วิกฤติประชากรจีน ทำให้เกิด นโยบาย "คลายกำเนิด"

วิกฤติประชากรจีน ทำให้เกิด นโยบาย "คลายกำเนิด"

12 มิ.ย. 2021
วิกฤติประชากรจีน ทำให้เกิด นโยบาย "คลายกำเนิด" /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า ในโลกเรานั้น ประชากรทุก ๆ 100 คน จะเป็นชาวจีน 18 คน
จึงทำให้จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
จนทำให้ครั้งหนึ่งรัฐบาลจีนเคยอนุญาตให้ชาวจีนส่วนใหญ่ มีลูกได้เพียงคนเดียว
แต่แล้วในปี 2016 รัฐบาลจีนก็จำเป็นต้องใช้นโยบาย “คลายกำเนิด”
เพื่อรณรงค์ให้ชาวจีนกลับมามีลูกกันอีกครั้ง
เพราะประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรเกิดใหม่ที่ลดลง
แล้วที่ผ่านมานโยบายนี้ได้ผลหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,440 ล้านคน สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งถ้าถามว่า อะไรคือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรจีนมีจำนวนสูงขนาดนี้ ก็อาจจะเป็นเพราะหลายปัจจัย ด้วยเหตุผลที่ประเทศจีนมีดินแดนกว้างใหญ่ มีพื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงนโยบายในบางช่วงของประเทศ
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1960s
ในสมัยนั้น เหมา เจ๋อตง อดีตประธานาธิบดี และผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน ได้สนับสนุนให้ชาวจีนมีลูกมาก ๆ เพราะเขาเชื่อว่า ประเทศไหนที่มีประชากรมาก จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จำนวนประชากรของจีนจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 667 ล้านคน ในปี 1960
กลายเป็น 818 ล้านคน ในปี 1970 หรือเพิ่มขึ้น 151 ล้านคน ในระยะเวลาแค่ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของประชากรจีน เริ่มนำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับปัญหาวิกฤติประชากรล้น จนอาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ต่อไปในวันข้างหน้า นั่นก็คือ การขาดแคลนและแย่งชิงทรัพยากร
ขณะเดียวกันหนังสือที่มีชื่อว่า “The Limits to Growth” ที่ออกมาในปี 1972 ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากในสมัยนั้น ได้ตอกย้ำปัญหาเรื่องวิกฤติประชากรล้น
ใจความสำคัญในหนังสือนั้นสรุปได้ว่า “ด้วยทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่บนโลกจะไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรได้ จนอาจทำให้ประชากรโลกประสบกับภาวะความอดอยากอย่างน่ากลัว”..
และสำหรับชาวจีนนั้น บาดแผลและฝันร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศ อันเกิดจากภาวะอดอยากครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน หรือ “Great Chinese Famine” ในช่วงปี 1959-1961 ยังคงไม่จางหายไป เพราะเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต้องอดอยากถึงขนาดมีการประเมินกันว่า จำนวนชาวจีนที่ต้องอดตายอาจสูงถึง 55 ล้านคน
รัฐบาลจีนในขณะนั้นที่นำโดยเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำที่มีชื่อเสียงโด่งดังของประเทศ จำเป็นต้องออกนโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ที่เริ่มถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1978
แม้ว่านโยบายดังกล่าวมีการผ่อนปรนให้แก่ชาวจีนได้ในบางกรณี เช่น ถ้าพ่อเป็นคนพิการ หรือลูกคนแรกเป็นผู้หญิง ครอบครัวนั้นก็สามารถมีลูก 2 คนได้
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่มากเกินไป ยังถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ จึงทำให้มีการบังคับใช้นโยบายนี้อย่างจริงจังและเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น
- มาตรการคุมกำเนิด ทั้งให้มีการทำแท้ง และการบังคับให้ทำหมัน
- พ่อและแม่คนไหนที่มีลูกมากกว่า 1 คน จะถูกไล่ออกจากงาน ตัดสวัสดิการต่าง ๆ ที่ควรได้
- ปรับเงินกับครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน
- รวมไปถึงการให้เงินรางวัลแก่ครอบครัวที่มีลูกคนเดียว
ผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าว ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีนค่อย ๆ ลดลง
ปี 1980-2000 จำนวนเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยปีละ 21.2 ล้านคน
ปี 2001-2020 จำนวนเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยปีละ 16.0 ล้านคน
ถึงแม้จะได้ผลเป็นอย่างดีในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อผ่านไป นโยบายนี้กลับเริ่มเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้น..
