สรุป ความขัดแย้ง จีน กับ ออสเตรเลีย ในตอนนี้

สรุป ความขัดแย้ง จีน กับ ออสเตรเลีย ในตอนนี้

11 มิ.ย. 2021
สรุป ความขัดแย้ง จีน กับ ออสเตรเลีย ในตอนนี้ / โดย ลงทุนแมน
จีนกับออสเตรเลีย เป็น 2 ประเทศ ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน
ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่า ทั้ง 2 ประเทศ เริ่มทำการค้ากันมา ตั้งแต่ปี 1750 และพึ่งพาอาศัยกันเรื่อยมา
แต่ความขัดแย้งระหว่างจีนและออสเตรเลียครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2018
ดูเหมือนว่ากำลังสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศนี้อย่างหนัก
ต่างฝ่ายต่างออกมาตรการการตอบโต้ทางเศรษฐกิจกันไปมา
ซึ่งสร้างความเสียหายมากมายให้ทั้งคู่
ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ต้องบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียนั้น ที่ผ่านมาถือว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมานานไม่ต่ำกว่า 270 ปี
ในปี 2020 มูลค่าการส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลียเท่ากับ 7.9 ล้านล้านบาท โดยการส่งออกกว่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 43% ของการส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลียนั้น มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่จีน
โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของออสเตรเลียที่ส่งออกไปจีนก็คือ สินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่ออสเตรเลียอย่างมหาศาล
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงบอกได้ว่า เศรษฐกิจของออสเตรเลียนั้นพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมากพอสมควร ถ้าเศรษฐกิจจีนยังเติบโตได้ดีในอนาคต ออสเตรเลียก็น่าจะวางใจได้ในระดับหนึ่งว่า เศรษฐกิจประเทศตนเองก็น่าที่จะเติบโตไปได้ด้วยเช่นกัน
การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะแร่เหล็กและถ่านหิน ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียนั้นไม่เคยประสบกับภาวะถดถอยในช่วงตั้งแต่ปี 1991-2020 หรือเป็นระยะเวลากว่า 29 ปี
อย่างกรณีของแร่เหล็กนั้น จีนก็ต้องการนำเข้าแร่เหล็กที่มีคุณภาพสูงเพื่อมาใช้ในประเทศ ซึ่งมีไม่กี่แห่งในโลก หนึ่งในนั้นอยู่ที่ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมานาน ก็เริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2018 หลังจากที่ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา และเริ่มแสดงความกังวลที่มากขึ้นเกี่ยวกับอิทธิพลทางการเมืองของจีนในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม และเศรษฐกิจของออสเตรเลีย
ความกังวลดังกล่าว นำไปสู่การที่รัฐบาลออสเตรเลียสั่งห้ามบริษัทโทรคมนาคมของจีน ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์สำหรับการวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 5G เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศและความเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซงจากทางรัฐบาลจีน
รวมไปถึง การที่รัฐบาลออสเตรเลีย คัดค้านต่อจุดยืนของจีนที่เกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ หลังจากที่จีนได้อ้างกรรมสิทธิ์และต้องการแสดงความเป็นเจ้าของในทะเลจีนใต้
อีกประเด็นที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน จนทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศย่ำแย่ลงไปอีกขั้นก็คือ การที่รัฐบาลออสเตรเลียต้องการให้ผู้นำหลายประเทศช่วยกันค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นของจีน
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทางรัฐบาลออสเตรเลียยังถือเป็นหนึ่งในเสียงหลัก ที่ออกมาเรียกร้องให้ทางรัฐบาลจีน
ออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระบาดของเชื้อไวรัส
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลจีนก็ได้มีการตอบโต้รัฐบาลออสเตรเลียเพื่อเอาคืนกับสิ่งที่ออสเตรเลียนั้นทำเอาไว้ โดยการนำมาตรการทางการค้ามาใช้ เริ่มตั้งแต่
- มีการประกาศว่าจะไม่ให้นักเรียนและนักศึกษาจีนเดินทางไปศึกษาในออสเตรเลีย ซึ่งนักเรียนและนักศึกษาจากจีนนั้น ถือเป็นนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในออสเตรเลีย ด้วยจำนวนมากถึง 200,000 คน ในปี 2019
- ห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากบริษัทแปรรูปเนื้อวัวของออสเตรเลีย 4 แห่ง ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 35% ของการส่งออกเนื้อวัวทั้งหมดของออสเตรเลียมายังจีน
- เพิ่มภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์จากออสเตรเลียในอัตรา 80% เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้พฤติกรรมการทุ่มตลาด
รวมไปถึงสินค้าอีกหลายอย่าง เช่น ฝ้าย ถ่านหิน เนื้อแดง รวมไปถึงไวน์ ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีและการสั่งห้ามนำเข้ามายังจีน
ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศยังส่งผลให้การลงทุนของจีนที่เข้าไปยังออสเตรเลียในปี 2020 ลดลงเหลือเพียง 24,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการฟาดฟันในการกีดกันสินค้าต่าง ๆ จากออสเตรเลีย
แต่ก็มีสินค้าส่งออกอย่างหนึ่งในปี 2020 ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ของ 2 ประเทศ
สินค้านั้นก็คือ แร่เหล็ก (Iron Ore) ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบตั้งต้นที่สำคัญในการนำไปผลิตเหล็ก ที่ยังคงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2019
แน่นอนว่า เหล็กนั้นถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของจีน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ป้อนวัตถุดิบให้แก่หลากหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่ ก่อสร้าง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของประเทศ
ยิ่งการที่รัฐบาลจีนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จึงทำให้ในวันนี้ จีนยังมีความต้องการนำเข้าแร่เหล็กเพื่อมาผลิตเหล็กจากออสเตรเลียในจำนวนมาก
ทำให้ในปี 2020 การนำเข้าแร่เหล็กของจีนนั้นเพิ่มสูงถึง 1,170 ล้านเมตริกตัน ทำสถิติสูงสุดตลอดกาล
ซึ่งการนำเข้าแร่เหล็กทั้งหมดของจีนนั้น มาจากออสเตรเลียอยู่มากถึง 61% เลยทีเดียว
เมื่อรวมกับการที่รัฐบาลจีนจำกัดการส่งออกเหล็กเพื่อให้อุตสาหกรรมในจีนหลายแห่งนั้น มีปริมาณเหล็กที่สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอ
แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ที่ออสเตรเลียบางคนจะออกมาแนะนำให้รัฐบาลออสเตรเลียพยายามมองหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อมาทดแทนตลาดส่งออกอย่างจีนในอนาคต
แต่ดูเหมือนว่า นี่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับออสเตรเลียที่จะหาตลาดส่งออกที่สามารถรองรับมูลค่าการส่งออกมหาศาลได้เท่ากับจีนในอนาคตอันใกล้

