและฟันดำคล้ำ ดูเลอะเทอะไม่น่ามองสำหรับชาวต่างชาติ และการบ้วนน้ำหมากก็สร้างความสกปรกเลอะเทอะแก่ถนนหนทาง
ถึงแม้รัฐบาลในยุคต่อ ๆ มาจะอนุญาตให้ประชาชนกลับไปเคี้ยวหมากได้
แต่ความนิยมในการเคี้ยวหมากของคนไทยก็ลดลงไปมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีการปลูกต้นหมากอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย
หมากจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด มีปริมาณฝนพอเหมาะ จึงนิยมปลูกมากในแถบภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และระนอง ซึ่งเป็น 3 จังหวัดที่มีการปลูกต้นหมากมากที่สุด
นอกจากนี้ยังพบการปลูกบ้างในเขตภาคกลาง เช่น นครปฐม ซึ่งเกษตรกรจะนิยมปลูกต้นหมาก ควบคู่ไปกับไม้ผลชนิดอื่น ๆ ไม่นิยมปลูกหมากเพียงอย่างเดียว
เพราะความต้องการบริโภคหมากของคนไทยลดน้อยลงมาก
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตหมากในไทยยังคงมีกลุ่มลูกค้าอยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ใช้หมากในงานพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น แห่ขันหมาก บายศรีสู่ขวัญ หรือบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
กลุ่มที่ 2 เป็นอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฟอกหนัง เนื่องจากผลหมาก มีส่วนผสมของสารแทนนิน ซึ่งมีคุณสมบัติในการกัดกร่อน นอกจากนี้ผลหมากเมื่อสุกแล้วจะให้สีแดง สามารถนำไปใช้สำหรับอุตสาหกรรมสีย้อมได้
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมา
ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตมากที่สุด เนื่องจากมีแรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานในประเทศกว่า 1.5 ล้านคน
ในขณะที่การส่งออกหมากแห้งไปยังเมียนมา ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี
สำหรับชาวเมียนมาแล้ว การกินหมากอยู่คู่กับสังคมมาเนิ่นนานไม่ต่างกับชาวไทย
ต่างกันที่ปัจจุบันก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่มาก ร้านขายหมากสามารถพบเห็นได้ตามหัวมุมถนนในเมืองน้อยใหญ่ทั่วประเทศ
การเตรียมหมากแบบเมียนมา เรียกว่า กุนหย่า (Kun-yar)
ในกุนหย่า 1 คำ นอกจากผลหมาก ปูนแดง และใบพลู
บางร้านจะมีการโรยด้วยใบยาสูบ เพิ่มรสชาติด้วยเครื่องเทศอย่างกระวานและกานพลู แล้วจึงม้วนเป็นคำ ๆ
โดยแต่ละร้านก็จะมีสูตรลับในการปรุงแตกต่างกันออกไป
ซึ่งการเคี้ยวหมากก็ช่วยเพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้กับชาวเมียนมา จนมีชาวเมียนมามากกว่า 10 ล้านคน ที่เคี้ยวหมากอยู่เป็นประจำ
แต่การเคี้ยวหมากก็นำผลเสียมาสู่สุขภาพ เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งในช่องปากได้
จากข้อมูลของ People’s Health Foundation ของเมียนมา ในแต่ละปีมีชาวเมียนมาเสียชีวิตจากมะเร็งในช่องปากจากการเคี้ยวหมากและใบยาสูบ มากกว่า 54,000 คน
รัฐบาลเมียนมาจึงออกนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเลิกเคี้ยวหมากอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2561 และบรรจุให้อยู่ในแผนนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ
รวมถึงการออกกฎหมายควบคุมการเคี้ยวหมากในที่สาธารณะ ผู้บ้วนน้ำหมากในที่สาธารณะในนครย่างกุ้งจะต้องถูกปรับเป็นเงินราว 30,000-50,000 จัต คิดเป็นเงินไทยราว 560-950 บาท
แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เคี้ยวหมากก็ไม่มีวี่แววว่าจะลดลง จากรายงานขององค์การอนามัยโลก
ผู้ชายชาวเมียนมาที่อายุมากกว่า 15 ปี เคี้ยวหมากถึง 51%
ส่วนผู้หญิงชาวเมียนมาก็เคี้ยวหมากอยู่ในอัตรา 16%
สำหรับพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกต้นหมากที่สำคัญของเมียนมา คือ เขตตะนาวศรี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมียนมา ติดกับภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบนของไทย
เขตนี้เป็นที่ตั้งของเมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี ไล่ลงมาจนถึงเกาะสอง ซึ่งหมากจากเขตตะนาวศรีได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหมากที่ดีที่สุดของเมียนมา
ถ้าในสถานการณ์ปกติ ผลหมากจากเขตตะนาวศรีจะถูกขนส่งไปทั่วเมียนมาเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
บางครั้งก็ต้องมีการนำเข้าหมากจากไทยเพิ่มเติม ซึ่งหมากที่นำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ก็จะเป็นหมากแห้ง ที่มาจากจังหวัดที่อยู่ติดกับเขตตะนาวศรี เช่น ชุมพรและระนอง
แต่นับตั้งแต่เมียนมามีการระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ในปี 2563 ลากยาวมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และถูกซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์รัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564
ความวุ่นวายจากทั้งโรคระบาดและการเมือง ส่งผลให้แรงงานประสบปัญหาทั้งการเก็บเกี่ยวหมากและการขนส่ง ในขณะที่ความต้องการยังคงเดิม
ท้ายที่สุดก็จำเป็นต้องนำเข้าหมากจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป ก็มีแนวโน้มว่า ปี 2564 จะเป็นปีที่ประเทศไทย มียอดการส่งออกหมากสูงสุดเป็นประวัติการณ์..
ถึงแม้จะเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกหมาก แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
หากผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจค้าหมาก ทั้งเกษตรกร พ่อค้า ไปจนถึงภาครัฐ ต้องการพัฒนา “หมาก” ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ จะต้องมีการเร่งศึกษา พัฒนา และวางแผนการตลาดอย่างจริงจัง
นอกจากนั้น การวางแผนขยายตลาดส่งออกก็เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะนอกจากเมียนมาที่ครองสัดส่วนตลาดส่งออกกว่า 91% แล้ว ยังมีตลาดอื่น ๆ ที่ผู้คนนิยมเคี้ยวหมากเช่นเดียวกัน เช่น บังกลาเทศ ที่ครองสัดส่วน 6%
และอินเดีย ที่ครองสัดส่วน 1%
โดยความเสี่ยงของตลาดส่งออกก็คือ นโยบายด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจเข้มงวดในเรื่องการเคี้ยวหมากของประชาชนมากยิ่งขึ้น เหมือนอย่างเช่นที่รัฐบาลไทยเคยห้ามเคี้ยวหมากในยุค จอมพล ป.
หรือที่รัฐบาลเมียนมาเริ่มสนับสนุนให้คนเลิกเคี้ยวหมาก
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะต่อยอดมูลค่าของหมากในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมฟอกหนัง ย้อมสี หรืออุตสาหกรรมยาสมุนไพร ทั้งของคนและสัตว์
หากมีการวิจัยและต่อยอด รวมถึงการควบคุมคุณภาพของผลผลิต
ประเมินความเสี่ยง และวางแผนการตลาดอย่างเป็นระบบ
ก็ไม่แน่ว่า “หมาก” ที่คนไทยเลิกเคี้ยวไปเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้ว
อาจกลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomRecode&ImExType=1&Lang=Th
-http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=3&Lang=Th&ImExType=1
-https://www.silpa-mag.com/culture/article_5228
-https://www.efe.com/efe/english/destacada/betel-chewing-remains-wildly-popular-in-myanmar-despite-health-concerns/50000261-4039496
-https://ebook.tsu.ac.th/store/book/research/full2018/1104/
-http://www.muangboranjournal.com/post/betel-nut-Tanintharyi
-https://dt.mahidol.ac.th/th/โรคมะเร็งในช่องปาก/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.