เนื่องจากสังคมจีนไม่เพียงแต่เริ่มมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่จำนวนแรงงานในวัยทำงานก็เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ ทำให้สังคมจีนจะกลายเป็นสังคมที่แก่ก่อนรวย
ทั้งยังมีการประเมินกันว่า ภายในปี 2050 สัดส่วนประชากรที่มีอายุเกิน 65 ปี จะเท่ากับ 39% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของจีน
ยังไม่รวมถึง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ที่จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของจีนเอง และอาจกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่อาจทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด
ในโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกา ในอนาคตอันใกล้
ในที่สุด ปี 2016 รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จึงได้ตัดสินใจยกเลิกนโยบายดังกล่าว โดยอนุญาตให้ชาวจีนสามารถมีลูกได้ 2 คน ด้วยความหวังที่จะให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามาดูจำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีน ในช่วง 4 ปีย้อนหลัง จะพบว่า
ตัวเลขดังกล่าวยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การยกเลิกนโยบายนี้
ปี 2017 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีน 17.2 ล้านคน
ปี 2018 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีน 15.2 ล้านคน
ปี 2019 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีน 14.7 ล้านคน
ปี 2020 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีน 10.0 ล้านคน
ทำให้ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2021 รัฐบาลจีนอนุญาตให้ชาวจีนมีลูกได้ 3 คน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้
การลดลงของจำนวนเด็กเกิดใหม่ทำให้ในวันนี้ จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่รวดเร็ว
และรุนแรงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ถึงขนาดทำให้ทางการของจีนนั้นบอกว่า
“The biggest crisis the Chinese nation is facing” หรือวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดที่จีนกำลังเผชิญอยู่
และเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวอาจไม่ใช่ทางออกที่ใช่สำหรับความท้าทายที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้
แล้วทำไมชาวจีนถึงมีลูกน้อยลง แม้นโยบายลูกคนเดียวจะถูกยกเลิกไปแล้ว ?
ที่เป็นแบบนี้ เนื่องจากชาวจีนมองว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกนั้นสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับอดีต หรือพูดอีกอย่างก็คือ การมีลูกจะทำให้พ่อแม่ยุคใหม่มีภาระทางการเงินมากขึ้น
อีกประเด็นก็คือ การเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ของจีนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ตั้งแต่ปี 2008 เมื่อรัฐบาลจีนได้อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์ของจีนระบุว่า คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ สังคมจีนต้องการที่จะมีลูกน้อยลง เพราะชาวจีนรุ่นใหม่ ๆ มองว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงจะเป็นอุปสรรคในการสร้างครอบครัว เมื่อตัวเองต้องมีลูก
ดังนั้น พวกเขาจึงนิยมเลือกที่จะเช่าอะพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมแล้วอยู่ตามลำพังดีกว่า
ดูเหมือนว่านโยบาย “คลายกำเนิด” ของจีนที่ถูกนำมาใช้เพื่อมาช่วยเพิ่มจำนวนประชากร อันจะเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนให้สามารถเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง ยังไม่ใช่คำตอบที่ใช่เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีนที่ยังลดลง อย่างน้อยก็ในตอนนี้..
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า แนวทางในการแก้ปัญหานี้ของจีน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการเปิดรับแรงงานต่างชาติ การใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน รวมไปถึงพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันมากขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน ?
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คาดว่า จำนวนประชากรของจีนจะมีจำนวนสูงสุดในปี 2029 ที่ 1,464 ล้านคน และจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น และเหลือเพียง 1,295 ล้านคน ในปี 2065
เท่ากับว่าจำนวนชาวจีนจะลดลงเกือบ 170 ล้านคนในระยะเวลา 36 ปี..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.worldometers.info/world-population/china-population/
-https://www.statista.com/statistics/250650/number-of-births-in-china/
-https://www.reuters.com/world/china/chinas-births-may-fall-below-10-million-annually-next-five-years-expert-quoted-2021-04-19/
-https://en.wikipedia.org/wiki/One-child_policy
-https://en.wikipedia.org/wiki/The_Limits_to_Growth
-https://en.wikipedia.org/wiki/Great_Chinese_Famine
-https://en.wikipedia.org/wiki/Aging_of_China
-https://www.the101.world/chinese-new-gen-no-child/?fbclid=IwAR3gPDegG9HuMMmGap2G2cyzFSmchQV9tMXUU7Rdo8HZEM1NJHQELZQG8lI
-http://www.realinstitutoelcano.org/wps/portal/rielcano_en/contenido?WCM_GLOBAL_CONTEXT=/elcano/elcano_in/zonas_in/cooperation+developpment/ari62-2009
-https://www.populationpyramid.net/china/2019/
-https://www.reuters.com/world/china/china-says-each-couple-can-have-three-children-change-policy-2021-05-31/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.