เรื่องนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและออสเตรเลีย สุดท้ายแล้วจะออกมาในรูปแบบไหน แต่เชื่อว่า คงไม่มีฝ่ายไหนอยากให้ประเด็นดังกล่าวมาเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 564 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของมูลค่า GDP ทั้งโลกเลยทีเดียว
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า ในออสเตรเลียนั้น มีชุมชนคนจีนในต่างแดน หรือที่เรารู้จักกันว่า “Chinatown” ตั้งอยู่ที่เมืองเมลเบิร์นซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศออสเตรเลียรองจากซิดนีย์
โดย Chinatown ที่เมืองเมลเบิร์นเกิดขึ้นในช่วงยุคตื่นทองของออสเตรเลียในปี 1851 หรือเมื่อ 170 ปีที่แล้ว จึงทำให้ Chinatown แห่งนี้ถือเป็นแหล่งชุมชนคนจีนในต่างแดนที่มีอายุยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดา Chinatown ของโลกเลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.worldstopexports.com/australias-top-10-exports/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Coal_in_China
-https://www.worldstopexports.com/coal-imports-by-country/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Australia%E2%80%93China_relations
-https://www.abc.net.au/news/2020-06-03/australian-economy-gdp-recession-march-quarter-2020/12315140
-https://www.bbc.com/thai/international-53420336
-https://www.cnbc.com/2020/12/18/australia-china-trade-disputes-in-2020.html
-://www.steelorbis.com/steel-news/latest-news/chinas-iron-ore-output-increases-by-216-percent-in-q1-1196556.htm
-https://www.hellenicshippingnews.com/chinese-iron-ore-imports-hit-record-in-2020/
-https://www.reuters.com/world/china/china-bought-most-iron-ore-australia-brazil-2020-imports-india-up-nearly-90-2021-01-20/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Chinatown,_Melbourne
-https://www.statista.com/statistics/430276/number-of-chinese-students-in-australia-by-education-sector/
-https://internationaleducation.gov.au/research/datavisualisations/Pages/Student-number.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.